เรือนเพาะชำ

เรือนเพาะชำ คือ สถานที่ที่ใช้เพื่อดูแลรักษาบรรดาเหล่าต้นกล้าต้นอ่อน กิ่งตอนกิ่งชำ ของพวกไม้ผลและไม้ยืนต้น รวมทั้งไม้พุ่มและไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ที่จะต้องปลูกเพาะขยายพันธุ์และต้องมีการดูแลรักษาเป็นพิเศษในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีการผันแปรของแสงแดด อุณหภูมิ ลม และปริมาณฝนที่ไม่สม่ำเสมอ และนอกจากนี้เรือนเพาะชำยังมีประโยชน์ต่อการปลูกพืชอีกหลายประการ เช่น

  • เป็นสถานที่เพาะเมล็ดและปักชำ และเพาะเลี้ยงไม้อ่อน
  • เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงพันธุ์ไม้ที่ต้องการความชื้นสูง แต่ต้องการแสงแดดแต่พอควร
  • เป็นที่เก็บรักษาพันธุ์ไม้ให้ปลอดภัยจากสัตว์นักทำลาย และเหล่าศัตรูพืช
  • เป็นที่รวมพันธุ์ไม้ และพักฟื้นพันธุ์ไม้ที่นำมาใหม่
  • เป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์ เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร หรือจัดเป็นที่โชว์สินค้า พืช พรรณไม้ ต่างๆ

reanpaocham

ลักษณะเรือนเพาะชำที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืชแบบต่างๆ
ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ มีการผันแปรของแสงแดด อุณหภูมิ ลม และปริมาณฝนที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้การเลี้ยงดูพืชให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิ้นส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาส่วนต่างๆ ขึ้นมาเป็นต้นใหม่ หรือต้นใหม่ที่ยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์ดี จำเป็นต้องได้รับการดูแลภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นเรือนเพาะชำจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยายพันธุ์พืชเป็นอย่างมาก
โรงเรือนเพาะชำนั้นมีหลายแบบทั้งแบบที่สามารถควบคุมปัจจัยดังกล่าวได้ทุกอย่าง เช่น การปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือน มีหลอดไฟให้แสงสว่างและควบคุมความชื้นสัมพัทธ์อากาศได้ สำหรับการเพาะพันธุ์ต้นที่ต้องการสภาพแวดล้อมเฉพาะอย่าง ส่วนเรือนเพาะชำอีกแบบหนึ่งใช้สำหรับเลี้ยงดูต้นที่มีอายุน้อย และยังไม่แข็งแรงดีให้สามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป มีการปรับสภาพแวดล้อมได้บ้าง จึงอาจมีเพียงแค่การกรองแสงหรือพรางแสงให้ต้นกล้าเพื่อรอไว้ย้ายปลูกในแปลงกลางแจ้งต่อไป

โรงเรือนเพาะชำแบบ Lathhouse
โรงเรือนเพาะชำแบบไม้ระแนง (Lath House) เป็นโครงสร้างที่มีการพรางแสงหลังคา สำหรับพืชที่ปลูกในกระถางหรือต้นที่ย้ายปลูกใหม่ที่ต้องการร่มเงา หรือพืชที่ ต้องการการเอาใจใส่มาก นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีอากาศไม่หนาวจัด มักมีโครงสร้างเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความสูงอย่างน้อยประมาณ 3 เมตร หลังคานิยมใช้ไม้ระแนงขนาด 11 นิ้ว วางสลับอันเว้นอันหรือตามความต้องการในการพรางแสง โดยกำหนดทิศทางของโรงเรือนให้ขวางตะวันหรืออยู่ในแนวเหนือใต้ เพื่อให้แสงผ่านหลังคาได้อย่างสม่ำเสมอ โดยอาจใช้วัสดุอื่นๆ ทำหลังคาก็ได้ เช่น สแลน หรือ ตาข่ายกรองแสง ซึ่งเป็นวัสดุมีน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่ายและราคาไม่แพง เป็นที่นิยมใช้กันอย่างมากในปัจจุบัน

reanpaochammai

โรงเรือนเพาะชำแบบ Glasshouse
โรงเรือนเพาะชำแบบกระจก (Glass House) เป็นโรงเรือนที่มีโครงสร้างทำด้วยกระจก เหมาะสำหรับสร้างในเขตที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น ที่ต้องการปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต้นพืชเติบโตผ่านอากาศหนาวเย็นได้ นอกจากนั้นยังสามารถปรับสภาพต่างๆ ให้เหมาะสมได้ เช่น การระบายอากาศและความชื้น การให้ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำ การเพิ่มจำนวนชั่วโมงแสงแดดต่อวัน การปรับความเข้มแสงของหลังคา การให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มและอื่นๆ ซึ่งโครงสร้างของโรงเรือนนั้นจะต้องมีความแข็งแรงสำหรับรองรับน้ำหนักของกระจกที่ใช้ทำหลังคาได้ ถึงแม้ว่าโรงเรือนแบบกระจกจะใช้งานได้ดี แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงทีเดียว

reanpaochamdomkaw

โรงเรือนเพาะชำแบบ Plastichouse
โรงเรือนเพาะชำแบบพลาสติก (Plastic House) เป็นโรงเรือนที่ใช้วัสดุพลาสติก polyethylene ในการทำหลังคาหรือล้อมรอบโรงเรือน สำหรับป้องกันฝนและช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในได้บ้าง มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในการผลิตสินค้าทางการเกษตรมากกว่าโรงเรือนแบบกระจกถึง 3 เท่า ซึ่งโรงเรือนแบบนี้ใช้จะโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา แล้วคลุมด้วยพลาสติกอีกที จึงเป็นโรงเรือนที่ทำได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อย สำหรับในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงนั้น จะต้องมีการระบายอากาศภายในโรงเรือน จึงจะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลงได้ วัสดุที่ใช้ทำหลังคาสามารถใช้วัสดุต่างๆ ได้ เช่น โพลีคาร์บอเนต หรือ ไฟเบอร์กลาส หรือ พลาสติกกรองแสงอื่นๆ ก็ได้

reanpaochamdom

เมื่อเรามีโรงเรือนเพาะชำแล้ว การจัดการดูแลรักษาต้นกล้า ต้นอ่อน กิ่งตอน กิ่งชำ ของไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ก็จะง่ายดายขึ้น และดูมีระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งโรงเรือนเพาะชำยังช่วยลดปัญหาจากฝนฟ้าอากาศ และแสงแดดได้ ส่งผลให้พืชพรรณไม้ที่ปลูกนั้นมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มตายไปก่อน และยังช่วยป้องกันภัยจากเหล่าแมลงศัตรูพืชและสัตว์นักทำลายได้เป็นอย่างดี

 

การเพาะชำและขยายพันธุ์ไม้ ซึ่งเป็นงานหลักในสถานเพาะชำนั้น มีทั้งการเพาะชำ และขยายพันธุ์ไม้ผลไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ป่าเพื่อปลูกป่าทดแทน ฯลฯ ตามความต้องการใช้ประโยชน์ในกรณี ของสถานเพาะชำไม้ผลนั้น มีลักษณะที่แตกต่างจากสถานเพาะชำ ต้นไม้ชนิดอื่น คือ

  1. การเพาะขยายและชำ ต้นพันธุ์ไม้ผล มักจะใช้ เวลา 1-3 ปี โดยมีเป้าหมายเพียงให้ได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงพร้อมลงปลูกในแปลงปลูกโดยเร็วไม่นิยมในแปลงปลูกโดยเร็ว ไม่นิยมเก็บต้นพันธุ์ไว้ในสถานเพาะชำ จนกระทั่งออกดอกผล ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมในสถานเพาะชำเหมาะกับการเจริญเติบโตทางกิ่งใบมากกว่าการให้ดอกผล และหากเก็บรักษาตันพันธุ์ไว้ในสถานเพาะชำนานเกินไป ต้นพันธุ์ไม้ผล จะไม่สามารถหยั่งรากยึดลำต้นได้ดี เมื่อนำลงปลูกในแปลงปลูกในขณะที่การเพาะชำไม้ประดับอาจจะเก็บรักษาต้นพันธุ์ไม้ จนกระทั่งถึงเวลาใช้ประโยชน์ จึงนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ตั้งประดับ
  2. การเพาะขยายและชำต้นพันธุ์ไม้ผล มักจะทำในลักษณะที่มีน้อยชนิดแต่หลากพันธุ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับไม้ผลแต่ละชนิด ทั้งนี้เพราะจำนวนชนิดของไม้ผลที่ปลูกในแต่ละแหล่งปลูกมีไม่มากนักเนื่องมาจากข้อจำกัดในทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม และการปลูกใหม่มักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงชนิดของไม้ผล แต่เปลี่ยนแปลงใช้พันธุ์ที่ดี กว่าพันธุ์เดิม หรือใช้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติต่างไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งต่างกับไม้ดอกไม้ประดับที่ผู้ซื้อนิยมให้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ และนิยมให้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ นอกจากนี้วิธีการขยายพันธุ์ไม้ผลหลายชนิดจำเป็นต้องมีการเตรียมต้นตอเพื่อนำมาต่อกับกิ่งพันธุ์ดี เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่ได้มีระบบรากที่แข็งแรงอันเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่พบน้อยมากในการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับหรือพันธุ์ไม้ที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ

reanpaochamrong

ความสำคัญและประโยชน์ของสถานเพาะชำไม้ผล
เป็นความจริงที่ว่าการปลูกไม้ผลนั้นไม่จำเป็นต้องมีการเพาะชำต้นพันธุ์ในสถานเพาะชำก็ได้ และในสมัยโบราณก็ไม่มีการเพาะขยายพันธุ์ไม้ผลในสถานเพาะชำ แต่จะขยายพันธุ์จากต้นแม่หรือเพาะเมล็ดแล้วนำลงปลูกในแปลงปลูกโดยตรง ทั้งนี้จากการทดลองเปรียบเทียบ และผลที่ปรากฏในการปฏิบัติทางการค้านั้น พบว่าหากชาวสวนไม้ผลต้องการปลูกไม้ ผลเป็นการค้าในลักษณะธุรกิจที่มีการแข่งขันกันและสร้างผลกำไรให้เพียงพอแล้ว การเพาะขยายต้นพันธุ์ไม้ผล ในสถานเพาะชำ ก่อนลงปลูกในแปลงปลูกจะให้ผลดีกว่าการปลูกต้นไม้ผลลงในแปลงปลูกโดยตรง โดยไม่ผ่านขั้นตอนการเพาะชำในสถานเพาะชำ อยู่หลายประการ คือ

  1. ต้นพันธุ์ไม้ผลที่ผ่านการเพาะชำในสถานเพาะชำ จะให้ดอกผลเร็วกว่าต้นที่ไม่ผ่านการเพาะชำ ในสถานเพาะชำ เนื่องจากระยะเวลาของความอ่อนวัน (juvenility) ของต้นไม้ผลจะลดลงได้หากต้นไม้ผลเติบโตอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ และเลือกวิธีการขยายพันธุ์โดยทางกิ่งใบ ในขณะเดียวกันก็จะยืดออกไปได้หากต้นไม้ผลแคระแกร็นไม่แข็งแรง
  2. ต้นพันธุ์ไม้ผลที่ได้จากสถานเพาะชำ เมื่อนำ ลงปลูกในแปลงปลูกจะเติบโตเร็วแข็งแรงเจริญเติบโตอย่างสมํ่าเสมอกัน มากกว่าการนำต้นพันธุ์ที่ขยายพันธุ์ได้ลงปลูกในแปลงปลูกโดยตรงเพราะสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบดตในช่วงวัยอ่อนของต้นพันธุ์ไม้ผล เมื่อนำต้นอ่อนลงปลูกในแปลงปลูกโดยตรง จึงทำให้มีอัตราการตายสูง ต้นแคระแกร็น เติบโตและให้ดอกผลไม่พร้อมกันสร้างปัญหาในการดูแลรักษา
  3. ต้นพันธุ์ไม้ผลที่ได้จากการเพาะขยายและชำ ในสถานเพาะชำไม้ผล โดยทั่วไปปราศจากโรคและแมลงศัตรูที่ติดไปกับต้นพันธุ์ เพราะผ่านการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในขณะที่ต้นอ่อนซึ่งเติบโตในแปลงปลูกโดยตรงนั้น ผู้ปลูกไม่สามารถดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ได้ ดังเช่นที่อยู่ในโรงเรือนหรือแปลงปลูกในสถานเพาะชำ ทำให้โรคและแมลงศัตรูเข้าทำ ลายได้ง่าย
  4. ต้นพันธุ์ไม้ผลที่ได้จากสถานเพาะชำ จะสามารถผลิตต้นพันธุ์ที่มีอายุและมีขนาดต้นสมํ่าเสมอกันเป็นจำนวนมากได้ในการผลิตแต่ละครั้ง เหมาะกับระบบการทำสวนไม้ผลในปัจจุบันที่นิยมปลูกต้นพันธุ์ไม้ผลที่มีอายุและขนาดต้นสม่ำเสมอกันเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันเพราะสะดวกต่อการดูแลรักษา และสามารถออกดอกผลในเวลาเดียวกัน

ผลดีดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับต้นพันธุ์ไม้ผลที่ผ่านการเพาะขยายและชำ ในสถานเพาะชำไม้ผลนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากต้นกล้าเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้รับการดูแลรักษาและป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นอย่างดี และสามารถคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดและความสมบูรณ์แข็งแรงใกล้เคียงกันไปปลูกพร้อมกัน ทำให้ต้นพันธุ์ไม้ผลที่ได้มีคุณสมบัติต่างจากต้นพันธุ์ที่นำไปปลูกลงในแปลงโดยตรง

reanpaochamkla reanpaochampead

อย่างไรก็ตามการเพาะขยายและชำ ต้นพันธุ์ไม้ผลในสถานเพาะชำนั้น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิต (หรือต้นทุนการผลิต) เพิ่มขึ้น เพราะการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการสร้างโรงเรือนการเตรียมวัสดุ การให้นํ้า ค่าแรงงาน ค่าเชื้อเพลิง สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ แต่ทว่าตราบใดที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ยังตํ่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากระยะเวลาคืนทุนที่เร็วกว่าเดิม เมื่อนั้นการเพาะขยายและชำต้นพันธุ์ไม้ผลในสถานเพาะชำ ก็ยังเป็นกระบวนการที่จำเป็นในการผลิตต้นพันธุ์ไม้ผลอยู่เสมอไป

ที่มา
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์ข้อมูลทางการเกษตร

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด เครื่องมือเกษตร

แสดงความคิดเห็น