เดือย ธัญพืชเพื่อสุขภาพ

9 กรกฏาคม 2557 พืชผัก 0

เดือยเป็นพืชพื้นเมืองแท้ๆของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ของไทยเรา จะมีต้นเดือยขึ้นอยู่ทั่วไป ลูกเดือยเป็นพืชเศรษฐกิจ ชนิดหนึ่ง ที่เป็นสินค้าส่งออก ที่สำคัญ และ ลูกเดือยของไทย มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก สำหรับเอาไปทำ ผลิตภัณฑ์ยา และ อาหารเพื่อสุขภาพ

ลูกเดือย (Adlay, Adlay millet, Jobs tears)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coix lacryma-jobi
ชื่ออื่นๆ เดือยหิน, มะเดือย (พายัพ), ลูกเดือย (ใต้), เป้นี (กะเหรี่ยง-กำแพง), สกูย (เขมร), Coix

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เดือยเป็นธัญพืชตระกูลหญ้า (Gramineae) มีโครโมโซม 2n = 20 ลักษณะการเจริญเติบโตคล้ายพืชในตระกูลเดียวกัน เช่น ข้าวหรือข้าวฟ่าง เดือยที่ปลูกจาก 1 เมล็ดจะแตกกอ เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน ได้ 4-5 แขนง ต้นเดือยมีความสูงตั้งแต่ 1-3.5 เมตร

deayya

ใบ ขนาด 20-45 x 2.5-5 เซนติเมตร ติดอยู่กับกาบใบที่หุ้มลำต้น ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบมีลักษณะ คล้ายใบหอก(lanceolate) เส้นกลางใบเป็นร่องยาวไปตามความยาวของใบ
ช่อดอก แตกขึ้นไปจากซอกใบที่อยู่บริเวณของกิ่ง ช่อดอกยาว3-8 เซนติเมตร เดือยจะมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียบนช่อเดียวกัน
ดอกโครงสร้างสลับซับซ้อน แปลกและน่าท่งกว่าดอกของพืชชนิดอื่นๆ ก้านดอกจะรองรับกระเปราะที่จะพัฒนาต่อไปเป็นที่บรรจุผล หรือเมล็ด ภายในกระเปาะบรรจุดอกตัวเมีย 1 ดอก และก้านชูเกสรตัวเมียสีแดงคล้ำ 2 อัน ซึ่งจะยื่นโผล่ออกมาจากกระเปาะ เพื่อรอรับการผสม

deaydok

กระเปาะ เป็นที่กำเนิดของก้านชูช่อดอกตัวผู้ที่โผล่ออกไปอยู่เหนือกระเปาะ ช่อดอกตัวผู้จะมีดอกตัวผู้อยู่ประมาณ 10 ดอก แต่ละดอกมีความยาว 7-8 เซนติเมตร รูปร่างคล้ายสีเหลี่ยมขนมเปียกปูนเรียวๆ ดอกจะร่วงเมื่อแก่ มักจะเกิดเป็นคู่ มีกาบดอกชั้นนอก (glume) 2 อัน ภายในมีกลีบดอกชนิดlemma 1 อัน และ palea ที่เล็กกว่า 1 อัน มีอับเกสร ตัวผู้ 3 อัน

deayton

เมล็ด เกิดจากการผสมเกสร รังไข่จะเจริญไปเป็นผลปลอม (false fruit) หรือเมล็ด เมื่อมองด้านหน้าจะคล้ายรูปหัวใจ มองด้านบนจะคล้ายเมล็ดถั่ว ที่มีร่องเว้าเข้าไปตรงกลาง แต่ร่องจะลึกกว่ามีความยาว 8-12 มิลลิเมตร เนื้อของผลและเมล็ดจะหลอมเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก (caryopsis) เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีน้ำตาลแดง น้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลอ่อน เดือยส่วนใหญ่เป็นพืชที่ไวต่อช่วงแสง โดยจะออกดอกในช่วงที่มีแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ประมาณเดือนกันยายน ส่วนใหญ่จะผสมข้าม เนื่องจากดอกตัวผู้และดอกตัวเมียบานไม่พร้อมกัน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เดือยเป็นธัญพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับข้าว เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทยถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เพาะปลูกมากแถวภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีเส้นใยอาหารสูง มีลักษณะของต้นคล้ายต้นข้าวโพด ลักษณะของเม็ดจะเป็นสีขาว ออกกลมๆ รีๆ รสชาติออกมันเล็กน้อย ลูกเดือยมีทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ ชนิดที่กินได้นั้นจะมีเปลือกผลอ่อนซึ่งเรียกว่า เดือยกิน ปลูกไว้เพื่อใช้ทำเป็นอาหารและยา

