เพาะเห็ดฟางในตะกร้า

8 กุมภาพันธ์ 2556 เห็ด 0

ปกติเห็ดฟาง เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ง่ายแต่ด้วยจะรอธรรมชาติอย่างเดียวคง ไม่พอกับความต้องการที่จะบริโภคของมนุษย์ มนุษย์ก็เลยคิดค้นการเพาะเห็ดฟางขึ้นมาหลายวิธี แต่วิธีที่พอจะเป็นแนวทางให้ปฏิบัติหรือทำได้ ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเราเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ก็คือเอาวัสดุเช่นฟางมากองไว้แล้วเอาเชื้อโรยเห็ดก็ขึ้น แล้วก็เก็บยาวเป็นเดือน

วิธีที่สองดัดแปลงเป็นการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพาะในไร่นาบ้างเพาะหลังบ้านบ้างโดยการมีแบบพิมพ์แล้วใช้วัสดุยัดลงไปในแบบพิมพ์ ถอดแบบพิมพ์ออกมาแล้วก็เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยก็ทำกันมานานพอสมควรหลายสิบปี ปัจจุบันก็ยังมีทำอยู่ก็ดัดแปลงไปตามความเหมาะสมของท้องถิ่น
วิธีที่สาม เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางที่กรมวิชาการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับการผลิต เห็ดฟาง เพื่อให้ได้มาก ๆ เรียกว่า การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน บางทีเรียกว่าการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม ผลิตครั้งหนึ่งได้เป็นนับ 100 กิโลกรัม อันนี้เป็น การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน ต่อจากนั้นมาก็มีการพัฒนาการเพาะเห็ดเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ จะเพาะในปริมาณที่มากก็ได้ น้อยก็ได้ แล้วก็มีความสะดวก มีความสะอาด แล้วก็มีการเพาะเห็ดฟางแบบคอนโดเป็นชั้น ๆ หลังจากนั้นก็มีการเพาะเห็ดฟางแบบในตะกร้า และสุดท้ายการเพาะเห็ดฟางในถุง

วัสดุที่เพาะเห็ดฟางในประเทศไทยมีมากมายมหาศาล ตัวอย่างเช่น ฟางข้าวเปลือก ถั่วทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลืองถั่วเขียว ถั่วแขก เปลือกมันสำปะหลัง ก็สามารถใช้ได้ดี ต้นข้าวโพดแห้ง ๆ เอามาสับ ๆ แล้วแช่น้ำก็สามารถนำมาเพาะได้ ผักตบชวาจอกหูหนู ต้นกล้วยหั่นตากแห้ง ทะลายปาล์ม หรือผลปาล์ม ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนหรือขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือขี้เลื่อยทำเพาะเห็ดทุกชนิดแล้วยังสามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ กระดาษก็สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ กระสอบป่านเก่า ๆ ก็ใช้ได้
นอกจากนี้ยังมีงานทดลองอีกอย่าง คือ ขุยมะพร้าว ภาคใต้มีมาก หลังจากเอาเส้นใยออกแล้ว ขุยมะพร้าวมักจะเอามาทำต้นไม้อย่างเดียวแล้ว ยังสามารถเอาขุยมะพร้าว 2 ส่วนผสมกับขี้วัว 1 ส่วน ก็สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ มีความชื้นและมีอาหารจากขี้วัวเมื่อนำมาเพาะเห็ดฟางแล้วจะได้ประโยชน์จากการใช้สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์มากขึ้น

ในการเลือก วัสดุอย่างฟางข้าวนั้นจะพบปัญหามากเพราะว่าฟางข้าวมีสารเคมีที่เกษตรกรใช้มี สารพิษตกค้างจนทำให้เป็นพิษต่อผู้บริโภคเห็ดฟางได้ ตัวอย่างเช่น สารเคมีกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม นอกจากจะทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญเติบโตแล้ว เมื่อคนนำมาบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการเป็นพิษ ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดแมลงที่เกษตรกรใช้ ก็มาสู่คนเมื่อบริโภคเข้าไปก็เป็นพิษ

แต่อย่างไรก็ ตามวัสดุทุกอย่างทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำมาเพาะเห็ดฟาง พึงสำนึกว่าต้องสะอาด ปลอดสารเคมี อยู่ในท้องถิ่นจะดีที่สุด ต้นทุนจะต่ำ ความหลากหลายของวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ วัสดุใดที่เป็นพิษโดยธรรมชาติ อย่านำมาใช้ เช่น ต้นพืชที่มีฤทธิ์เมา เมื่อนำไปเพาะเห็ดสารพิษนี้จะถูกให้ดูดซึมเข้าไปสู่ผู้บริโภคจะทำให้เมาได้

วัสดุ อุปกรณ์

  • ตะกร้าพลาสติกสูงประมาณ 1 ฟุต ตาห่างประมาณ 1 ตารางนิ้ว
  • เชื้อเห็ดฟาง
  • ขี้เลื่อย
  • อาหารเสริม (มูลสัตว์ผสมรำ อัตรา 1: 1)
  • แป้งข้าวสาลี

ขั้นตอนการเพาะ

  1. เริ่มจากนำขี้เลื่อยมาใส่ในตะกร้าพลาสติกสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ใช้มือหรือไม้กดให้แน่น
  2. จากนั้น นำเอาอาหารเสริมโรยชิดด้านในของตะกร้าเป็นวงกลม กว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ซึ่งใช้ประมาณ 1 ลิตร ต่อชั้น แล้วนำเชื้อเห็ดฟางออกจากถุง นำไปคลุกกับแป้งข้าวสาลีพอติดผิวนอก เพื่อเป็นอาหารเสริมระยะแรกที่ช่วยกระตุ้นให้เชื้อเห็ดเจริญได้ดี แล้วโรยทับอาหารเสริมอีกชั้นหนึ่ง
  3. ทำเป็นชั้นๆ ลักษณะนี้จนเต็มตะกร้าพลาสติก รดน้ำให้ชุ่ม(หากก้อนเชื้อเห็ดที่นำมาเพาะยังชุ่มอยู่ก็ไม่ต้องรดน้ำ แต่หากแห้งก็รดน้ำให้ชุ่ม)
  4. จากนั้น ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการเกิดดอกเห็ดโดยการปิดโรงเรือนให้มิดชิด เช่น ด้านล่างควรใช้อิฐทับผ้าพลาสติกไว้ เพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก ภายในโรงเรือนควรติดเทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิ
  5. ในช่วงวันที่ 1 ถึง 4 วันแรกต้องควบคุมอุณหภูมิในกระโจมหรือในโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงเกินไปให้เปิดช่องระบายอากาศด้านบนของโรงเรือนออก โดยใช้วัสดุพรางแสงคลุมหรือรดน้ำรอบๆ
  6. โรงเรือนเมื่อครบกำหนด 4 วันแล้ว ให้เปิดผ้าพลาสติกหรือประตูโรงเรือนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ (ออกซิเจน) เพื่อให้เส้นใยเห็ดฟางสร้างจุดกำเนิดออก ถ้าวัสดุแห้งเกินไปให้รดน้ำหรือที่เรียกว่าการตัดใยเห็ดในระหว่าง วันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงนี้จะมีการรวมตัวของเส้นใยเป็นดอกเล็กๆ จำนวนมาก เมื่ออายุได้ 9-12 วัน ก็เก็บดอกเห็ดได้

ขั้นตอนการเพาะแบบย่อ

hedfangtk1
ใส่วัสดุเพาะลงในตะกร้าสูงประมาณ 2-3 นิ้ว กดให้พอแน่น และ ให้ชิดขอบตะกร้า

hedfangtk2
โรยผักตบชวาที่หั่นไว้ ลงบนวัสดุเพาะ โดยรอบ

hedfangtk3
นำเชื้อเห็ดฟางมาโรยบนวัสดุเพาะได้เป็น ชั้นที่ 1

hedfangtk5
ทำชั้นที่ 2 และ 3 ด้วยวิธีการเดิม ปิดชั้นที่ 3 ด้วยวัสดุเพาะ ได้เป็น 1 ตะกร้า

hedfangtk6
นำตะกร้าเห็ดฟางใส่กระโจมเพาะเห็ดฟาง

hedfangtk7
รักษาอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ที่ 33-38 องศา เมื่อเส้นใยเดินเต็มวัสดุจึงรดน้ำด้วยบัวฝอย

hedfangtk8
เมื่อเกิดตุ่มดอกแล้วรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศา ช่วงนี้เห็ดฟางจะเจริญเติบโตขึ้น

hedfangtk9
เก็บดอกตูม หัวพุ่ง ของเห็ดฟาง ให้ชิดรูตะกร้า

โดย… อาจารย์สำเนาว์ ฤทธิ์นุช

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด เห็ด

แสดงความคิดเห็น