การเตรียมดินที่ดีก่อนการปลูกพืชนั้น มีความจำเป็นอย่างมากนอกจากจะเพื่อการงอกของเมล็ดตั้งแต่เริ่มการปลูก การลดจำนวนคู่ต่อสู้คือตัววัชพืชที่ไปแก่งแย่งปัจจัยการผลิต การปรับปรุงสมบัติทางฟิสิกส์ของดินในด้านต่างๆ และการจัดเตรียมแปลงปลูกให้เหมาะสมแล้ว กิจกรรมต่างๆ หลังการเตรียมดินจะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องกับดินและพืชต่อไปดังนี้ คือ
1) สามารถเก็บความชื้นในดินได้สูง ดินที่เก็บความชื้นได้สูงนั้นนับว่ามีความสำคัญต่อพืชที่ปลูกในแถบค่อนข้างแห้งแล้งมาก ทั้งนี้เพราะเหตุว่าพื้นที่ดังกล่าวมักไม่ได้รับน้ำฝนอย่างพอเพียงในฤดูกาลปลูก พื้นที่ลักษณะนี้หากจะไถทิ้งไว้สักปีหนึ่งก็สามารถจะปลูกได้อย่างดี ทั้งนี้เพราะจากการที่เราไถทิ้งไว้นั้น จำนวนน้ำฝนจะถูกเก็บกักไว้ในดิน และความชื้นอันนี้เอง เมื่อรวมกับความชื้นในระหว่างฤดูกาลเพาะปลูกพืชจะทำให้พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของพืช การสงวนความชื้นในลักษณะนี้อาจนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ แม้ในเขตที่มีความชื้นแล้วก็ตาม
2) การทำลายวัชพืช วัชพืชใช้น้ำ และอาหารพืชในดินเป็นปริมาณมากการทำลายวัชพืชจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการสงวนความชื้น
3) การถ่ายเทอากาศของดิน แปลงเพาะปลูกพืชที่ได้เตรียมไว้อย่างดีนั้นจะทำให้อาหารพืชต่างๆ พร้อมที่จะถูกพืชนำไปใช้ได้ทันที ความจริงอันนี้สืบเนื่องมาจากการถ่ายเทของอากาศได้อย่างทั่วถึงเป็นประการสำคัญ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าอากาศมีความจำเป็นต่อกิจกรรมทางเคมี และชีวะในดินอย่างมาก การเตรียมดินเท่ากับทำให้ดินได้ถูกอากาศ อันจะทำให้พวกแร่ธาตุอาหารพืชถูกนำเอาไปใช้ได้ดีขึ้นทั้งนี้โดยผ่านกระบวนการทำปฏิกริยากับออกซิเจน เช่น การเกิดไนเตรทในดิน เป็นต้น
4) ทำให้อินทรีย์วัตถุเกิดประโยชน์แก่ดิน ในดินที่เตรียมไว้อย่างดีนั้น พวกอินทรีย์วัตถุซึ่งไถกลบหรือเพิ่มให้แก่ดินหรือให้ทั้ง 2 อย่างนั้นจะถูกกลบอยู่ภายใต้ผิวดิน วัตถุต่างๆ เหล่านั้นรวมกับแร่ธาตุอาหารพืชที่ให้ ทำให้เกิดการเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำไว้ดีขึ้นและยังปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีอีกด้วย
5) ช่วยให้ดินย่อยและร่วนซุย พวกดินเหนียวจะทำให้เกิดแน่นตัวไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ดี ทั้งนี้เพราะจุลินทรีย์ในดิน และรากพืชไม่สามารถจะทนทานต่อสภาพดินเช่นนี้ได้ ดินควรได้รับการไถ พรวนเพื่อให้เกิดการร่วนซุยได้ดีก่อนการหว่านเมล็ดพืชหรือก่อนการปลูกพืช
ในดินบางชนิดที่ร่วนซุยมาก การปลูกพืชที่มีลำต้นสูงบางชนิด ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด ต้นกล้า จะตั้งตัวได้ไม่ดี โดยเฉพาะหากมีลมจัดหรือฝนตกหนักมาก ลำต้นจะหักล้มได้ง่าย การเตรียมดินประเภทนี้ควรทำให้แน่นตัวมากพอสมควร
