เครื่องจักสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า

24 เมษายน 2556 ภูมิปัญญา 0

เครื่องจักสาน เป็นงานหัตกรรมที่หล่อหลอมขึ้นจากจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คำว่า เครื่องจักสาน แยกความหมายคำได้คือ จัก หมายถึงการนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือริ้ว ส่วนคำว่า สาน หมายถึง การนำเอาวัสดุที่เตรียมแล้วมาสานประดิษฐ์ให้เป็นรูปร่างและลวดลายต่างๆ ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งคือ การถัก ซึ่งเป็นกระบวนการประกอบทำให้เครื่องจักสานสมบูรณ์เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอกวัสดุที่นำมาใช้สานได้แก่ ไม้ไผ่ หวาย กก ป่าน กระจูด ลาน ลำเจียก เตย และย่านลิเภา เป็นต้น

ประเภทเครื่องจักสาน
ความคิดพื้นฐานในการสร้างเครื่องจักสานเกิดจากความต้องการในการดำเนินชีวิตเป็นหลัก เครื่องจักสานยุคแรกจึงมีรูปแบบและวิธีการง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน เครื่องจักสานในประเทศไทย เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานเป็นโครงสร้างเครื่องจักรสานบนภาชนดินเผาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อายุราว 3,000 ปี และในสมัยสุโขทัยได้มีตำนานเล่าถึงพระร่วงแสดงปาฏิหารใช้กระออม (เครื่องจักสานไม่ไผ่ชนิดหนึ่งใช้ตักน้ำ) อีกด้วย
เครื่องจักสานโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ดังนี้คือ

  1. เครื่องมือในการเกษตรกรรม เช่น วี (กาวี) กระบุง เป็นต้น
  2. เครื่องมือในครัวเรือน เช่น กระชอนกรองกะทิ พ้อม (กะพ้อม) กระติ๊บ เป็นต้น
  3. เครื่องมือจับสัตว์ เช่น ลอบ ไซ ข้อง ชนาง สุ่ม เป็นต้น
  4. เครื่องมือในพิธีกรรม เช่น ขันกระหย่อง ตาเหลว เป็นต้น
  5. เครื่องมือเบ็ดเตร็ด เช่น กระด้ง เป็นต้น

การทำเครื่องจักสานยุคแรก ๆ มนุษย์จะนำวัตถุดิบจากธรรมชาติเท่าที่จะหาได้ใกล้ตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำใบไม้ กิ่งไม้ ต้นไม้ประเภทเถานำมาสานมาขัดเป็นรูปทรงง่ายๆ เพื่อใช้เป็นภาชนะหรือมาสานขัดกันเป็นแผ่นเพื่อใช้สำหรับปูรองนั่ง รองนอน ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเครื่องจักสานที่มีความประณีตในยุคต่อๆ มา เครื่องจักสานเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มนุษย์คิดวิธีการต่างๆ ขึ้นเพื่อใช้สร้างเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันด้วยวิธีการสอดขัดและสานกันของวัสดุ
ที่เป็นเส้นเป็นริ้ว โดยสร้างรูปทรงของสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นตามความประสงค์ในการใช้สอยตามสภาพภูมิศาสตร์ ประสานกับขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อศาสนาและวัสดุในท้องถิ่นนั้นๆ

jagsankra

การเรียกเครื่องจักสานว่า จักสาน นั้น เป็นคำที่เรียกขึ้นตามวิธีการที่ทำให้เกิดเครื่องจักสาน เพราะเครื่องจักสานต่างๆ จะสำเร็จเป็นรูปร่างที่สมบูรณ์ได้นั้นต้องผ่านกระบวนการ ดังนี้