ลูกเดือย จัดเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกาย อย่าง วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส โดยเฉพาะวิตามินบี1 ที่มีปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนหลายชนิดที่สูงกว่าความต้องตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก อาทิเช่น กรดกลูตามิก ลูซีน อลานีน โปรลีน วาลีน ฟินิลอลานีน ไอโซลูซีน อาร์จีนีน เป็นต้น และยังมีกรดไขมันจำเป็นชนิดที่ไม่อิ่มตัว อย่าง กรดลิโนเลอิก กรดโอเลอิค และกรดไขมันชนิดอิ่มตัว อย่าง ปาล์มิติก และสเตียริก อีกด้วย

deaychor

ลูกเดือยเป็นยาเย็น หมอพื้นบ้านไทยใช้บำบัดอาการหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ น้ำคั่ง ในปอด และ ใช้เป็นยาขับป’สสาวะ ใช้ทำยาชง ให้เด็กกินขับพยาธิ

จีนและญี่ปุ่นใช้ลูกเดือยเป็นยาลดไข้ แก้ร้อนใน บำรุงไต บำรุงกระเพาะอาหาร และม้าม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้อักเสบ บำรุงสตรีหลังคลอด ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร

deaypon

ในลูกเดือยมีโปรตีนคุณภาพดี คุณสมบัติ คล้ายกับโปรตีนจากข้าวโอ๊ต ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ ยังพบว่า ลูกเดือยมีสารยา หลายชนิดได้แก่

  1. โคอิกซีโนไลด์ (coixenolide) มีประโยชน์ในการรักษาโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน และ พบว่า สารตัวนี้สามารถลดไข้ในสัตว์ทดลอง
  2. โคอิกแซน เอ บี ซี (coixan A B C) สามารถลดน้ำตาลในเลือด
  3. สารที่ไม่ใช่ไขมันในลูกเดือย สามารถลดคอเลสเตอรอล
  4. น้ำสกัดจากลูกเดือย ช่วยลดความดันเลือด ช่วยทำให้นอนหลับ และ ระงับปวดได้ ในสัตว์ทดลอง
  5. แอลฟ่า โมโนไลโนเลอิ ( -mono linolein) เป็นสารสกัดแอลกอฮอล์ ของลูกเดือย สามารถ ยับยั้งการก่อมะเร็ง ไม่ให้ทำร้ายเซลล์ ในสัตว์ทดลอง

deaymed

สรุปแล้ว ลูกเดือยเป็นทั้ง ยาลดน้ำตาล และ ไขมันในเลือด ลดความดันในเลือดได้ด้วย สามารถ ใช้เพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันหวัด นอกจากนี้ยังช่วยให้หลับง่าย และ อาจจะป้องกัน มะเร็ง ได้ด้วย

deaykeb

การปลูก
ช่วงปลูกที่เหมาะสม คือ กลางเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
หยอดเมล็ดหลุมละ 6-10 เมล็ด แล้วถอนแยกให้เหลือ 3-4 ต้นต่อหลุมเมื่อเดือยอายุ 30 วัน
การเตรียมดิน โดยใช้ผาน 3 หนึ่งครั้ง และผาน 7 อีกหนึ่งครั้ง
ระยะปลูก 75 x 75 เซนติเมตร จำนวน 3-4 ต้นต่อหลุม