ในทางปฏิบัติของวิธีการปรับปรุงดิน เพื่อให้ทั้งดินทรายและดินเหนียวมีโครงสร้างที่ดีขึ้น โดยแนวทางการปรับปรุงจะใช้วัสดุปรับปรุงดินที่มีสมบัติเป็นตัวประสานทางกายภาพของโครงสร้าง และเป็นตัวเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการเพิ่มศักยภาพการดูดตรึงประจุทางเคมีของดิน (cation exchange capacity) ให้เพิ่มขึ้น สารปรับปรุงดินมักเป็นพวกสารอินทรีย์วัตถุซึ่งมีหลายชนิด เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ขี้กบ ขี้เลื่อย ขี้แกลบ ฯลฯ เป็นต้น สารอินทรีย์วัตถุพวกนี้โดยสมบัติตัวมันเองจะมีอนุภาคโครงสร้างเป็นก้อนที่มีรูพรุนมาก ทำให้สามารถดูดยึดน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ไว้ได้ดี ดังนั้นเมื่อใส่วัสดุปรับปรุงดินให้กับดินเหนียวก็จะไปมีผลเพิ่มช่องว่างอากาศให้กับดินเหนียว การใส่ให้กับดินทรายก็จะไปช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดยึดความชื้นแก่ดินทราย ทำให้น้ำที่ให้กับพืชมีประโยชน์มากขึ้น
สำหรับหลักการใส่อินทรีย์วัตถุเพื่อปรับปรุงดินในแปลงปลูกที่มีปัญหาขาดอินทรีย์วัตถุนั้น โดยทั่วไปคือหลักการใส่ให้ 25-50 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตรของชั้นดินบริเวณผิวดินที่รากพืชอาศัยอยู่ ตัวอย่างในพื้นที่ดิน 100 ลูกบาศก็ฟุต อินทรีย์วัตถุที่ต้องใช้คลุกเคล้าปรับปรุงดินนั้นจะใช้ประมาณ 50-100 ลูกบาศก์ฟุต
อย่างไรก็ตามการใส่อินทรีย์วัตถุประเภทปุ๋ยคอก (manure) ชนิดที่มีความเข้มข้นของเกลือสูง (โดยเฉพาะ ขี้ไก่ ขี้หมู ที่ยังใหม่อยู่) ต้องระมัดระวังอาจทำอันตรายแก่ระบบรากพืชได้ หากใส่มากจนเกินไป ดังนั้นการใส่ปุ๋ยคอกพวกนี้ควรใส่แต่เพียงน้อย คือ โดยประมาณ 5-6 ลูกบาศก์ฟุต ในดิน 100 ลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น
ปุ๋ยคอกหลังจากใส่ลงไปในดินแล้วจะถูกย่อยสลายโดยการทำงานของจุลินทรีย์ดินได้สารที่เรียกว่าฮิวมัส (humus) เกิดขึ้น ฮิวมัสเป็นสารพวกเจลาติน (gelatinous material) ซึ่งมีลักษณะเหนียวเป็นกาว (glue) สารนี้เองจะเป็นตัวช่วยประสานจับอนุภาคดินเหนียวเข้าด้วยกัน ทำให้ดินเหนียวที่จับเป็นแผ่นแน่นแข็ง เกิดโครงสร้างดินเหนียวที่เป็นก้อน (aggregates) ทำให้การถ่ายเทอากาศและระบายน้ำดีขึ้น รากพืชก็จะสามารถงอกเจริญแผ่กระจายและได้รับอาหารจากดินมากขึ้น ต้นพืชจึงเจริญเติบโตได้ดีหลังจากการใส่ปุ๋ยคอก
