เปล้าน้อย (Croton sublyratus Kurz) หรือเรียกตาม ชื่อพื้นบ้านอีสานว่า เป้าตัวผู้ จัดเป็นพืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทย พบขึ้นกระจายทั่วไปในประเทศไทย พบในป่าหลายแห่งแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแห้งแล้ง
มีการระบุไว้ในสมุดข่อยโบราณว่าเปล้าทั้งสอง (คนโบราณมักจะเรียกควบกันว่า เปล้าน้อย และ เปล้าใหญ่) มีสรรพคุณโดยใช้ใบในการบำรุงธาตุ ใช้ดอกแก้พยาธิ ลูกดองสุรากินขับโลหิตระดูในเรือนไฟ เปลือกและกะพี้ช่วยย่อยอาหาร แก้เลือดร้อน แก่นขับเลือดหนองให้ตกและขับไส้เดือน รากขับผายลม
ตามตำรายาไทย เปล้าน้อย มีสรรพคุณดังนี้ เปลือกต้น ช่วยย่อยอาหาร แก่น กระจายลม ใบ บำรุงธาตุ เปลือกและใบรักษาโรคท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน นอกจากนี้ยังพบว่าเปล้าน้อยมีฤทธิ์ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหารและรักษาแผลเรื้อรังในลำไส้ รวมถึงแผลพุพองตามบริเวณต่างๆได้ดีโดยความเป็นพิษและผลข้างเคียงต่ำ ที่อาจพบได้บ้างคือ อาการไม่สบายท้อง ผื่นคันที่ผิวหนัง ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหารรุนแรงเพียงใช้ใบสดหรือใบแห้งสองสามใบชงน้ำดื่มในลักษณะเดียวกับชงน้ำชาดื่ม โรคกระเพาะ ก็จะหายได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าดื่มเข้มข้นมากๆมีรสขม
ใบเปล้าน้อยที่ปลูกในประเทศไทยมีสาร เปลาโนทอล (Plaunotol) ซึ่งเป็น diterpene alcohol มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะ อาหารดีมาก กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลหายเร็ว มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดการหลั่งกรด ยับยั้งการเจริญของเชื้อ H.pyroli ในสัตว์ทดลองและการศึกษา in vitro แต่ต้องสกัดและทำเป็นยาเม็ด (Kelnac)
เปล้าน้อย เป็นพืชสมุนไพรของไทยชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Croton stellatopilosus Ohba. และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์เดิมว่า Croton sublyratus Kurz.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton stellatopilosus Ohba
ชื่อพ้อง : Croton sublyratus Kurz
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : เปล้าท่าโพ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ลักษณะ
ต้นเปล้าน้อย เป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงประมาณ 2 – 3 เมตร อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae พบอยู่ตามป่าเบญจพรรณ เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน พื้นที่ดินร่วนถึงดินปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ในประเทศไทยพบได้ในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี นครพนม กาญจนบุรี เป็นต้น ใบของเปล้าน้อยมีลักษณะต่างกันเล็กน้อยตามชนิดพันธุ์ แต่ลักษณะโดยรวมเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปร่างของใบคล้ายใบหอก คือ โคนใบสอบแคบ กลางใบกว้าง แล้วเรียวแหลมลงไปที่ปลายใบ ขอบใบจักเล็กๆ ไม่สม่ำเสมอ ผิวใบมีขนสีสนิมและจะหายไปเมื่อใบแก่จัด
