เตามหาเศรษฐี (เตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง) เป็นเตาที่ได้พัฒนาขึ้นมาทดแทนเตาอั้งโล่ท้องตลาดที่ใช้อยู่ทั่วไป มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนเฉลี่ย 29 % ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงหุงต้มได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับเตาอั้งโล่ธรรมดา
การปรับปรุงเตา หลักสำคัญๆในการออกแบบเตา ซูเปอร์อั้งโล่ คือการลดความร้อนสูญเสียที่เกิดขึ้นบริเวณปากเตา และทำให้การเผาไหม้ดีขึ้นโดยการทำรังผึ้งและรูรังผึ้งให้มีการไหลของอากาศดี ขึ้น โดยรูที่รังผึ้ง จะต้องเป็นทรงกรวยคว่ำ (taper) ด้านบนเล็กกว่าด้านล่าง ซึ่งทำให้เตานี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีการได้หลักวิชาการมาช่วยในการออก แบบได้อย่างเหมาะสม สามารถใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับเตาหุงต้มที่ผลิตจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
ลักษณะเด่นของเตา เตาอั้งโล่ที่ถูกปรับปรุงรูปทรง โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วยทำให้รูปร่างเพรียว สวยงาม ทนทานมากขึ้น จุดไฟติดเร็วขึ้น ไม่มีควันและแก๊สพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หุงต้มสุกเร็ว เก็บความร้อนได้นาน สามารถวางหม้อหรือภาชนะประกอบอาหารได้พอดีถึง 9 ขนาด ที่สำคัญคือ ประหยัดฟืนและถ่านได้มากกว่าเตาอั้งโล่ธรรมดาถึงร้อยละ 15-20 อธิบายง่ายๆ คือ เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง 1 เตา ใช้ถ่านน้อยกว่า เตาอั้งโล่รุ่นเก่าประมาณ 151 กิโลกรัมต่อปี ถ้าถ่านกิดลกรัมละ 5 บาท ก็สามารถประหยัดเงินได้ถึง 755 บาท
ส่วนประกอบของเตามหาเศรษฐี
“ซูเปอร์อั้งโล่” คือ เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูที่ได้รับ การปรับปรุงทั้งรูปแบบ และคุณสมบัติ
ช่วยประหยัดถ่านได้ มากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเที่ยบกับเตาหุงต้มแบบเดิม (เตาอั้งโล่)
ลักษณะเด่น
การดูแลรักษาเตา
การเปรียบเทียบคุณสมบัติของเตาอั้งโล่ท้องตลาดกับเตาซุปเปอร์อั้งโล่
ตาหุงต้มแบบดั้งเดิม
เตาซูเปอร์อั้งโล่
ขั้นตอนการผลิตเตาอั้งโล่สิ่งแรกคือ ต้องเตรียมดินที่เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดในการผลิตเตา ดินที่ว่าก็ต้องเป็นดินเหนียว โดยขุดลึกลงไปจากชั้นหน้าดินราว 1 เมตร ก็จะมีดินเหนียวที่ต้องการปะปนอยู่ แต่นักวิชาการระบุว่าแหล่งของดินควรอยู่ใกล้ลำน้ำหรือตามท้องไร่ท้องนา เพราะเป็นดินคุณภาพดีง่ายต่อการปั้นขึ้นรูป ไม่แตกร้าวหลังการเผา
เมื่อได้ดินเหนียวที่ต้องการมาแล้ว ก็นำมาตากไว้ 1 แดด ต่อจากนั้นนำดินกลับไปหมักลงในน้ำเพื่อให้ดินผสมผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมคัดแยกเศษไม้ เศษหินไม่ให้มีปะปนหลงเหลืออยู่ในเนื้อดิน โดยแช่ดินทิ้งไว้ในน้ำนานประมาณครึ่งวัน จึงนำดินขึ้นมาสะเด็ดน้ำให้แห้งพอหมาดๆ นำขี้เถ้าแกลบดำผสมกับดิน ในอัตราขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ดิน 2 ส่วน แล้วคลุกเคล้านวดขี้เถ้าแกลบดำกับดินให้เข้าที่ เพราะแกลบดำจะทำหน้าที่เป็นตัวชนวนกันไม่ให้ความร้อนกระจายออกจากเตา และช่วยลดปริมาณการใช้ดินเป็นส่วนผสม ทำให้เตาซุปเปอร์อั้งโล่มีน้ำหนักเบากว่าเตาแบบอื่นด้วย
