เจตมูลเพลิงแดง เป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน จึงจัดเป็นสมุนไพรประจำธาตุไฟ ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งเป็นตำรายามาตรฐานของการแพทย์แผนไทย ที่เรียกว่า เบญจกูล ประกอบด้วยพืช 5 ชนิด ได้แก่ ผลดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน เหง้าขิงแห้ง และสุดท้ายที่สำคัญใช้สำหรับปรับสมดุลร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งก่อนจะทำการรักษา นั่นคือ รากเจตมูลเพลิงแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica L.
ชื่อพ้อง Plumbago rosea L.
ชื่อวงศ์ Plumbaginaceae
ชื่ออื่นๆ ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ), ปิดปีแดง(เลย), ไฟใต้ดิน(ใต้), คุ้ยวู่(กระเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตั้งชู้โว้(กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และอุบะกูจ๊ะ (มลายู-ปัตตานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงราว 1-1.5 เมตร มีอายุหลายปี กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนสีแดง ลำต้นกลมเรียบ กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดง มีสีแดงบริเวณข้อ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่ กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน มีสีเขียว ใบบาง แผ่นใบมักบิด ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 10-15 ดอก ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกสีแดงสด กลีบบางมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายกลีบกลม เป็นติ่งหนามตอนปลาย ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาดมีขนยาวที่โคน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก เป็นหลอดเล็ก ยาว 0.5-1 เซนติเมตร สีเขียว และมีขนเหนียวๆปกคลุม เมื่อจับรู้สึกเหนียวมือ ผลลักษณะเป็นฝักกลม ทรงรียาว เป็นผลแห้งเมื่อแก่แตกตามร่องได้ พบตามป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าดิบแล้ง ยางจากรากเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้ พอง เหมือนโดนไฟจึงได้ชื่อว่า เจตมูลเพลิง
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก เข้ายากับพริกไทย ดองเหล้าดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ ราก ช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้ตกขาว
ตำรายาไทย ใช้ ราก มีรสร้อน เป็นยาบำรุงไฟธาตุ บำรุงโลหิต ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้ผายเรอ ขับพยาธิ แก้ปวดข้อ ขับประจำเดือนสตรี ใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด แน่นหน้าอก ทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น แต่กินมากอาจทำให้แท้งลูกได้ (ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์) แพทย์โบราณนิยมใช้รากเจตมูลเพลิงแดงมากกว่าเจตมูลขาวเพราะมีฤทธิ์แรงกว่า โดยใช้รากเจตมูลเพลิงผสมในยาธาตุ เป็นยาช่วยย่อยและยาเจริญอาหารโดยนำผงของรากมาผสมกับลูกสมอพิเภก ผลดีปลี และเกลือ อย่างละเท่ากันรับประทานครั้งละ 2.5 กรัม ขับโลหิตระดู นำรากบดเป็นผงปิดพอกฝี ทำให้เกิดความร้อน เกลื่อนฝีได้ แก้ริดสีดวงทวาร ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กระจายเลือดลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย มีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แท้งได้ ใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนังบางชนิด ทาแก้กลากเกลื้อน หรือใช้ผงรากปิดพอกฝี ระงับอาการปวดฟัน และแก้ท้องร่วง รากมีสาร plumbagin มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและลำไส้ช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร แต่อาจทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และอาจเป็นพิษได้ ใบ รสร้อน แก้ลมในกองเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม แก้น้ำดีในฝัก ต้น รสร้อน แก้โลหิตอันเกิดแต่กองกำเดา ดอก มีรสร้อน แก้น้ำดีในฝัก
ตำรายาล้านนา ใช้ ราก รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ
ในประเทศฝรั่งเศส ใช้ ราก เคี้ยวระงับอาการปวดฟัน
ส่วนในไทยและมาเลเซีย ถือเป็นยาทำให้แท้ง
ในไทยและอินเดีย ใช้เป็นยาช่วยย่อยเจริญอาหารผสมในยาธาตุ และรักษาโรคผิวหนังกลาก เกลื้อน
ยางจากรากเจตมูลเพลิงแดงเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้พอง เหมือนโดนเพลิงไฟ คนภาคใต้จึงเรียกชื่อว่าไฟใต้ดิน ความร้อนของเจตมูลเพลิงแดงแรงขนาดที่ว่าถ้าทำไปปลูกใกล้ต้นหอม ผักชี ผักเหล่านั้นจะตายหมด เป็นไม้พุ่มสูงราว 1 เมตร ยอดอ่อนสีแดง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งสีแดงสด
รากเจตมูลเพลิงแดงจะได้ผลดีเมื่อมีอายุ 3 ปี ขึ้นไป จึงนิยมเข้ายาเลือดบำรุงกำลัง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด แน่นหน้าอก ทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น เป็นยาผง ยาต้ม ใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด แต่คนท้องต้องระวังเพราะอาจทำให้แท้งได้ แพทย์โบราณนิยมใช้รากเจตมูลเพลิงแดงมากกว่าเจตมูลเพลิงขาวเนื่องจากฤทธิ์แรงกว่า ในตำรับยาปรับธาตุ รากเจตมูลเพลิงแดง ช่วยรักษาอาการอันเกิดจากธาตุไฟทั้ง ๔ เช่น ตัวเย็น ไอแห้ง ปวดท้องไม่หาย นัยน์ตามัว มือเท้าเหน็บชา เบื่ออาหาร ชอบนอนนานแล้วไม่อยากลุกขึ้น หายใจถี่ จัดเป็นเครื่องยาประจำธาตุไฟ
องค์ประกอบทางเคมี
ราก มีสารพวก แนฟธาควิโนน (naphthaquinone) ชื่อ plumbagin และ 3-chloroplumbagin มีฤทธิ์บีบมดลูก
โดยเจตมูลเพลิงแดงมีสารสำคัญในราก ได้แก่ plumbagin, sitosterol, stigmasterol, campesterol และ 6-hydroxyplumbagin ซึ่งในสาร plumbagin มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การเกิดเนื้องอก ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้และเซลล์มะเร็งทุกชนิด
การขยายพันธุ์:ด้วยเมล็ด
ข้อควรระวัง! :
หญิงที่มีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะรากมีสารบางอย่างทำให้แท้งได้
ป้ายคำ : สมุนไพร