ในสภาพธรรมชาติ เปล้าน้อยเป็นไม้ผลัดใบในช่วงหน้าแล้ง โดยจะเริ่มพักตัวในช่วงที่อากาศเริ่มเย็น ใบจะทยอยแห้งและร่วงหมดต้นในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างตาดอกช่วงปลายฝนต่อฤดูหนาว
- ดอก – ขนาดเล็กออกเป็นช่อโดยมีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน
- ผล – มีขนาดเล็กลักษณะเป็นพู 3 พูอยู่ด้วยกัน ผลจะพัฒนาจนแก่จัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
- เปลือกผล – เมื่อแห้ง มีสีน้ำตาลและแตกออกง่ายเมื่อถูกกระทบกระเทือนหรือถูกความชื้น ทำให้เมล็ดภายในแต่ละพูหลุดออกจากผลแห้ง ใน 1 พูมีเมล็ด 1 เมล็ด
- เมล็ด – ขนาดกว้าง 2 – 3 มิลลิเมตร ยาว 3 – 4 มิลลิเมตร ลักษณะผิวเรียบสีน้ำตาล มีลายเส้นตามแนวยาวสีขาวหนึ่งเส้น
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ต้มน้ำดื่มตอนอุ่น แก้โรคกระเพาะอาหาร
ตำรายาไทย ใช้ ใบ รสร้อน แก้คันตามตัว รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี ในใบมีสารสำคัญคือ เปลาโนทอล (plaunotol) ทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะน้อยลง และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร การใช้สารควรใช้ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นถึง 80-90% อาจมีอาการข้างเคียงบ้างคือ ผื่นคัน ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก ผล รสร้อน ต้มน้ำดื่ม ขับหนองให้กระจาย ดอก เป็นยาขับพยาธิ เปลือกต้น รสร้อน ช่วยย่อยอาหาร เปลือกและใบ รักษาโรคท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน รักษาโรคผิวหนัง ราก รสร้อน แก้ลมขึ้นเบื้องบนให้เป็นปกติ แก่น รสร้อน ขับโลหิต แก้ช้ำใน
ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ ใบ แก่น ดอก เปลือก รักษาอาการไอ ขับเสมหะ รักษาแผล สมานแผล
ในแปลงปลูก ที่มีระบบน้ำที่เพียงพอ หรือในปีที่มีช่วงฤดูฝนค่อนข้างยาว เปล้าน้อยจะชะลอการออกดอก และมีใบเขียวเป็นระยะเวลานานขึ้น สิ่งสำคัญเกี่ยวกับน้ำอีกอย่างคือ เปล้าน้อยไม่ชอบน้ำท่วมขังนานๆ เพราะจะเกิดอาการรากเน่าได้ง่าย ดังนั้นเปล้าน้อยจึงไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่จะมีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกฤดูฝน หรือพื้นที่ที่การระบายน้ำไม่ดี หรือมีน้ำใต้ดินมากเกินไป
สารสกัดจากเปล้าน้อยที่สำคัญชนิดหนึ่งคือ เปลาโนทอล (อ่านว่า เปลา-โน-ทอล) มีคุณสมบัติในการรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง นอกจากนี้สารเปลาโนทอลยังมีคุณสมบัติในการช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุกระเพาะอาหารขึ้นใหม่ จึงมีผลให้แผลที่เยื่อบุกระเพาะอาหารหายเร็วขึ้น
การปลูกเปล้าน้อย
เนื้อหาเกี่ยวกับการปลูกเปล้าน้อยในบทความนี้ นำเสนอข้อมูลทั่วไปเป็นภาพรวมของการปลูกเปล้าน้อย ทั้งแบบการปลูกจำนวนไม่กี่ต้นในพื้นที่เล็กๆ การปลูกแซมในแปลงสมุนไพรแบบผสมผสาน ไปจนถึงการปลูกในแปลงขนาดปานกลาง สำหรับพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ รวมถึงการปลูกระดับอุตสาหกรรมจะต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยด้านการจัดการที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เป็นแห่งๆ ตามความจำเป็น ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้