  1. การจัก คือการนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือเป็นริ้วเพื่อความสะดวกในการสาน ลักษณะของการจักโดยทั่วไปนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุแต่ละชนิดซึ่งจะมีวิธีการเฉพาะที่แตกต่างกันไป หรือบางครั้งการจักไม้ไผ่หรือหวายมักจะเรียกว่า ตอก ซึ่งการจักถือได้ว่าเป็นขั้นตอนของการเตรียมวัสดุในการทำเครื่องจักสานขั้นแรก
  2. การสาน เป็นกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่นำวัสดุธรรมชาติมาทำประโยชน์โดยใช้ความคิดและฝีมือมนุษย์เป็นหลัก การสานลวดลายจะสานลายใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้สอย ซึ่งมีด้วยกัน 3 วิธี คือ
    • การสานด้วยวิธีสอดขัด
    • การสานด้วยวิธีการสอดขัดด้วยเส้นทแยง
    • การสานด้วยวิธีขดเป็นวง
  3. การถัก เป็นกระบวนการประกอบที่ช่วยให้การทำครื่องจักสานสมบูรณ์ การถักเครื่องจักสาน เช่น การถักขอบของภาชนะจักสานไม้ไผ่ การถักหูภาชนะ เป็นต้น การถักส่วนมากจะเป็นการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก เช่น ขอบ ขา ปาก ก้น ของเครื่องจักสาน และเป็นการเพิ่มความสวยงามไปด้วย

มูลเหตุที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่สำคัญ 3 ประการดังนี้

  1. มูลเหตุจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตในชนบทจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่สามารถผลิตได้เองมาช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ตามหน้าที่ใช้สอยดังนี้
    • เครื่องจักสานที่ใช้ในการบริโภค ได้แก่ ซ้าหวด กระติ๊บ แอบข้าว หวดนึ่งข้าวเหนียว ก่องข้าว กระชอน กระด้ง ฯลฯ
    • เครื่องจักสานที่ใช้เป็นภาชนะ ได้แก่ กระบุง กระจาด ซ้ากระทาย กระบาย กะโล่ กระด้ง ชะลอม ฯลฯ
    • เครื่องจักสานที่ใช้เป็นเครื่องตวง ได้แก่ กระออม กระชุ กระบุง สัด ฯลฯ
    • เครื่องจักสานที่ใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องปูลาด ได้แก่ เสื่อต่าง ๆ
    • เครื่องจักสานที่ใช้ป้องกันแดดฝน ได้แก่ หมวก กุ๊บ งอบ ฯลฯ
    • เครื่องจักสานที่ใช้ในการดักจับสัตว์ ได้แก่ ลอบ ไซ อีจู้ ชะนาง จั่น ฯลฯ
    • เครื่องจักสานที่ใช้เกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณีและศาสนา ได้แก่ ก่องข้าวขวัญ ซ้าสำหรับใส่พาน สลาก ฯลฯ
  2. มูลเหตุที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ เพราะชาวไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องทำมาหากินกันตามสภาพสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นการทำเครือ่งจักสานที่เห็นได้ชัด คือ เครื่องมือเครื่องใช้ในการจับปลาและสัตว์น้ำจืด ได้แก่ ลอบ ไซ ชะนาง โดยทำด้วยไม้ไผ่และหวาย ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างจะสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับการใช้สอย และครุ ใช้สำหรับตีข้าวของทางภาคเหนือ เป็นต้น
  3. มูลเหตุที่เกิดจากความเชื่อ ขบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา เครื่องจักสานจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากผลของความเชื่อของท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้จากการสานเสื่อปาหนันเพื่อใช้ในการแต่งงานของภาคใต้ เป็นต้นนอกจากข้อมูลอันสำคัญทั้ง 3 ประการแล้ว ปัจจุบันพบว่าในหลายท้องถิ่น เครื่องจักสานได้กลายมาเป็นอาชีพรองจากการทำไร่ ทำนา เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้พิเศษในช่วงต่อไป

