ถั่วงอกเป็นผักเศรษฐกิจที่น่าสนใจ นอกจากเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีโปรตีน วิตามินและเกลือแร่เป็นผักชนิดเดียวที่ใช้เวลาเพาะเพียง 3 – 4 วัน แต่พบว่าถั่วงอกส่วนใหญ่ที่จำหน่ายนั้นมีสารเคมีปนเปื้อน เพราะผู้ขายต้องการสนองตลาดผู้บริโภคที่ชอบถั่วงอกที่มีความกรอบขาว และอวบอ้วน นอกจากนี้ผู้ขายยังต้องการเร่งการงอกของถั่ว การรักษาถั่วงอกให้คงความสดอยู่นานระหว่างการขนส่งสู่ตลาด และการรอจำหน่ายสู่ลูกค้า
ดังนั้นผู้ผลิตจึงใช้สารเคมีจำพวกสารเร่ง สารอ้วน สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) สารคงความสด (ฟอร์มาลิน) ซึ่งสารเคมีเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหาร เพราะล้วนเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายสูง หากรับประทานเข้าไปอาจจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ ระบบประสาทและอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
ปัจจัยที่สำคัญที่การเพาะถั่วงอก คือ
- เมล็ดถั่ว
เมล็ดถั่วที่นำมาเพาะเป็นถั่วงอกที่นิยมบริโภคที่สุดคือ เมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วเขียวที่สามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกนั้นมี 2 พันธุ์ คือ ถั่วเขียวผิวมัน (เปลือกเมล็ดสีเขียว) และเมล็ดถั่วเขียวผิวดำ เมล็ดจะต้องใหม่ไม่เก่าเก็บเพราะอัตราการงอกจะลดลงเรื่อยตามระยะเวลาที่เก็บไว้ เมล็ดต้องสะอาด ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ และจำนำเมล็ดมาทำความสะอาดอย่างดีก่อนเพาะ โดยการแช่เมล็ดถั่วในน้ำอุ่น 50 – 60 องศาเซลเซียส (พอใช้มือสัมผัสได้) หรือผสมน้ำเดือดจัด 1 ส่วน กับน้ำเย็น 1-3 ส่วน แช่ทิ้งไว้จนน้ำเย็น แล้วแช่ต่อไปนาน 6 – 8 ชั่วโมง วิธีนี้นอกจากจะฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังกระตุ้นให้ถั่วงอกงอก ได้เร็วขึ้นด้วย เมล็ดพันธุ์ถั่วต้องดี มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง สายพันธุ์ถั่วเขียวที่คุณนิมิตแนะนำคือ สายพันธุ์ กำแพงแสน2 เนื่องจากเป็นถั่วเขียวผิวมนเมล็ดใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงทำให้ถั่วงอกที่เพาะออกมา ต้นโต ยาว อวบอ้วน น่ารับประทาน
- ภาชนะ
ภาชนะเพาะทำหน้าที่รองรับเมล็ดถั่ว ป้องกันแสงสว่าง ปรับสภาพความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการงอก จำกัดขอบเขตการงอกของถั่ว ทำให้ถั่วงอกมีลักษณะลำต้นอวบสั้น ภาชนะเพาะควรมีปากแคบเพื่อจำกัดการงอกของถั่ว ภาชนะดินเผาจะเก็บความชื้นได้ดีกว่าภาชนะพลาสติก แต่ภาชนะพลาสติกคงทน น้ำหนักเบา ราคาถูก ทำความสะอาดง่าย โดยปกติเมล็ดถั่ว 1 ส่วน จะโตเป็นถั่วงอกประมาณ 5 – 6 เท่า โดยน้ำหนัก ดังนั้นขนาดของภาขนะควรจะพอเหมาะกับปริมาณของเมล็ดถั่วที่เพาะด้วยภาชนะเพาะควรมีสีทึบเพื่อป้องกันแสงสว่าง หรือเป็นภาชนะที่มีฝาปิด ภาชนะเพาะจะต้องมีรูระบายน้ำทั้งด้านล่างและด้านข้าง ขนาดของจะต้องเล็กกว่าเมล็ดถั่ว ภาชนะเพาะจะต้องสะอาดเสมอ ควรล้างทำความสะอาด คว่ำตากแดดให้แห้งหรือลวกน้ำร้อยฆ่าเชื้อโรค แล้วผึ่งแห้ง หลักจากใช้งานแล้วทุกครั้ง
- น้ำ