เปล้าน้อยเป็นต้นไม้ที่มีความสูงปานกลาง สามารถปลูกเพื่อให้ทั้งร่มเงาและมีประโยชน์ทางสมุนไพร ขนาดพื้นที่ที่ต้องการสำหรับหนึ่งต้นคือ ประมาณ 2 x 2 เมตรหรือเล็กกว่านี้ไม่มาก จะทำให้ได้ทรงพุ่มที่กำลังดี
สำหรับการปลูกเป็นแปลงขนาดตั้งแต่ 4 ไร่ขึ้นไปจนถึงแปลงขนาดใหญ่เพื่อการเก็บผลผลิตแบบอุตสาหกรรมนั้น ระยะปลูกที่แนะนำคือ 2 x 3 เมตร เพื่อให้สามารถนำเครื่องจักรเข้าทำงานภายในพื้นที่ปลูกได้
การปลูกประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ การเตรียมพื้นที่ปลูก, การเตรียมหลุมปลูก และ การลงต้นกล้า ด้านการดูแลแปลง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ การให้ปุ๋ย, โรคและแมลงศัตรูพืช, และวัชพืช
การเตรียมพื้นที่ปลูก
- ไม้ป่าประจำถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่แปลงมาก่อน ถ้าอยู่ในบริเวณที่จะไม่รบกวนการเจริญเติบโตของเปล้าน้อยก็ควรเก็บไว้ ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนจนโล่งเตียน เพราะไม้เดิมจะช่วยสร้างระบบนิเวศน์ของสวนเปล้าได้ดี รวมทั้งช่วยให้ต้นกล้าเปล้าน้อยตั้งตัวได้ดีขึ้น มีอัตรารอดสูงขึ้น โดยเฉพาะถ้าได้ต้นกล้าขนาดเล็กกว่า 50 ซม. มาปลูก หลังจากที่เปล้าน้อยเจริญเติบโตได้ดีมีอายุประมาณ 4 เดือนหรือสูงประมาณ 1 เมตร อาจทำการตัดแต่งไม้ใหญ่ๆ ของเดิมลงบ้าง เพื่อไม่ให้ทอดเงามาบดบังแถวปลูกต้นเปล้าน้อย หรือแย่งน้ำอาหารจนเกินไป
- สำหรับแปลงปลูกที่เป็นที่ราบลุ่มหรือที่เนินควรได้รับการไถพรวนสักครั้ง แล้วปรับแนวของแถวและร่องตามที่กำหนด ควรทำให้เสร็จภายในฤดูแล้งก่อนฝนมา อย่างช้าที่สุดภายในต้นฝน เพราะการลงต้นกล้าในช่วงฤดูฝนจะมีอัตรารอดสูงกว่า ยกเว้นว่าในพื้นที่นั้นมีระบบชลประทานค่อนข้างดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ปัจจัยเรื่องฤดูกาลก็ไม่ใช่ปัญหาหลัก
- แปลงปลูกในพื้นที่ลุ่ม อาจจำเป็นต้องปรับความสูงของแถวปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันปัญหารากเน่าในฤดูฝนถ้าน้ำมาก และไม่ควรปล่อยให้มีน้ำท่วมขังอยู่ในแนวร่องระหว่างแถว
- แสงเป็นปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตของต้นเปล้าน้อย เมื่อวางแผนการปลูก ให้วางแนวแถวและร่องตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ เพื่อให้แสงเข้าทรงพุ่มมากที่สุด
- ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเจริญเติบโตอีก 2 อย่างคือ ความแห้งแล้ง และวัชพืช ในระหว่างสองปัจจัยนี้ ความแห้งแล้งจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของการปลูก ดังนั้นในระยะย้ายกล้าลงปลูกในแปลงใหม่ๆ ถ้ามีวัชพืชขึ้นเต็มแถวปลูกหรือร่องแถวอยู่บ้าง ให้ปล่อยวัชพืชรอบนอกของหลุมปลูกไว้ก่อนเพื่อให้ช่วยคลุมดินบริเวณนั้นไม่ให้ถูกแดดมาก ป้องกันการสูญเสียความชื้นในช่วงที่ต้นกล้ากำลังตั้งตัว ถึงภัยแล้งจะแก้ไขยาก แต่ก็มีวิธีป้องกันคือ เตรียมพื้นที่ปลูกให้พร้อมแต่เนิ่นๆ ก่อนฝนมา เมื่อฝนลงได้ 2-3 ครั้งก็ลงมือปลูกได้ทันที