deayyod

น้ำลูกเดือย
ในตำรายาจีนจึงมักใช้ลูกเดือยบดผสมข้าว ต้มเป็นข้าวต้มกินทุกวันเพื่อบำรุงกำลัง หล่อลื่นกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บวมน้ำ ปวดข้อเรื้อรัง ทั้งยังเชื่อว่าการรับประทานลูกเดือยต้มน้ำตาลสามารถที่จะแก้ร้อนในได้ ในแง่การเป็นสารอาหาร ลูกเดือยให้พลังงานแก่ร่างกายสูง จึงมีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง ลูกเดือยมีคาร์โบไฮเดรต ๕๘-๖๒% มีไขมัน ๕% มีโปรตีนอยู่ถึง ๑๒% มีฟอสฟอรัสอยู่ในปริมาณสูง มีวิตามินบีหนึ่งมากกว่าข้าวกล้อง การที่มีวิตามินบีหนึ่งสูงนี่กระมังที่ช่วยในการแก้เหน็บชาตามความเชื่อของชาวจีน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ว่าสาร coxenolide ในเมล็ดเดือยมีสรรพคุณในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก และพบว่าสารสกัดด้วยน้ำหรือตัวทำละลายอินทรีย์ จากรากหรือเมล็ดเดือยมีฤทธิ์ทำให้การหมุนเวียนของเลือดที่ผิวหนังดีขึ้น ทำให้เส้นผมเจริญดีขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อของคนจีนที่ว่า กินเมล็ดเดือยทำให้ผิวสวย ลูกเดือยยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคหูดที่มักจะเป็นเรื้อรัง โดยมีการทดลองในคนไข้ ๒๓ ราย ให้กินลูกเดือย ๖๐กรัม ต้มรวมกับข้าวรับประทานวันละ ๑ ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าจะหาย หลังจากกินลูกเดือยติดต่อกัน ๗-๗๖ วัน ได้ผลหายขาด ๑๑ ราย อาการดีขึ้น ๘ ราย ไม่ได้ผล ๖ ราย ซึ่งอาจเป็นเพราะสารจากลูกเดือย มีฤทธิ์ทำให้เลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนังดีขึ้น หรือจากฤทธิ์ยังยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกก็แล้วแต่ ในท่านที่ทนทุกข์กับการผ่าหูดแล้วผ่าหูดอีกไม่หายสักที ควรจะลองดูก็ไม่น่าเสียหายอะไร ดังนั้นการรับประทานลูกเดือยต้มกินกับข้าวจึงเป็นสิ่งที่ดีนักหนา มีคุณค่ามหาศาลต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ พลังงานและสรรพคุณทางยา เป็นวัฒนธรรมของคนตะวันออกมายาวนาน

deaytom

ส่วนผสม

  • ลูกเดือย 50 กรัม (5 ช้อนคาว)
  • น้ำตาลทราย 10 กรัม (2 ช้อนกาแฟ)
  • น้ำเปล่า สะอาด 250 กรัม (16 ช้อนคาว)
  • เกลือป่นเสริมไอโอดีน 1 กรัม (1/5 ช้อนชา)

วิธีทำ
น้ำลูกเดือย ล้างให้สะอาด ใส่หม้อ เติมน้ำ ตั้งไฟเคี่ยวจนลูกเดือยสุกเปื่อย ใส่น้ำตาล เกลือป่น ใส่ในเครื่องปั่น ปั่นให้ละเอียด ชิมรสตามชอบ

ประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับ

  • คุณค่าทางอาหาร มีฟอสฟอรัสสูงมาก ช่วยบำรุงกระดูก รองลงมาคือมีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา บำรุงธาตุ เป็นอาหารสำหรับคนฟื้นไข้ ช่วยเจริญอาหาร
  • คุณค่าทางยา ชงเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน บำรุงไต กระเพาะอาหาร ม้าม รวมทั้งยังบำรุงเลือดลมในสตรีหลังคลอด รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วม

ที่มา
พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10: ธัญพืช. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544.

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น