พลังงานของครัวเรือนที่เราเลือกใช้จะเป็นพลังงานจากชีวมวลที่เราสามารถสร้างขึ้นใช้งานเองเป็นหลัก และเลือกนำของเหลือใช้ได้แก่น้ำมันพืชใช้แล้วมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเตาน้ำมันพืชเก่า
ซึ่งที่ผ่านมามีขนาดของห้องเผาไหม้เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ให้ความร้อนสูงแต่เปลืองเชื้อเพลิง เราจึงปรับรูปแบบการใช้งานที่ใกล้เคียงกับแก๊สหุงต้ม โดยลดขนาดของงห้องเผาไหม้ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ทำเป็นเตาน้ำมันพืชเก่าเล็ก
หลักการของเตาน้ำมันพืชใช้แล้ว ใช้หลักการพื้นฐานของการเผาไหม้ คือ เชื้อเพลิง อากาศ และความร้อน
การนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาเป็นเชื้อเพลิง แต่น้ำมันพืชมีความหนืดสูงและติดไฟยาก จึงต้องอุ่นให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้น แล้วใช้อากาศจำนวนมากในรูปแบบแรงลมช่วยให้น้ำมันกระจายตัวเผาไหม้ได้ดีขึ้น
ส่วนประกอบของเตาน้ำมันพืชใช้แล้ว
- ชุดเตา ตัวเตาผนังเตา เป็นห้องเผาไหม้ให้ความร้อนออกมา
- ชุดเติมเชื้อเพลิง ต่อท่อน้ำมันลงในเตาให้เหมาะสมกับการเผาไหม้ โดยมีชุดควมคุมปริมาณการไหลของน้ำมัน
- ชุดเติมอากาศ ใช้พัดลมเป่าอากาศให้กระจายทั่วทั้งเตา ช่วยเร่งการเผาไหม้
วิธีทำ
- ใช้ท่อเหล็กหนา 6 มิลลิเมตรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้วนำมาตัดให้สูง 11 ซม. เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว ด้านข้างให้สูงจากพื้น 1 ซม.
- นำแผ่นเหล็กหนา 10×10 นิ้ว มาเจาะรูตรงกลางขนาด 3/4 นิ้ว แล้วเชื่อมข้อต่อโลหะบนรูที่เจาะ นำท่อเหล็กที่ตัดไว้เชื่อมติดกับแผ่นเหล็กเป็นตัวเตา แล้วใช้นิปเปิลโลหะใส่ในรูเตาเชื่อมติดให้สนิท ต่อท่อปลายหางปลาเข้ากับนิปเปิล ทำเป็นห้องเผาไหม้
- นำถังน้ำยาแอร์มาผ่าครึ่ง ตัดส่วนบนเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2นิ้ว ด้านข้างให้สูงจาก 1 ซม. นำวางเชื่อมติดกับชุดห้องเผาไหม้ โดยใช้รูที่เจาะตรงกับปลายท่อที่ต่อไว้ ทำเป็นผนังเตากันความร้อน ทำบ่ารับด้านบนเป็นที่ล็อกแท่นรองภาชนะ
- ตัดเหล็กฉาก1×1นิ้ว ยาว 10,20 ซม. เชื่อมติดกับแผ่นเหล็ก 4 ด้าน ที่มีปลายติดอยู่ทำเป็นขาเตา และอีกสองด้านทำแท่นรับกล่องเชื้อเพลิง เจาะรูสำหรับยึดกล่องเชื้อเพลิง ใช้ข้องอเกลียวนอกใน 3/4 นิ้วใส่เข้ากับรูด้านล่างเตาที่เจาะไว้เชื่อมติดให้แน่น
- นำเหล็กกล่องขนาด 3×3นิ้ว ยาว 25 ซม. ตัดและเชื่อมปิดหัวท้าย เจาะรูขนาด 1/2 นิ้วห่างจากหัวกล่อง3 ซม.ใส่นิปเปิลในรูแล้วเชื่อมให้ติดกันเป็นช่องเติมน้ำมัน เจาะรูขนาด1/2นิ้ว ใส่ข้องอโลหะแล้วเชื่อมติดกันเป็นทางออกน้ำมัน นำเหล็กกล่องมาเชื่อมติดกับแท่นเหล็กฉาก
- ขัดแต่งผิวโลหะทั้งหมด แล้วพ่นสีทนร้อนให้ทั่ว รอจนแห้งสนิท
- นำท่อเหล็ก 1/2 นิ้วยาว 8 ซม. เชื่อมปิดปลายด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งทำเป็นเกลียว เจาะรู 2 มม. 8 รู ด้านบน 1 แถว ด้านล่าง 4 รู 1แถว เป็นท่อระบายลมในเตา แล้วนำไปประกอบเข้ากับข้อต่อกลางเตา
- ต่อข้องอ 1/2 นิ้วกับปลายท่อเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ ต่อวาวล์เข้ากับกล่องเชื้อเพลิงให้ตรงกับข้องอ
- ใช้ท่อเหล็ก 3/4 นิ้ว ยาว 30 ซม. ทำเกลียวด้านหนึ่ง แล้วนำไปต่อกับข้องอใต้เตา
- เตรียมพัดลมหอยโข่ง 12v ต่อวงจรไฟฟ้าให้ตัวเร่งความแรงลม เปิดสวิตช์ทดสอบ
วิธีใช้งาน
- นำน้ำมันพืชใช้แล้ว เทใส่ในกล่องเชื้อเพลิง และใส่ในเตาให้เต็มพื้นเตา
- ใส่กระดาษ / วัสดุติดไฟง่ายลงในตัวเตา แล้วจุดไฟ รอให้ไฟติดครึ่งเตา
- นำพัดลมหอยโข่ง 12v ต่อไฟฟ้าให้ครบวงจร แล้วนำปลายท่อลมออกใส่เข้ากับท่อลมเข้าเตา เปิดสวิตช์ ปรับเร่งความแรงลมตามความต้องการ
- เปิดวาวล์น้ำมันเพื่อเติมเชื้อเพลิงให้หล่อเลี้ยงเปลวไฟสม่ำเสมอ ปริมาณน้ำมันจะสัมพันธ์โดยตรงกับแรงลมและความร้อนในเตา ถ้าต้องการไฟแรงจะใช้แรงลมและน้ำมันมากตามกันไป
เตาน้ำมันพืชเก่าใช้เวลาในการจุดไฟติดนานระดับหนึ่ง คือ 1-3 นาที ความร้อนที่ได้ เป็นความร้อนสูง มีเปลวไฟสีน้ำเงิน ใกล้เคียงกับเตาแก๊ส และภาชนะจะไม่มีเขม่าสีดำติด ใช้งานเตาน้ำมันพืชเก่า 1 ชั่วโมงจะใช้ปริมาณน้ำมันพืชเก่าโดยประมาณครึ่งลิตร
เตาน้ำมันพืชเก่า เตาที่ใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นเชื้อเพลิง เขม่าน้อย ร้อนเร็ว ร้อนแรง ประหยัดและพึ่งตนเองได้