ปุ๋ยคอกที่ใส่ให้ในดินทรายจะสลายตัวได้รวดเร็วกว่าใส่ให้ในดินเหนียว ทำให้โครงสร้างหรือสมบัติในการอุ้มความชื้นและดูดยึดปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารต่างๆ ดินทรายนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว การใส่ปุ๋ยคอกในดินทรายจึงต้องทำบ่อยครั้งขึ้น ดังนั้นในการปฏิบัติจึงมักใส่อินทรียวัตถุชนิดที่สลายตัวช้า ตัวอย่างเช่น พีทมอส เปลือกถั่ว ขี้กบ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด และอื่นๆ ฯลฯ ที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรผสมคลุกเคล้าตามไปด้วย
ข้อควรระมัดระวังในการใส่อินทรีย์วัตถุที่มีปริมาณไนโตรเจนอยู่ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น ขี้กบ ขี้เลื่อย แกลบสด และอินทรีย์วัตถุอื่นๆ จากพืชที่ยังสดใหม่อยู่ก็คือ อินทรีย์วัตถุพวกนี้เมื่อใส่ในดินจะถูกจุลินทรีย์ดินย่อยสลาย โดยขบวนการย่อยสลายนี้จะต้องใช้แหล่งไนโตรเจนที่เพียงพอซึ่งสมดุลกับธาตุคาร์บอน ที่เป็นองค์ประกอบของอินทรีย์วัตถุนั้น คือมีคาร์บอนต่อไนโตรเจนประมาณ 15:1 หากธาตุไนโตรเจนในอินทรีย์วัตถุนั้นไม่เพียงพอ จุลินทรีย์ก็จะดึงไนโตรเจนจากดินมาใช้ ทำให้พืชที่ปลูกขาดไนโตรเจน พืชก็จะแสดงอาการใบเหลือง แคระแกรน หรืออาจตายในที่สุดหากเราไม่ใส่ไนโตรเจนในรูปปุ๋ยไปทดแทนให้
การใส่อินทรีย์วัตถุดังกล่าวข้างต้น จึงควรใส่ควบกับแหล่งปุ๋ยไนโตรเจนและโดยปกติมักใส่แหล่งแร่ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม จากเลือด และกระดูก เขาสัตว์ผสมลงไปด้วย ปริมาณที่แนะนำให้ใช้คือในทุกๆ 1 คิวบิวฟุตของอินทรีย์วัตถุจะผสมเลือดป่นหรือกระดูกสัตว์ป่นลงไป 75 กรัม และแอมโมเนียมซัลเฟตลงไปประมาณ 30 กรัม
การเตรียมดินเป็นหัวใจของการปลูกพืชทั้งพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งมีหลักการคล้ายคลึงกัน คือ ก่อนปลูกพืชจำเป็นต้องพิจารณาสภาพพื้นที่ เนื้อดิน ปัญหาของดิน ชนิดพืชที่ปลูกเพื่อให้มีการเตรียมดินที่เหมาะสมและประสบผลสำเร็จในการปลูกพืช การเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชจะแตกต่างกันตามชนิดของพืชดังนี้
การเตรียมดินสำหรับการปลูกผัก
การเตรียมดินปลูกผักจำเป็นต้องมีการเตรียมดินอย่างดีเพื่อให้เมล็ดผักซึ่งมีขนาดเล็กมีการงอกที่ดี ควรไถดินลึก 6-8 นิ้ว พลิกหน้าดินตากไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อฆ่าไข่แมลงและศัตรูพืชบางชนิด แล้วจึงไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชออกให้หมดทำการยกแปลงขนาดของแปลงขึ้นกับชนิดพืชผักที่ปลูก ถ้าดินมีปัญหาโดยมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 6.5 ควรใส่ปูนขาวอัตรา 100-300 กก./ไร่ การหว่านปูนขาวจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในดิน ในพื้นที่ภาคใต้ก็ใช้หินปูนฝุ่นอัตรา 1000-1500 กก./ไร่ วัสดุปูนขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่ามีปูนชนิดใดก็ใช้ตามที่มีในพื้นที่นั้น ในขณะใส่ปูนดินควรมีความชื้นเพื่อให้ปูนมีการทำปฏิกิริยากับดินได้เร็วยิ่งขึ้นและควรปล่อยไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในขณะพรวนดินหลังจากยกแปลงแล้วให้ใส่ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ เช่น ขี้เป็ด ขี้ไก่ หรือ ขี้หมู จะทำให้ดินร่วนซุย เตรียมดินง่ายและทำให้ดินมีความอุ้มน้ำดี มีการระบายน้ำและอากาศดีขึ้น นอกจากนี้ยังให้ธาตุอาหารแก่ดินในระดับหนึ่ง