วัสดุที่ใช้ทำเครื่องจักสาน

  1. ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ใช้ทำเครื่องจักสานมากมายหลายชนิด มีลักษณะเป็นไม้ปล้อง เป็นข้อ มีหนาม และแขนงมาก เมื่อแก่จะมีสีเหลือง โดยจะนำส่วนลำต้นมาใช้จักเป็นตอกสำหรับสานเป็นภาชนะต่างๆ
  2. กก เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นในที่ชื้นและมีขึ้นทั่วไป เช่น ในนา ริมหนอง บึง และที่น้ำท่วมแฉะ ลำต้นกลมหรือสามเหลี่ยม มีทั้งชนิดลำต้นใหญ่ยาว และลำต้นเล็กและสั้น ส่วนมากนำมาทอเสื่อมากกว่านำมาสานโดยตรง
  3. แหย่ง มีลักษณะคล้ายไม้ไผ่แต่อ่อนนุ่มกว่า ไม่มีข้อ แข็งกว่าหวายใช้ได้ทนกว่ากก ชอบขึ้นตามที่แฉะ มีผิวเหลืองสวย ใช้สานเสื่อ ทำฝาบ้าน เป็นต้น
  4. หวาย จะขึ้นในป่าเป็นกอๆ ส่วนมากจะใช้ประกอบเครื่องจักสานอื่นๆ แต่ก็มีการนำหวายมาทำเครื่องจักสานโดยตรงหลายอย่าง เช่น ตะกร้าหิ้ว ถาดผลไม้ เป็นต้น
  5. ใบตาลและใบลาน ลำต้นสูงคล้ายมะพร้าว ใบเป็นแผงใหญ่คล้ายพัด จะนำมาทำเครื่องจักสานโดยจักในออกเป็นเส้นคล้ายเส้นตอก แต่ต้องใช้ใบอ่อน ส่วนใหญ่จะใช้สานหมวกและงอบ
  6. ก้านมะพร้าว ใช้ก้านกลางใบของมะพร้าว เหลาใบออกให้เหลือแต่ก้าน แล้วนำมาสานเช่นเดียวกับตอก ส่วนมากสานเป็นตะกร้า กระจาดผลไม้เล็กๆ
  7. ย่านลิเภา มีลักษณะเป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง มีขนาดเท่าหลอดกาแฟ ขึ้นตามภูเขา เทือกเขา และป่าละเมาะ ในการใช้ต้องนำลำต้นมาลอกเอาแต่เปลือกแล้วจักเป็นเส้นๆ ย่านลิเภาส่วนใหญ่จะนำมาสานเป็นลาย เชี่ยนหมาก พาน เป็นต้น
  8. กระจูด เป็นพันธุ์ไม้ตระกูลเดียวกับกก ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ลักษณะลำต้นเป็นต้นกลมๆ ขนาดนิ้วก้อย ก่อนนำมาสานจะต้องนำลำต้นมาผึ่งแดดแล้วทุบให้แบนคล้ายเส้นตอกก่อน แล้วจึงสาน
  9. เตยทะเล เป็นต้นไม้จำพวกหนึ่งใบยาวคล้ายใบสับปะรดหรือใบลำเจียก ขึ้นตามชายทะเล ใบมีหนาม ก่อนนำมาสานต้องจักเอาหนามริมใบออกแล้วย่างไฟ แช่น้ำ แล้วจึงจักเป็นเส้นตอก
  10. ลำเจียก หรือปาหนัน เป็นต้นไม้จำพวกเดียวกับเตย
  11. คล้า เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นข่า หรือกก มีผิวเหนียว ใช้สานภาชนะเช่นเดียวกับหวายและไม้ไผ่

หมายเหตุ ย่านลิเภา คล้า กระจูด เตย ลำเจียก เป็นวัสดุพื้นบ้านที่มีเฉพาะภาคใต้

jagsanhuad

เครื่องจักสานในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย
ลักษณะของเครื่องจักสานแต่ละประเภทนั้น มักจะทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยของประชาชนแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงมีความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอย รูปร่าง ลวดลาย และวัสดุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้เครื่องจักสานพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ภาคเหนือ
เครื่องจักสานภาคเหนือ จะมีเอกลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมและศาสนา เช่นวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียว เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการบริโภคข้าวเหนียวมีหลายรูปแบบ เช่น

  • แอบข้าว (แอ้บข้าว) ภาชนะทรงกระบอกสำหรับใส่ข้าวเหนียว
  • กระทาย ภาชนะใส่พืชผล มีเชือกผูกร้อยกับภาชะ และโยงมาคาดที่หน้าผาก เป็นต้น