การเตรียมหลุมปลูก
- หลุมปลูกไม่ต้องทำเป็นหลุมขนาดใหญ่ แต่เตรียมความกว้างให้ได้ขนาดใกล้เคียงกับขนาดของภาชนะปลูกหรือถุงชำที่ใส่ต้นกล้ามา และกะความลึกให้มีดินกลบผิวหน้าของตุ้มดินประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร
- รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมี อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ถ้าใส่ปุ๋ยคอกอย่างเดียวให้ใส่มากขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะปุ๋ยคอกเป็นทั้งอาหารและช่วยดูดความชื้นให้ดินร่วนซุย ช่วยให้ต้นกล้าเปล้าน้อยไม่ชะงักการเจริญเติบโตหลังจากย้ายปลูก อัตราที่แนะนำคือ ปุ๋ยคอก 0.5 – 1 กิโลกรัม/หลุม
การลงต้นกล้าเปล้าน้อย
- ต้นกล้าที่ได้มา ถ้าทำได้ควรทำการปรับสภาพต้นกล้าในบริเวณที่จะลงปลูกอย่างน้อยหนึ่งวัน จะช่วยเพิ่มอัตรารอดได้ดีขึ้น
- เมื่อขนส่งต้นกล้ามาถึงพื้นที่ปลูก ควรรดน้ำโคนต้นกล้า (ตุ้มดิน) ให้ชุ่มแล้ววางไว้ในบริเวณแปลงหรือใกล้ๆ แปลงปลูก ถ้ามาถึงช่วงกลางวันหรือบ่ายที่มีแดดจัด ควรให้พักในบริเวณร่มเงารำไร กรณีที่ส่งมาถึงช่วงเช้าแล้วต้องการลงปลูกทันที ควรรดน้ำให้ตุ้มดินชื้นพอหมาดๆ ก่อนลงปลูก
- ถอดตุ้มดินของต้นกล้าออกจากภาชนะปลูก หรือฉีกถุงชำออก วางตุ้มดินให้ลำต้นตั้งกลางหลุม ตั้งตรงชี้ฟ้า ระดับของดินที่กลบปากหลุมควรสูงกว่าระดับดินเดิมที่มากับต้นกล้าประมาณ 1 – 2 ซม. ถ้าหน้าดินบางเกินไปความชื้นในถุงชำจะระเหยออกไปได้ง่าย ต้นกล้าจะเฉา แต่ถ้าหน้าดินหนาเกินไป โคนต้นจะเปื่อยง่าย เรียกว่าเป็นอาการของต้นไม้สำลักดินตาย
- หากต้นกล้าที่นำลงปลูกตายภายใน 2 เดือน ควรปลูกซ่อมทันที ด้วยต้นกล้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเดิม
- การสังเกตผลของการย้ายปลูกว่าต้นกล้าเปล้าน้อยตั้งตัวได้หรือไม่ คือใบไม่เหี่ยวเฉาแห้งตายหลังจากลงปลูกได้ 2 – 3 สัปดาห์ อาจมีอาการใบสลด หรือใบแห้งร่วงทิ้งไปบ้างแต่ใบที่เหลือต้องยังคงเขียวอยู่ ไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือแห้งกรอบ ปลายยอดสูงสุดของต้นไม่แห้งกรอบ ลำต้นยังมีความชื้น และเนื้อไม้ของลำต้นยังเขียวอยู่ ถ้าพบว่ามีการแตกใบใหม่ด้วยยิ่งเป็นเรื่องดี แสดงว่ามีรากเกิดใหม่และต้นกล้าปรับตัวได้
- หลังจากลงกล้าเปล้าน้อยไปแล้ว 3 สัปดาห์ ถ้าพบว่าใบยังเขียวอยู่แต่ใบนิ่ม หรือค่อนข้างเฉา แสดงว่าความชื้นไม่พอ (เช่น ถ้าฝนทิ้งช่วงหลายวัน) หรือระยะนั้นแดดแรงเกินไป อาจต้องช่วยประคับประคองด้วยการรดน้ำลงบนหน้าดินบริเวณใกล้กับโคนต้นในตอนเช้าหรือเย็นเพิ่มให้อีกหนึ่งรอบ
การดูแลแปลงปลูกเปล้าน้อย
การให้ปุ๋ยและการตัดแต่ง
- การให้ปุ๋ย จะให้เฉพาะในช่วงที่มีฝนขณะที่ดินมีความชื้น เพราะปุ๋ยจะสลายง่าย ต้นเปล้าน้อยจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็ว หากดินแห้งมาก ไม่ควรจะให้ปุ๋ยเพราะต้นเปล้าน้อยจะดูดซึมธาตุอาหารไปได้น้อย
- สูตรปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้โดยทั่วไปให้ทุก 3 เดือนในอัตรา 30 – 50 กรัม/หลุม/ต้น โดยขุดหลุมลึกประมาณ 1 หน้าจอบ ให้พ้นบริเวณรัศมีของปลายราก ต้นละ 1 หลุม หยอดปุ๋ยแล้วกลบ
- ลักษณะผิดปกติของใบเปล้าน้อยจากการขาดธาตุอาหารบางอย่าง จะพบไม่บ่อยนักหรือมีอาการไม่รุนแรงในแปลงปลูกที่มีการดูแลให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ หรือแปลงที่ปลูกเปล้าน้อยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในแปลงปลูกที่เริ่มใหม่ซึ่งใช้ดินจากหลายๆ แหล่งมาถมพื้นที่ อาจมีปริมาณธาตุอาหารที่สะสมมาแตกต่างกัน การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารจากตัวอย่างดินที่สุ่มตรวจในครั้งแรกอาจไม่ทั่วถึง อาการขาดธาตุอาหารจึงมีให้เห็นเป็นหย่อมๆ เป็นครั้งคราว ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุและแก้ไขตามวิธีมาตรฐานทั่วไป
- การตัดแต่งทรงพุ่ม ควรทำเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นฝน เมื่อเห็นว่าต้นเปล้าน้อยเริ่มผลิใบอ่อนแล้วระยะหนึ่ง ควรตัดกิ่งก้านที่แห้งตาย และกิ่งที่เจริญเข้าภายในพุ่มออกไปไม่ให้ระเกะระกะ เนื่องจากเมื่อใบเจริญเต็มที่จะทำให้ภายในพุ่มทึบเกินไปจนอากาศถ่ายเทไม่ดี และแสงผ่านเข้าไปน้อย
- ส่วนของลำต้นจากพื้นดินขึ้นมาประมาณ 0.5 – 1 เมตร ควรปล่อยให้เป็นลำต้นโล่งๆ โดยตัดกิ่งก้านที่อาจแตกใหม่ออกเพื่อให้โคนต้นไม่สะสมความชื้น จำกัดความสูงของต้นไว้ที่ 1.5 – 1.8 เมตร เพื่อให้สะดวกในการเก็บใบ แต่อาจปล่อยให้สูงกว่านี้ได้ไม่ควรเกิน 2 เมตรถ้าต้องการปลูกเพื่อให้ร่มเงา หรือถ้าสามารถเก็บผลผลิตได้สะดวกที่ระดับความสูงนี้
โรคและแมลงศัตรูพืช
- เปล้าน้อยเป็นพืชที่มีแมลงศัตรูพืชและโรครบกวนค่อนข้างน้อย อาจพบแมลงหรือหนอนแมลงบางชนิดเข้าทำลายใบเปล้าน้อยเป็นครั้งคราว แต่ปกติจะไม่ค่อยพบการระบาดที่จะทำให้เกิดความเสียหายทั้งแปลง
- – บางครั้งอาจพบแมลงบางชนิดเข้าอาศัยบนต้นเปล้าน้อยเป็นจำนวนมาก ในบางฤดูกาล แต่มักจะเป็นเฉพาะที่ต้นใดต้นหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ดีควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ใช่แมลงศัตรูพืช
- โรคที่เกิดกับต้นเปล้าน้อย ส่วนใหญ่เป็นโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักจะพบในช่วงที่ฝนตกชุก บริเวณร่องปลูกมีน้ำขัง มีความชื้นในแปลงค่อนข้างสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจพบในลักษณะเปื้อนของกลุ่มเชื้อราที่บริเวณเปลือกโคนต้น หรือมีอาการใบเป็นจุดแผลแห้งๆ ถ้าอาการไม่มากอาจหายได้เองเมื่อฝนทิ้งช่วงนานหรือหมดฝน หลังจากนั้นใบที่เป็นโรคจะแห้งและร่วงทิ้งก่อนปกติ ผู้ดูแลควรเก็บรวบรวมใบที่ร่วงเหล่านี้ออกจากแปลงและเผาทำลาย เพื่อลดการสะสมเชื้อในแปลง
- ถ้ามีอาการของโรคมากและคาดว่าจะแพร่กระจายวงกว้างอาจจำเป็นต้องใช้สารเคมีประเภทกำจัดเชื้อราเข้าช่วย ซึ่งในกรณีนี้ควรงดการเก็บใบเปล้าน้อยจากต้นที่พ่นยาและบริเวณใกล้เคียงไปบริโภคเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน อีกทางเลือกหนึ่งคือการตัดกิ่งที่มีโรคออกไปเผาทำลาย แล้วถือโอกาสแต่งทรงพุ่มให้โปร่งโล่งกว่าเดิมเพื่อให้รับแดดมากขึ้น ใช้ปูนแดงหรือยากันราทาที่แผลรอยตัด และงดการเก็บใบจากต้นดังกล่าว