พืชผักบางชนิดที่ต้องเพาะเมล็ดปลูกแปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร การเตรียมดินควรทำอย่างดีเช่นเดียวกันโดยยกหน้าดินให้สูงประมาณ 10 ซม. ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพื่อให้ดินร่วนซุย แต่งหน้าดินให้เรียบ สำหรับพืชผักที่ปลูกโดยหว่านเมล็ดลงแปลง เมื่อหว่านเมล็ดแล้วให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วโรยทับลงไปบางๆคลุมดินด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ ส่วนพืชผักที่ปลูกเป็นหลุมก็เช่นเดียวกันเมื่อหยอดเมล็ดแล้วกลบด้วยดินละเอียดที่ผสมด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก
การเตรียมดินสำหรับปลูกไม้ผล
ไม้ผลเป็นพืชที่มีระบบรากลึก การเตรียมดินก่อนปลูกจึงต้องเตรียมให้ดีเพราะหลังจากปลูกไปแล้วไม่สามารถพรวนดินใส่ปุ๋ยในดินระดับล่างได้อีก การเตรียมดินอย่างดีจะช่วยให้ไม้ผลเจริญเติบโตเร็วกว่าการปลูกแบบไม่เตรียมหลุม การเตรียมหลุมไม่ดีถึงแม้ว่าจะใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตภายหลังปลูก พบว่าไม้ผลก็ยังมีการเจริญเติบโตช้ากว่าต้นที่มีการเตรียมหลุมปลูกอย่างดี การเตรียมหลุมปลูกไม้ผล ขนาดของหลุมปลูกจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ถ้าเป็นไม้ผลขนาดใหญ่ เช่น ทุเรียน หลุมปลูกควรมีขนาดกว้าง x ยาว 1 x 1 เมตร ลึกประมาณ 80 ซม. ไม้ผลขนาดกลาง เช่น ลองกองควรมีขนาด 80 x 80 ซม. ลึก 60 ซม. การกำหนดขนาดของหลุมปลูกเพื่อให้รากของต้นกล้าเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก และควรใช้ปุ๋ยรองก้นหลุมพวกร็อคฟอสเฟต 1-2 กระป๋องนมจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของราก สำหรับสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช เช่น สภาพดินเป็นหินจัดและมีระดับน้ำใต้ดินสูงก็ควรปลูกแบบนั่งแท่นหรือปลูกแบบยกโคกจะเหมาะสมที่สุด การปลูกแบบนั่งแท่นจะขุดหลุมปลูกแต่ไม่ลึกมากและปรับหน้าดินให้ร่วนซุย นำต้นกล้าวางบนหลุมจัดรากให้ออกมาในแนวรัศมีรอบต้น กลบด้วยดินพูนให้เป็นโคก ค้ำยัน3 ขา หรือใช้ไม้เสียบค้ำยันไว้จนต้นกล้าตั้งตัวได้ การเตรียมดินปลูกโดยทั่วไป
ดินบน+ปุ๋ยหินฟอสเฟท 1 กระป๋องนม+ปูนขาว1-2 กำมือ+ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักจากพด.1 หรือเศษใบไม้แห้ง1-2 ปีบ สำหรับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำควรเพิ่มอัตราการใช้ให้มากขึ้น