เมื่อผ่านขั้นตอนผสมดินกับขี้แกลบดำแล้ว ดินที่ได้ก็พร้อมจะถูกนำไปปั้นขึ้นรูปเป็นเตาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ นำดินเข้าสู่แม่พิมพ์ตามขนาดที่เตรียมไว้ ปัจจุบันแม่แบบพิมพ์เตาซุปเปอร์อั้งโล่ที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ แม่แบบพิมพ์ภายนอกใช้สำหรับขึ้นรูปตัวเตา และแม่แบบพิมพ์ภายในใช้สำหรับขึ้นรูปปากเตาและเส้าเตา ซึ่งก่อนปั้นผ่านแม่พิมพ์ทุกครั้งต้องโรยแกลบรอบๆ แม่พิมพ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ดินเหนียวติดแม่แบบและปั้นไม่ได้รูปทรง
จากนั้นนำดินที่หมักจนได้ที่ใส่ลงในแม่พิมพ์ภายนอก ก่อนใช้มือตบปั้นดินให้ขึ้นรูปเป็นทรงเตา โดยผู้ปั้นต้องสังเกตคำนวณให้ดินมีความหนาและขนาดตามที่กำหนด พร้อมตกแต่งผิวดินด้านในเตา ซึ่งต้องใช้เป็นห้องวางรังผึ้ง ห้องใช้เผาไหม้ หลังจากนั้นก็อัดทับด้วยแม่พิมพ์ภายใน เพื่อขึ้นรูปเป็นปากเตาและเส้าเตา เมื่อได้เตาตามขนาดที่ต้องการก็คว่ำเอาเตาออกจากแบบพิมพ์นำไปผึ่งลมให้แห้ง การผึ่งลมนี้ต้องไม่ให้ถูกแดดเป็นอันขาด และผึ่งลมทิ้งไว้ 1-2 วัน จึงนำเตากลับมาตกแต่งปากเตาเส้นเตา พร้อมกับเจาะช่องลมก่อนนำไปไปผึ่งลมและตากแดดจนเตาแห้งสนิท โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 2-4 วัน ก็จะได้เตาที่พร้อมนำไปเผาแล้ว
สำหรับวิธีการเผาเตาซุปเปอร์อั้งโล่ มีกรรมวิธีการเผาเหมือนเตาธรรมดาทั่วไป ผู้ที่เคยทำเตาก็อาจทราบวิธีนี้มาแล้ว แต่ที่นำมาพูดคุยกันอีก ก็เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่ทราบวิธีการเผาเตาทราบขั้นตอนเอาไว้ หลังผู้ปั้นเตาตกแต่งเตาเสร็จแล้ว ให้นำเตาที่ผ่านการตากแดดมาเรียงเป็นชั้นในเตาเผา ซึ่งจะใช้เตาเผาแบบอุโมงค์ที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง หรือถ้าไม่สะดวกเผาแบบเตาอุโมงค์อาจใช้วิธีการเผาแบบเตาเปิดที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ โดยขั้นตอนการเผานี้ ให้ผู้เผาเป็นผู้พิจารณาเอาเองในแต่ละพื้นที่ ถ้าใช้เชื้อเพลิงใดจะสะดวกและประหยัดมากกว่าก็สามารถเลือกใช้วิธีนั้นได้
ส่วนอุณหภูมิในการเผาเตาควรอยู่ที่ระดับ 800-1,000 องศาเซลเซียส ถ้าเผาแบบเตาอุโมงค์จะใช้เวลาเผานานประมาณ 8-10 ชั่วโมง ถ้าเผาด้วยแกลบต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นมาอีกราว 24-36 ชั่วโมง เพื่อให้เตาได้รับความร้อนอย่างเต็มที่ หลังการเผาควรทิ้งเตาให้เย็นโดยใช้เวลาประมาณ 1 วัน จึงนำเตาออกมาบรรจุลงในถังสังกะสี ระหว่างการนำตัวเตาบรรจุลงในถังสังกะสี ต้องใช้ดินเหนียวผสมขี้แกลบอัตราดิน 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 10 ส่วน ยาขอบเตาให้แน่น เพื่อเตาจะได้ไม่เสียหายง่ายเวลาใช้งาน จากนั้นนำรังผึ้งที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในเตาตรงระดับที่กำหนดไว้ ใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบอัตราดิน 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 5 ส่วน ยาภายในเตารอบบริเวณที่รังผึ้งสัมผัสกับผนังเตา โดยทำทั้งด้านบนและด้านล่างของตัวเตา ก็จะได้เตาคุณภาพไว้ใช้และนำออกขายได้แล้ว