- นอกจากนี้ในช่วงฝนชุก ต้นกล้าเปล้าน้อยในแปลงหรือเรือนเพาะชำ อาจพบว่า ที่ผิวด้านบนใบของกล้าเปล้าน้อยเกิดมีปุ่มปมนูนๆ ลักษณะขรุขระ ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อใบขยายตัวเป็นย่อมๆ โดยไม่มีแผลหรือสีใบเปลี่ยน การกระจายของปุ่มปมอาจมีมากหรือน้อยแล้วแต่ต้น และสามารถรุกลามติดต่อจากต้นหนึ่งไปยังต้นอื่นๆ ได้ อาการนี้พบบ่อยในแปลงเพาะ หรือเรือนอนุบาลต้นอ่อนที่จัดวางต้นกล้าชิดติดหนาแน่นเกินไป ทำให้เกิดความอับชื้นสะสม และรับแสงแดดไม่ทั่วถึง ควรจัดระบบการวางต้นกล้าให้มีระยะห่างระหว่างต้นหรือแถวมากขึ้นเพื่อระบายความชื้นบริเวณโคนต้น ปรับปรุงการถ่ายเทอากาศในโรงเรือนอย่าให้อับชื้น ปรับระดับแสงแดดที่ผ่านลงมาภายในโรงเรือนให้ทั่วถึงมากขึ้น การระบาดจะหายได้เองเมื่อฝนทิ้งช่วงหรือโรงเรือนแห้งพอเหมาะ สังเกตได้จากใบที่แตกใหม่จะไม่มีอาการของโรคอีก แต่ใบที่มีอาการนี้ไปแล้วจะไม่กลับสู่สภาพปกติ และไม่ควรเก็บไปบริโภค
- กรณีที่สังเกตเห็นว่าต้นเปล้าน้อยต้นใดต้นหนึ่งมักจะถูกแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายอย่างหนัก หรือมีอาการของโรคค่อนข้างมากเป็นประจำทุกปี ควรทำการขุดถอนต้นนั้นออกไปเผาทำลาย เพราะอาจเป็นต้นที่อ่อนแอหรือมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อการเจริญของโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการกระจายของโรคที่รุนแรงขึ้น หรือเป็นแหล่งอาศัยของแมลงพาหะอื่นๆ ภายในแปลงปลูกได้
- ข้อควรทราบอีกประการคือ เปล้าน้อยเป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่ปลูกในประเทศไทย ดังนั้นโรคพืชและแมลงศัตรูพืชของพืชพันธุ์ในวงศ์นี้ จึงมีโอกาสที่จะติดต่อมาสู่แปลงเปล้าน้อยได้ เช่น ในการปลูกสมุนไพรแบบผสมผสาน เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลการระบาดที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงในแปลงปลูกทดลองต่างๆ แต่ก็ไม่ควรประมาท การจัดการควบคุมโรคและแมลงจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
วัชพืช
- วัชพืชในแปลงเปล้าน้อย ในแหล่งปลูกแต่ละท้องถิ่นจะมีหลายชนิดแตกต่างกันไป วิธีปราบวัชพืชทำได้หลายวิธี ที่สะดวก เร็ว และประหยัดแรงงานที่สุดก็คือ การใช้สารเคมีปราบวัชพืช แต่เป็นวิธีที่อันตรายที่สุด ทั้งต่อผู้ใช้และต่อระบบนิเวศน์ของสวน ตลอดจนสภาพแวดล้อมของป่าโดยรวม ฉะนั้นหากไม่เป็นการสุดวิสัยจริงๆ แล้วไม่ควรใช้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าแปลงปลูกอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ ถ้าจะมีการเก็บผลผลิตใบเปล้าน้อยไปใช้บริโภค ก็ต้องเว้นระยะเวลาห่างจากการใช้ยาปราบวัชพืชตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัดด้วย
- อีกทางเลือกในการปราบวัชพืชที่ได้ผลคือ การป้องกันไว้ก่อนด้วยการปลูกพืชคลุมดิน เช่นพืชตระกูลถั่ว วิธีนี้ได้ผลดีมาก สามารถป้องกันวัชพืชได้อย่างชะงัด