การเตรียมดินสำหรับพืชไร่
พืชไร่เป็นพืชที่มีระบบรากตื้น เช่น ข้าวโพด อ้อย สับปะรด และมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่แล้วดินที่เหมาะสมสำหรับพืชไร่ควรเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี สภาพพื้นที่เป็นที่ดอน ดังนั้นการเตรียมดินควรมีการไถดะในช่วงฤดูแล้งและตากดินไว้ 7-10 วัน เพื่อให้วัชพืชแห้งตาย ก่อนปลูกไถแปรโดยใช้ผาล 7 สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทให้ไถขวางความลาดเททั้งผาล 3 และ ผาล 7 บางพื้นที่ที่มีสภาพดินแน่นทึบ ดินมีชั้นดานที่เกิดจากการไถพรวน ควรใช้ไถเบรกดินดาน โดยไถลึกให้ถึงชั้นดาน จะช่วยให้น้ำสามารถซึมลงไปได้ดี ทำให้พืชไร่บางชนิด เช่น มันสำปะหลังหัวไม่เน่าเสียหาย หลังจากนั้นหว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ปัจจุบันพบว่า ดินส่วนใหญ่ของประเทศที่ใช้ปลูกพืชไร่มีความเป็นกรดเนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นเวลานานจึงควรหว่านปูนขาวในอัตรา 500-600 กก./ไร่ สำหรับดินที่เป็นกรดเล็กน้อย โดยใส่ทุกๆ 2 ปี จะช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินแก่พืช ขณะหว่านปูนขาวดินควรมีความชื้นและทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถยกร่อง หรือยกแปลงปลูกพืชได้
การเตรียมดินที่ดีที่สุดควรปลูกพืชปุ๋ยสดพวก ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม หรือปอเทือง แล้วไถกลบช่วงออกดอกจะช่วยเพิ่มอุดมสมบูรณ์ของดินรวมทั้งช่วยในด้านความสามารถในการอุ้มน้ำและการระบายน้ำและอากาศของดินให้ดีขึ้นถ้าปลูกพืชปุ๋ยสดได้ทุกปีก่อนปลูกพืชจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถปลูกได้ก็อาจปลูกทุกๆ 2-3 ปี จะช่วยให้ดินไม่เสื่อมโทรมมากและพื้นที่ปลูกพืชสามารถให้ผลผลิตเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น
การเตรียมดินสำหรับพืชไร่จำพวกหัวควรมีการยกร่องเพื่อให้มีการลงหัวได้ดีระยะระหว่างร่องขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ปลูก เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และสับปะรด ควรยกร่องกว้าง1 เมตร 1.20 เมตร และ 1 เมตร ตามลำดับ การปลูกพืชไร่ในช่วงต้นฤดูฝนควรยกร่องเพื่อไม่ให้มีน้ำแช่ขัง สำหรับอ้อยควรยกร่องปลูกเช่นเดียวกัน เพื่อใช้วางท่อนพันธุ์ในร่อง และกลบดินโคนต้นในช่วงทำรุ่นและใส่ปุ๋ย สำหรับพื้นที่ลุ่มการปลูกพืชไร่ควรทำร่องระบายน้ำออกจากพื้นที่และพื้นที่ดอนที่มีความลาดเทการเตรียมดินควรเว้นระยะเป็นแนวขวางความลาดเทสำหรับปลูกหญ้าแฝก 1แถวสลับกับการปลูกมันสำปะหลังประมาณ 30-40 แถว เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ด้านบนมายังพื้นที่ด้านล่าง
ป้ายคำ : จุลินทรีย์, ห่มดิน