พูดถึงการทำตัวเตาแล้ว ส่วนประกอบสำคัญของการเป็นเตาคือ ต้องมีรังผึ้งใช้ถ่ายเทความร้อนจากด้านล่างสู่ด้านบน วิธีการทำรังผึ้งเตาซุปเปอร์อั้งโล่ มีความสำคัญต่อการประหยัดพลังงานไม่น้อย เพราะถ้าเจาะรูรังผึ้งไม่ดีจะมีผลต่อการดูดและการระบายอากาศของตัวรังผึ้ง ทำให้เตาให้ความร้อนช้ามีผลต่อการใช้พลังงานเชื้อเพลิง โดยการเจาะรูทำรังผึ้งจะมีเหล็กใช้เจาะที่ทำเป็นแบบไว้ก่อน มีเส้นผ่าศูนย์กลางของรู ประมาณ 14-15 มิลลิเมตร และลักษณะของรูจะต้องเป็นทรงกรวยคว่ำ ด้านบนรูมีขนาดเล็กกว่าด้านล่าง เพราะเมื่อปากเตาดูดอากาศเข้ามาก็จะส่งอากาศไปช่วยผลักดันให้เกิดความร้อนทางด้านบนได้มากขึ้น
วิธีการทำรังผึ้งก็นำดินเหนียวชนิดเดียวกันที่ใช้ทำตัวเตา มานวดผสมกับแกลบดำมากกว่าส่วนผสมที่ใช้ทำตัวเตาอีกเท่าตัว เมื่อนวดจนได้ที่ก็นำดินใส่ลงไปในแบบพิมพ์ใช้มือกดดินให้เต็มแม่พิมพ์ ปาดเอาดินส่วนเกินออกจากแม่พิมพ์ แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง โดยใช้เวลาราว 2-3 วัน จึงใช้แม่แบบมาเจาะรู จากนั้นจึงนำไปผึ่งลมทิ้งไว้อีก 2-4 วัน ก็นำรังผึ้งไปเผาจนสุก เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงในการใช้งาน แค่นี้เราก็ได้รังผึ้งมีคุณภาพมาใช้กับเตาซุปเปอร์อั้งโล่แล้ว
และเพื่อให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานของเตาประหยัดพลังงานนี้ จากข้อมูลงานวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผศ.ดร.พิสิษฐ์ เตชะรุ่งไพศาล ผู้จัดการโครงการสนับสนุนและเผยแพร่พลังงานในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า เตาซุปเปอร์อั้งโล่ที่ทีมนักค้นคว้าคิดประดิษฐ์ขึ้น สามารถลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้มากกว่าเตาธรรมดาทั่วไปถึงร้อยละ 29 เพราะให้พลังงานความร้อนมากกว่าเตาธรรมดาทั่วไป ทำให้ผู้ใช้เตาซุปเปอร์อั้งโล่ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถ่านเชื้อเพลิง และยังลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำไม้ทำเป็นถ่านให้ความร้อน
แต่ที่ผ่านมาการผลิตเตาอั้งโล่ออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปมีน้อย เพราะคนผลิตเตาไม่รู้จักเทคโนโลยีวิธีการผลิตเตาชนิดนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงพยายามนำเทคโนโลยีขยายเข้าสู่ผู้นำชุมชน เพื่อให้นำความรู้ไปเผยแพร่ร่วมกันผลิตเตาไว้ใช้เอง หรือผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อลดการใช้ก๊าซหุงต้มที่มีราคาแพง สำหรับผู้ต้องการทราบรายละเอียดขั้นตอนการผลิตเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ (045) 353-000-3 ต่อโครงการสนับสนุนและเผยแพร่พลังงานในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร หรือกับวิศวกรของโครงการ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 871-5774
ป้ายคำ : พลังงานทดแทน