ภาคอีสาน
คนในภาคอีสานมีวัฒนธรรมในการบริโภคข้าวเหนียวเช่นเดียวกับคนในภาคเหนือ แต่เครื่องจักสานของชาวอีสานจะมีลักษณ์เฉพาะ เช่น

  • กระติ๊บข้าว เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ทรงกระบอกสูงคล้านกระป๋อง ตัวและฝามี ขนาดเกือบเท่ากัน มีเชือกห้อยสำหรับสะพาย
  • ก่องข้าว ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ มีขาหรือฐานไม้เป็นรูปกากบาทไขว้ ตัวก่องข้าวสานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน 2 ชั้น คล้ายรูปดอกบัวแต่มีขอบสูงขึ้นไปเหมือนโถ โดยมีส่วนฝาเหมือนฝาชีครอบอีกชั้นหนึ่งสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง
  • กระออม ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ใช้ตักน้ำหรือหิ้ว หรือหาบคอน

ภาคกลาง
ในบริเวณภาคกลางถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานของประเทศ มีพัฒนาการและมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น

  • ตระกร้า ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่และหวาย ใช้สำหรับใส่ข้าวของต่างๆ ถือเป็นเครื่องจักสานที่มีความงดงามที่สุดในกลุ่มเครื่องจักสานของภาคกลาง
  • งอบ เครื่องจักสานสวมศีรษะขณะออกทำงานกลางทุ่งตามท้องไร่ ท้องนา ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท เช่น ไม้ไผ่ ใบลาน หรือใบตาล
  • กระจาด ภาชนะกลม เตี้ย สานด้วยไม้ไผ่ มีขอบและมีหูสำหรับใช้หาบเป็นคู่ๆ ใส่ผักหรือผลไม้

ภาคใต้
ภาคใต้มีรูปแบบเครื่องจักสานต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ ในด้านรูปแบบ ลวดลาย และวัสดุที่ใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุดิบในท้องถิ่น

  • สมุก ภาชนะสานด้วยใบลาน หรือใบตาล ใช้สำหรับใส่สิ่งของขนาดเล็ก
  • สอบหมาก ภาชนะสานด้วยกระจูด ใช้สำหรับใส่หมาก
  • เสื่อกระจูด เสื่อทำจากต้นกระจูดใช้สำหรับปูนอน หรือใช้รองนั่งที่วัดหรือสุเหร่า
  • เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นเครื่องจักสานพื้นบ้านโบราณ ใช้ย่านลิเภามาจักสานโดยลอกเอาเฉพาะเปลือกมาทำเท่านั้น สามารถทำเครื่องใช้ได้หลายอย่าง เช่น กระเป๋าถือสตรี กุบหมาก เป็นต้น

คุณค่าของเครื่องจักสาน
จะเห็นว่าเครื่องจักสานไทยในภาคต่างๆ นั้นมีมากมายหลายชนิดและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่แตกต่างกันไป ลักษณะเฉพาะถิ่นของเครื่องจักสานเหล่านั้น สะท้อนให้เห็นสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น สภาพการดำรงชีวิต ขนบประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนถึงการนับถือศาสนาของกลุ่มชนที่ผลิตเครื่องจักสานเครื่องจักสานจึงเป็นศิลปหัตถกรรมมีคุณค่าในฐานะที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ได้ดีอย่างหนึ่ง

jagsanpla

นอกจากนี้ เครื่องจักสานยังเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง เช่น สะท้อนให้เห็นความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ทำเครื่องจักสานซึ่งชาวบ้านจะมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นอย่างดี แล้วนำมาดัดแปลงแปรรูปเป็นวัสดุที่ใช้ทำเครื่องจักสานด้วยวิธีง่ายๆ แต่สนองการใช้สอยได้ดี เช่นชาวภาคใต้นำใบลำเจียกหรือใบปาหนันมาจักและสานเป็นเสื่อและกระสอบ โดยนำใบลำเจียกไปลนไฟให้ใบนิ่มก่อนที่จะจักเป็นเส้น หรือนำต้นลำเจียกไปแช่โคลนแล้วรีดให้แบน หรือการจักไม้ไผ่เป็นตอกแบบต่างๆ ให้เหมาะสมที่จะใช้สานเครื่องจักสานแต่ละชนิด สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียนรู้จากการสังเกตและการทดลองสืบต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ จนทำให้เครื่องจักสานแต่ละชนิดมีรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยที่สมบูรณ์ลงตัว