น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเพาะ อาจจะเป็นน้ำจากแหล่งธรรมชาติ น้ำบาดาล หรือน้ำประปาที่สะอาดและมีอุณหภูมิปกติ เมล็ดถั่วจะต้องได้รับน้ำสะอาดและปริมาณที่พอเพียงสม่ำเสมอตลอดการเพาะ 2 – 3 วัน หากขาดน้ำจะทำให้การงอกชะงัก ไม่เติบโตสมบูรณ์ เพราะน้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้ถั่วงอกเจริญเติบโต ระบายความร้อยที่เกิดขึ้นระหว่างการงอก ความร้อนภายในภาชนะจะทำให้ถั่วเน่า ควรรดน้ำสะอาดสม่ำเสมอทุก 2 – 3 ชั่วโมง หากภาชนะเป็นพลาสติกและรดน้ำสะอาดทุก 3 – 4 ชั่วโมงหากภาชนะเป็นประเภทดินเผา
การรดน้ำจะรดจนกว่าน้ำที่ไหลออกจากภาชนะเพาะมีอุณหภูมิเท่ากับน้ำที่ใช้รด
รดน้ำมากถั่วจะเน่า หากรดน้ำน้อยไปถั่วจะรากยาวแตกฝอย นอกจากนี้ ควรตั้งภาชนะเพาะไว้ในที่แห้ง ระบายน้ำและอากาศได้ดี
- วัสดุเพาะ
อาจจะใช้วัสดุเพาะเพื่อช่วยเก็บความชื้น เพิ่มน้ำหนักกดทับทำให้ถั่วงอกอวบอ้วน วัสดุเพาะได้แก่ ทราย แกลบเผา ฟางข้าว ฟองน้ำ ฯลฯ การใช้วัสดุเพาะต้องอาศัยความชำนาญ
- ภูมิอากาศ
ฤดูฝน ฝนตกมาก ความชื้นในอากาศสูง ภาวะการเจริญเติบโตของถั่วจะช้าและเน่าง่าย ปริมาณน้ำที่ใช้รดก็จะน้อยลง
- แสงสว่าง
แสงสว่างทำให้ถั่วมีสีเขียว ลำต้นผอมยาว และมีกลิ่นถั่ว ดังนั้นภาชนะเพาะควรทึบแสง หรือมีสีดำ สีเขียว สีน้ำเงิน หรืออาจจะมีฝาปิด หรือตั้งภาชนะไว้ในที่มืด ไม่มีแสง
อุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในกระถาง
- กระถางดินเผา ใช้ขนาดตามปริมาณที่ต้องการเพาะ ขนาดของกระถางควรไม่เล็กเกินไป ขนาดที่ใช้เพาะแบบคอนโด 3 ชั้นมีขนาด 25 x 45 เซนติเมตร ทำการเจาะท่อด้านล่าง 1 จุดเพื่อให้ระบายน้ำออก
- ตะแกรงรองพื้นก้นกระถาง จำนวน 1 อันต่อกระถาง ซึ่งใช้ตะแกรงโลหะขนาดรูตาใหญ่ ตัดหรือดัดให้พอดีกับก้นกระถางยกให้สูงจากพื้นเล็กน้อยเพื่อให้มีการระบายน้ำได้สะดวก (ตัวอย่าง ใช้ตะแกรงรองก้นหม้อกันร้อน)
- ตะแกรงเกล็ดปลา เป็นตะแกรงพลาสติกที่มีรูละเอียดมีขนาดของรู กว้าง x ยาว 4-5 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือดูให้มีรูตาเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียวป้องกันการหลุดร่วง ตะแกรงชนิดนี้มีจำหน่ายตามร้านวัสดุก่อสร้าง เมื่อเมล็ดถั่วเขียวงอก ส่วนของรากจะแทงทะลุตะแกรงออกมา ส่วนของต้นจะตั้งตรง สะดวกต่อการตัดต้นถั่วงอกออกจากตะแกรง ในการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษต่อ 1 กระถาง จะใช้ตะแกรงรองพื้น 1 แผ่นและตะแกรงเกล็ดปลาจำนวน 5 แผ่น
- กระสอบป่าน ประโยชน์ของการใช้กระสอบป่านหรือกระสอบข้าวเปลือก เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่เมล็ดถั่วเขียวที่ทำการเพาะและสามารถซักทำความสะอาดได้หลายครั้งหลังจากเพาะถั่วงอกในแต่ละครั้งจะต้องตัดกระสอบป่านให้มีขนาดเท่ากับตะแกรงเกล็ดปลาและจะใช้จำนวน 5 ผืนต่อการเพาะถั่วงอก 1 กระถาง
- ผ้าสักหลาดสีดำ หรือผ้าที่แสงสามารถส่องผ่านเข้าได้ยาก 1 ผืนติดกันเป็นผืนใหญ่เอาไว้คลุมหลังจากที่เพาะถั่วงอกเสร็จตามขั้นตอน
ขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในกระถาง
1. ขั้นตอนแรกให้ทำการแช่เมล็ดถั่วเขียว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญมาก เมื่อคัดเมล็ดที่แตก เมล็ดลีบหรือเมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลายออกด้วยมือแล้ว ให้นำมาล้างน้ำสะอาด 2-3 น้ำ ถ้าพบเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำขึ้นมาให้รินทิ้งไปพร้อมกับน้ำได้เลยเพราะเป็นเมล็ดที่ไม่งอก ต่อมาให้เตรียมน้ำอุ่นสำหรับแช่เมล็ดถั่วเขียวในการเตรียมน้ำอุ่นให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็นธรรมดา 3 ส่วน ก่อนจะนำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่ในถังพลาสติกให้น้ำอุ่นท่วมเมล็ดสูงขึ้นมาสัก 1-2 นิ้ว แช่ไว้นาน 8 ชั่วโมง ประโยชน์ของการแช่เมล็ดในน้ำอุ่นจะช่วยให้ถั่วเขียวงอกได้เร็วขึ้น
** เมื่อแช่ครบ 8 ชั่วโมงแล้ว จะสังเกตเห็นเมล็ดถั่วเขียวพองตัวใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 เท่า ซึ่งจะสังเกตเด้จากเปลือกหุ้มเมล็ดที่ปริออก มีตุ่มรากงอกออกมาให้เห็น แล้วทำการรินน้ำที่แช่เมล็ดถั่วเขียวออกล้างเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาดอีก 3 น้ำ เพื่อมั่นใจในความสะอาดและมีส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วก็จะหลุดออกไปบางส่วน
2. เมื่อแช่เมล็ดถั่วเขียวครบ 8 ชั่วโมงแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการเพาะ ขั้นแรกนำตะแกรงโลหะที่เตรียมไว้วางเป็นฐานรองก้นกระถาง
3. วางตะแกรงเกล็ดปลาทับบนตะแกรงโลหะ
4. วางกระสอบป่านบนตะแกรงเกล็ดปลา
5. เมื่อวางกระสอบป่านแล้วให้โรยเมล็ดถั่วเขียวให้ทั่วตะแกรงเกล็ดปลา การโรยเมล็ดนั้นควรโรยให้มีความสูงประมาณ 1 เซนติเมตร หมดขั้นตอนนี้ถือว่าเสร็จชั้นที่ 1
6. เมื่อเสร็จชั้นที่ 1 แล้วให้นำตะแกรงเกล็ดปลาวางทับตามด้วยกระสอบป่าน 1 ผืน แล้วโรยเมล็ดอีกครั้ง ทำอย่างนี้อีก 2 ชั้น ให้ครบ 3 ชั้น
7. เมื่อครบ 3 ชั้นแล้ว ชั้นบนสุด ให้วางตะแกรงเกล็ดปลา และกระสอบป่าน 2 ผืน เพื่อเพิ่มการรักษาความชื้นให้กับเมล็ดถั่วเขียว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มบ่อ แล้วคลุมด้วยผ้าสักหราดสีดำเพื่อไม่ให้แสงเข้าถึง
8. เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ให้รอเวลารดน้ำ ซึ่งการรดน้ำถั่วงอกนั้น ให้รดทุก ๆ 4 ชั่วโมง และควรเริ่มต้นในเวลาเดียวกันที่โรยเมล็ดถั่ว เช่น โรยเมล็ดถั่วตอน 8 โมงเช้า ก็ควรเริ่มต้นการรดน้ำที่ 8 โมงด้วยเช่นกัน
9. เมื่อครบ 3 วันแล้วก็สามารถนำแผงถั่วงอกที่เพาะออกมาตัดรับประทานได้เลย
ระยะเวลาเพาะถั่วงอก
- คืนวันที่ 1 แช่ถั่วงอก
- เช้าวันที่ 2 นำถั่วเพาะในกระถาง รดน้ำ อย่างน้อย เช้า กลางวัน เย็น
- วันที่ 3 รดน้ำ อย่างน้อย เช้า กลางวัน เย็น
- วันที่ 4 รดน้ำ อย่างน้อย เช้า กลางวัน เย็น
- วันที่ 5 เช้า เก็บถั่วงอก ไปตัดราก รับประทานได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดถั่วงอก
- มีดด้ามยาว เอาไว้ตัดตัวงอกเมื่ออายุได้ 3 วันแล้ว
- กะละมังใบใหญ่ เอาไว้เวลาตัดถั่วงอกลงล้าง
- ตะแกรงห่างเอาไว้ชอนถั่วงอกใส่ตะกร้า
- ตะกร้า หลังจากที่ทำการตัดรากลงในกะละมังเพื่อล้าง แล้วชอนถั่วงอกลงตะกร้าเพื่อผึ่งลมให้แห้ง และเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา
- ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา นับเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เมื่อต้นถั่วงอกสะเด็ดน้ำแล้วให้รีบเอาไปบรรจุลงถุงพลาสติกทันที มัดปากถุงให้แน่น เหตุผลที่ต้องรีบบรรจุถั่วงอกลงถุงพลาสติกให้เร็วที่สุดเพราะถ้าปล่อยให้ถั่วงอกสัมผัสอากาศนาน ๆ ต้นถั่วงอกจะเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลืองแล้วจะคล้ำดำในที่สุด ตลาดไม่ต้องการหรือนำไปประกอบอาหาร ถั่วงอกแบบอินทรีย์นี้สามารถเก็บได้นานถึง 7- 10 วันโดยไม่เหลือง และยังคงความสด และกรอบเหมือนใหม่ ๆ แต่จะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น