แท่งเชื้อเพลิงเขียว คือ แท่งเชื้อเพลิงที่ได้จากการอัดแท่ง (โดยไม่ใช้ความร้อน) จากวัสดุชีวมวล/เศษวัชพืชต่าง ๆ หรือเศษวัสดุที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ชานอ้อยเน่าเปื่อย, ผักตบชวา ฯลฯ มาอัดเป็นแท่ง โดยอาศัยความเหนียวของยางในวัสดุเหล่านั้นเป็นตัวเชื่อมประสานและมีความชื้นพอดี เมื่ออัดออกมาเป็นแท่งเช้วก็จะได้แท่งอัดเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์แทนฟืน, ถ่าน หรือแก๊สหุงต้ม ได้เป็นอย่างดี
การอัดแท่งเชื้อเพลิงเขียว (การอัดเปียก)
เป็นการอัดโดยใช้เครื่องอัดแบบเกลียวหรือสกรู ซึ่งจะสามารถทำได้ทั้งกับวัสดุสดและแห้ง (แต่ถ้าวัสดุมีความชื้นปานกลางจะอัดได้สะดวกและรวดเร็ว) และสามารถทำได้กับวัสดุชนิดต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่ในโครงการนี้จะทดลองใช้กับชานอ้อยเน่าเปื่อย (ชาวบ้านเรียกขี้เป็ด) เนื่องจากสามารถหาได้ง่าย-สะดวก-เสียค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตน้ำตาลมาก ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นเทคโนโลยีการอัดแท่งแบบง่ายๆ สะดวก และไม่สร้างความยุ่งยากให้ชาวบ้านในท้องที่ จึงเป็นความ สมดุลย์ และน่าทึ่งที่เหมาะสำหรับชาวบ้านที่จะผลิตแท่งเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการหุงต้ม ตลอดจนใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในครัวเรือนและรวมถึงในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
การอัดแท่งเชื้อเพลิงในลักษณะนี้ได้ถือกำเนิดมาจากการอัดถ่านเขียว (green charcoal) ของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ.2523 ซึ่งค้นพบโดย มร. กอนซาโล คาแทน (Gonzalo O. Catan) และคณะโดยการนำเศษใบไม้ ใบหญ้า ไปหมักให้เน่าเปื่อยด้วยจุลินทรีย์บางชนิดแล้วจึงอัดโดยใช้ตัวเชื่อมประสานจากภายนอกช่วย
ในการอัดแท่งเชื้อเพลิงเขียวนั้น จะใช้วัสดุที่มีความชื้นสูง (สูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์) ดังนั้นก่อนนำไปใช้ก็จะต้องทำให้แห้ง วิธีการที่สะดวกและประหยัด สำหรับชาวบ้านก็คือการตากแดดโดยตรง อาจจะตากบนพื้นซีเมนต์ หรือบนสังกะสีลูกฟูก ฯลฯ ก็นับว่าเป็นวิธีการที่ประหยัด ซึ่งสำหรับโครงการนี้ก็ทำการทดลองตากแดดโดยตรงบนพื้นซีเมนต์ เป็นเวลา 2-3 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ก็มีวิธีการตากหรือการทำให้แห้งหลายวิธี นอกจากตากแดดโดยตรง
คุณสมบัติโดยทั่วไปของแท่งเชื้อเพลิงเขียว
โดยทั่วไปเชื้อเพลิงเขียวมีคุณลักษณะคล้ายฟืน มีค่าความร้อนต่ำกว่าถ่านมาก เวลาจุดมีควันมาก ถ้าใช้กับเตาปล่องจะช่วยลดควัน เชื้อเพลิงเขียวที่ทำจากเศษพืชเน่าเปื่อย เช่น ชานอ้อยเน่าเปื่อย เป็นเชื้อเพลิงเขียวที่มีคุณภาพดี หากผสมผงถ่านที่เหลือทิ้งสักเล็กน้อย จะช่วยทำให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีประสิทธิภาพไม่แพ้ถ่านหรือจะดีกว่าถ่านเสียอีก แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ผลิตและผู้ใช้เชื้อเพลิงในการปรับปรุงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ
เนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงเขียวมีค่าความหนาแน่น (Density) ใกล้เคียง 1 ดังนั้นสามารถนำไปเผาเป็นถ่านได้ (Carbonization) โดยจากการทดลองเผาแบบแกลบกลบ ใช้เวลาประมาณ 20-24 ชั่วโมง (1 วัน) และถ่านที่ได้สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ และให้ความร้อนได้สูง
เชื้อเพลิงเขียวที่ใช้วัชพืช (ไมยราบยักษ์) สับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับลิกไนท์ผง 20-30% จะเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะกับโรงบ่มยาสูบ หากใช้ลิกไนท์ผงล้วนๆ อัดแท่ง เถ้าจะจับตัวเป็นก้อนแตกยาก หากผสมชีวมวลจะช่วยให้เถ้าแตกง่าย (วัฒนา, 2529)
เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่ง พลังงานจากสิ่งเหลือใช้
ภายใต้สถานการณ์วิกฤติพลังงานที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น สินค้าอุปโภคบริโภคก็มีราคาแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะแนวทางการปรับราคาก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้มขึ้นอีก กำลังเป็นที่กังวลและสร้างความเดือนร้อนให้กับพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารในชีวิตประจำวัน
การคิดค้นวิจัยและทดลองเพื่อการเสาะหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ปัจจัยสำคัญคือ เชื้อเพลิงประเภทนั้นต้องราคาถูก มีปริมาณเพียงพอ และจัดหาได้ง่าย และกรรมวิธีในการนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งจึงเป็นคำตอบของประเภทพลังงานทดแทนใหม่นี้
จากการศึกษาวิจัยของกลุ่มชีวมวล สำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พบว่า เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งนั้นให้ความร้อนสูงถึง 700องศาเซลเซียส และหากเผาเป็นถ่านก่อนนำไปใช้งานแล้วพบว่า มีควันน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับถ่านไม้ที่นิยมใช้กันทั่วไป
เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งสามารถทดแทนก๊าซหุงต้มได้เป็นอย่างดี มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาและลงมือทำใช้เองได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นทั่วทุกพื้นที่ วัตถุดิบดังกล่าว ได้แก่ ขี้เลื่อย แกลบ ฟาง กิ่งไม้ ใบไม้ ผักตบชวา ฯลฯ
ขั้นตอนแรกคือ การเตรียมวัตถุดิบหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ขี้เลื่อย แกลบ ฟาง กิ่งไม้ ใบไม้ ผักตบชวา ฯลฯ จากนั้น นำมาลดขนาดด้วยเครื่องบดให้ได้ขนาดสม่ำเสมอกัน หลังจากนั้นก็ใช้กาวเป็นตัวประสานให้เชื้อเพลิงยึดติดกันแน่นในอัตราส่วน 30ต่อ 1(เชื้อเพลิง 30 ส่วน กาว 1 ส่วน) หรือ อาจใช้แป้งเปียกแทนเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายก็ได้เช่นกัน ขั้นตอนต่อไปก็นำเชื้อเพลิงและกาวมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน หากวัสดุที่นำมาใช้ทำเชื้อเพลิงแห้งเกินไป ให้ใช้พรมน้ำเป็นระยะเพื่อให้กาวแทรกตัวได้ดียิ่งขึ้น
นำเชื้อเพลิงที่ผสมกาวแล้วเข้าเครื่องอัดแท่ง เพื่อให้เชื้อเพลิงมีลักษณะตามที่ต้องการ โดยอัดให้เป็นแท่งยาวประมาณ 50เซนติเมตร ที่สำคัญเมื่ออัดเชื้อเพลิงเป็นแท่งเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างการเคลื่อนย้ายออกจากเครื่องต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกาวอาจยังไม่แห้งดี แท่งเชื้อเพลิงอาจแตกเสียหายได้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ควรใช้เหล็กฉากช่วยประคองในระหว่างการเคลื่อนย้ายน่าจะเป็นวิธีที่ดี
จากนั้น นำแท่งเชื้อเพลิงมาตากให้แห้ง ควรตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7วัน หรือหากจำเป็นต้องตากในที่ร่ม ให้ตากทิ้งไว้ประมาณ 10วัน ที่สำคัญต้องระวังอย่าให้ถูกฝน เมื่อแท่งเชื้อเพลิงแห้งสนิทดีแล้ว ให้นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 10เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการเก็บรักษาและการใช้งาน เพียงเท่านี้กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
นอกจากการนำวัสดุเหลือใช้จากท้องถิ่นนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเขียวอัดแท่ง เพื่อใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังมีเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมอีกจำนวนมากที่ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกเมล็ดทานตะวัน กากเมล็ดกาแฟ เปลือกผลไม้ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีทั้งสิ้น หากมีการผลิตเชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งใช้เองอย่างแพร่หลายแล้ว ก็คงไม่ต้องกังวลกับการปรับตัวสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงอื่นๆ อีกต่อไป
ข้อได้เปรียบของแท่งเชื้อเพลิงเขียวเทียบกับฟืนและถ่าน
ป้ายคำ : พลังงานทดแทน
สนใจเครื่องอัดแท่งค่ะ จะติดต่อได้ที่ไหนค่ะ รบกวนสอบถามด้วยค่ะ 085-3401991
สนใจวิธีทำคับ มีตัวอย่างให้ดูได้ที่ไหนบ้างคับ อยากลองทำใช้ที่บ้านเองจะได้ลดการใช้แก๊สน่ะคับ
สนใจมากครับ รบกวนขอข้อมูลเพิ่มเติมด้วยครับ 087-9282448
เชื้อเพลิงเขียวกับแท่งเชื้อเพลิงเขียวเหมือนกันไหมค่ะ