คุณค่าอีกประการหนึ่งของเครื่องจักสานคือคุณค่าทางศิลปะและความงาม เครื่องจักสานหลายชนิดมีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่ลงตัวงดงามอย่างยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นเทียบได้ เช่น ก่องข้าวของภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของเครื่องจักสานที่ได้รับการออกแบบอย่างแยบยล สนองการใช้สอยได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การสานตัวก่องข้าวสองชั้นเพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี โดยไอร้อนจากข้าวเหนียวนึ่งจะระเหยออกไปได้ตามรูระหว่างเส้นตอกอย่างช้าๆ ไม่กลายเป็นหยดน้ำที่จะทำให้ข้าวเหนียวแฉะและบูดเสียได้ง่ายก่อง ข้าวจึงเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นผลจากการออกแบบที่แยบยลของช่างพื้นบ้านที่ได้ทดลอง ปรับปรุง สืบทอดกันเรื่อยมาเป็นเวลานานนอกจากนี้รูปทรงของก่องข้าวแต่ละท้องถิ่นยังมีความงดงามแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละถิ่นด้วย

คุณค่าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเครื่องจักสานไทย คือ คุณค่าในการแสดงออกทางอารมณ์และจิตใจของช่างพื้นบ้าน เครื่องจักสานหลายชนิดของไทยสานอย่างละเอียดประณีต ซึ่งแสดงให้เห็นอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนของผู้สานได้เป็นอย่างดี และความละเอียดประณีตนั้น เริ่มตั้งแต่การแปรรูปวัตถุดิบ เช่น การจักตอก และเหลาหวายให้เป็นเส้นเล็กๆ เพื่อใช้สานและถักส่วนที่ต้องการความละเอียดประณีตของเครื่องจักสานจนถึงการสานเป็นลวดลายซับซ้อนอย่างลายดอกพิกุล หรือลายสานของเครื่องจักสานย่านลิเภาเป็นต้น

jagsantakra

เครื่องจักสานไทย เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทย ที่ทำสืบทอดกันมาแต่โบราณ แม้ทุกวันนี้จะมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้หลายชนิดที่ไม่สามารถผลิตด้วยวัตถุดิบอื่นๆ ที่ผลิตด้วยเครื่องจักรตามระบบอุตสาหกรรมมาใช้แทนเครื่องจักสานได้ เช่นเครื่องจักสานประเภทก่องข้าวที่กล่าวแล้ว ไม่มีภาชนะอื่นใดใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบที่สานด้วยไม้ไผ่ ไม่มีเครื่องจับปลาที่ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นมาแทนที่ ลอบ ไซ สุ่ม ที่สานด้วยไม้ไผ่ได้ สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นคุณลักษณะพิเศษของเครื่องจักสานที่มีคุณค่าในตัวเอง ยากที่จะใช้งานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมอย่างอื่นทดแทนได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เครื่องจักสานมีอายุยืนยาวสืบต่อกันมานานนับพันปี แม้ในปัจจุบันการทำเครื่องจักสานจะลดจำนวนลงไปบ้าง ตามสภาพสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมเกษตรอุตสาหกรรม และก้าวต่อไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่การผลิตสิ่งต่างๆ ด้วยมือจะต้องลดลงเปลี่ยนมาเป็นการผลิตด้วยเครื่องจักรกลก็ตาม แต่เครื่องจักสานยังเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ยังไม่สามารถผลิตได้ด้วยเครื่องจักรกล เพราะการทำเครื่องจักสานต้องใช้ความชำนาญและความสามารถเฉพาะตัวของช่างพื้นบ้านแต่ละถิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าพิเศษของเครื่องจักสานที่ต่างไปจากผลิตภัณฑ์อื่นที่ผลิตด้วยเครื่องจักร เครื่องจักสานจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้สืบไป

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น