- การปราบวัชพืชให้ทำตามสภาพความจำเป็น บริเวณใดรกก่อนก็ทำการถางไปก่อน ตรงไหนไม่รกก็ยังไม่ต้องถาง ถ้าเตรียมพื้นที่ไว้ดีร่วมกับการปลูกพืชคลุมดินอาจใช้เครื่องตัดหญ้าช่วยทุนแรงอีกทางหนึ่งได้ เมื่อถึงรอบใส่ปุ๋ย จึงทำการถางใหญ่พร้อมกันทีเดียว
การเก็บผลผลิตและการนำไปใช้
- การเก็บใบเปล้าน้อยเพื่อสกัดตัวยาเปลาโนทอล เริ่มทำได้เมื่อต้นเปล้าน้อยมีอายุอย่างน้อย 2 ปี วิธีเก็บคือ ตัดช่อใบจากส่วนยอดของแต่ละกิ่ง นับจากปลายยอดลงมาไม่เกินใบที่ 10 หรือ ยาวไม่เกิน 6 นิ้ว ผึ่งลมในที่ร่มให้แห้ง แล้วบรรจุภาชนะส่งโรงงาน ในหนึ่งปีสามารถเก็บผลผลิตซ้ำต้นเดิมได้ 3 ครั้งถ้ามีการบำรุงดูแลที่ดี
- การเก็บใบเปล้าน้อยเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ไม่จำเป็นต้องเก็บทีละมากๆ เหมือนกับเก็บส่งโรงงาน เนื่องจากการเก็บล่วงหน้าไว้นานๆ จะต้องทำใบเปล้าน้อยให้แห้งโดยอบด้วยตู้ลมร้อนควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งอาจไม่สะดวกที่จะทำกันในแต่ละบ้าน ถ้าปลูกอยู่ในบริเวณบ้านอยู่แล้ว จะใช้เมื่อไรก็ไปตัดเอาเมื่อนั้น
- ผลการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ พบว่าในต้นเปล้าน้อยนั้นมีสารเปลาโนทอลในเกือบทุกส่วนของต้นในปริมาณมากน้อยต่างกัน ส่วนที่มีสารสำคัญนี้สูงสุดคือ ใบที่อยู่บริเวณปลายช่อซึ่งได้รับแสงแดด ดังนั้นการเก็บใบมาใช้จึงนิยมเก็บเฉพาะช่อใบบนปลายกิ่งดังกล่าวมาข้างต้น ถ้าเก็บมาใช้เองก็เด็ดเอาเฉพาะใบที่อยู่ในช่วงความยาว 5 – 6 นิ้ว เท่านั้นไม่ต้องเอาก้าน ใบที่แก่จะมีสารเปลาโนทอลน้อยกว่าใบอ่อนและใบกึ่งอ่อนกึ่งแก่
- การบริโภคใบเปล้าน้อย มีทั้งแบบใช้เป็นอาหาร เช่น ทานกับน้ำพริก หรือใช้ใบสดชงเป็นชาสมุนไพรดื่ม แต่มีข้อจำกัดคือ โดยธรรมชาติปริมาณสารเปลาโนทอลในใบเปล้าน้อยมีอยู่ค่อนข้างต่ำ และใบเปล้าน้อยมีรสขมมาก จึงทำให้ทานครั้งละมากๆ ไม่ค่อยได้ ดังนั้นการทานเปล้าน้อยเป็นประจำทุกวัน จะไม่ทำให้ผู้ทานได้รับปริมาณสารเปลาโนทอลมากเพียงพอต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงหรือเฉียบพลัน เหมือนกับการใช้ยาเปลาโนทอลในรูปเม็ดสำเร็จซึ่งแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้เนื่องจากสารเปลาโนทอลที่บรรจุในยาแต่ละเม็ดนั้น ได้มาจากการสกัดใบเปล้าน้อยสดจำนวนหลายกิโลกรัม
- การบริโภคใบเปล้าน้อยในรูปแบบอาหารหรือชาสมุนไพร ไม่เพียงพอที่จะใช้รักษาอาการป่วยแบบเฉียบพลันหรือใช้ทดแทนการรักษาโดยแพทย์ แต่สามารถใช้เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพระยะยาว เพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ลดการกำเริบของโรค ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้ การรักษาจะได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยที่มีอยู่ด้วย เพื่อมิให้อาการป่วยกำเริบหนักขึ้นหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก
ที่มา
โครงการจัดทำ ฐานข้อมูลสมุนไพรไทยเขตอีสานใต้ คณะ เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย