เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช

16 พฤศจิกายน 2555 ดิน 0

รากของพืช กินอาหาร แร่ธาตุ จากดินโดยตรงไม่ได้ ต้องอาศัยจุลินทรีย์ซึ่งเกาะอยู่ที่รากเป็นคนเคี้ยว แล้วป้อนให้รากของพืชอีกครั้งหนึ่ง แต่จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ที่รากของพืชที่เราต้องการจะไม่ค่อยแข็งแรง มีความต้านทานน้อยกว่าจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ที่รากของวัชพืช แล้วแถมจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้ยังใจเสาะ ตายง่ายเสียอีก โดนแดดจังๆ ก็ตาย โดนปุ๋ยเคมีก็ตาย(เพราะโดนดูดน้ำออกจากตัว) โดนยาฆ่าหญ้าก็ตาย(เพราะเป็นพิษ) ดังนั้นการที่จะบำรุงให้พืชของเรางอกงามก็ต้องทำให้จุลินทรีย์ที่รากของพืชของเรามีจำนวนมากๆ และปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้จุลินทรีย์เหล่านี้อยู่อย่างมีความสุข ขยายพันธุ์ต่อ ต่อไปได้มากๆ ก็โดย
คลุมดิน จุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้ชอบอยู่ในที่มืด ร้อน และชื้น(แต่ไม่ใช่แฉะ) ดังนั้นการใช้ฟาง หรือหญ้าคลุมโคนต้นไม้จึงเป็นการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับจุลินทรีย์……..และยังเก็บกักความชื้นให้กับพืชในหน้าแล้ง และช่วยชลอไม่ให้น้ำฝนพัดพาสิ่งที่มีประโยชน์ไปในหน้าฝน ได้ดีอีกด้วยครับ…….
เลิกใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีจะดูดน้ำจากรอบตัวเพื่อละลาย ปลดปล่อยอิออนจากตัว…….จุลินทรีย์ของเราก็จะพลอยโดนดูดน้ำออกจากตัวไปด้วย….ตาย…สนิท…ครับ แล้วยังมีพวกสารผสมในปุ๋ยที่ไม่เกี่ยวกับพืช (แต่ทำให้ได้น้ำหนัก ได้เปอร์เซนต์ตามกฎหมาย) แต่ตกค้างเป็นพิษกับจุลินทรีย์อีก……ตกค้างมากๆ ก็เป็นพิษกับพืชได้อีกนาครับ……..
เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหญ้าเป็นพิษและส่งผลกระทบมหาศาล ที่ชัดเจนที่สุดในสวนยาง เปลือกต้นยางจากพื้นดินจนถึงประมาณ 30 ซม. หน้ายางแห้ง ไม่มีน้ำยางเลย แม้จะเลิกมา 2 ปีแล้วก็เถิด คงไม่ฟื้นคืนอีกแล้ว
ใส่ปุ๋ยแห้งชาม แห้งชามคือใส่ปุ๋ยหมักแห้ง ความถี่ของการใส่ปุ๋ยหมักแห้งคือประมาณ “เดือนละครั้ง”
ใส่ปุ๋ยน้ำชาม คือ ใส่ปุ๋ยหมักน้ำ จะใช้รดพื้นดิน หรือฉีดพ่นอาบ ใบ ลำต้น ไปเลยก็ไม่ผิดกติกา หรือ พวกผัก ไม้เตี้ย ไม้ลงหัว จะใส่ฝักบัวรดไปเลยก็ได้ ความถี่ของการใส่ปุ๋ยน้ำ ก็ทุก 1 – 2 สัปดาห์ นอกนั้นรดน้ำเปล่า
– ปริมาณของชามแห้ง และชามน้ำ ก็กะประมาณเอาเองตามขนาดของพืชของเรา เช่น ต้นยางกรีดแล้ว จะใส่เดือนละ 1 กำมือก็กระไรอยู่……พริกขี้หนู ถ้าจะใส่เดือนละกิโลก็เกินเหตุ….


สร้างโรงงานผลิตปุ๋ย

การทำปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยใช้วัตถุดิบที่เราหาได้ง่ายๆ มาทำ ก่อนอื่นเราต้องสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยของเราไว้ใช้เองเสียก่อน

การลงทุนสร้างโรงงานระยะแรกต้องตั้งงบประมาณไว้ เป็นค่าถังหมัก ค่าหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ซื้อใช้เถิด ไม่ต้องมัวไปเพาะเองอยู่) 1 ลิตร และค่าน้ำตาลทรายแดง 1 ก.ก.

โรงงานผลิตปุ๋ย ก็คือ จุลินทรีย์ เบื้องต้นเราซื้อมาใช้ 1 ลิตร แล้วนำมาหมักขยายก่อนจะได้เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ 22 ลิตร ถ้าอยากได้มากกว่านั้น ก็เอาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่หมักขยายไว้แล้วนี้หมักขยายต่อไปได้อีกเรื่อยๆ จุลินทรีย์ที่หมักขยายแล้วนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการทำปุ๋ยทั้งปุ๋ยหมักแห้ง และปุ๋ยหมักน้ำ ต่อจากนี้ไปคำว่า “หัวเชื้อจุลินทรีย์” จะหมายถึงจุลินทรีย์ที่หมักขยายเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปซื้อใหม่ลิตรละร้อยอยู่ทุกครั้งที่จะหมักปุ๋ย
จุลินทรีย์ที่หมักขยายแล้วนี้ยังไม่ใช่ปุ๋ย จะเอาไปรดต้นไม้ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก ได้แต่จุลินทรีย์กับน้ำตาลนิดหน่อย ใจเย็นๆ สร้างโรงงานผลิตก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันต่อถึงขบวนการผลิตปุ๋ยต่อไป

  1. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่จะนำมาหมักขยาย เพื่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ย หรือจะใช้แบบที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด
  2. ถังที่ใช้หมักขยายเชื้อจุลินทรีย์ ใช้ถังพลาสติกสิดำ หรือสีน้ำเงิน แบบมีเข็มขัดรัดฝา ความจุประมาณ 20 – 30 ลิตร ล้าง ทำความสะอาดให้เรียบร้อย
  3. น้ำตาลทรายแดงที่จะใช้หมักขยายเชื้อจุลินทรีย์ ในตลาดใกล้บ้าน จุถุงละ 0.5 ก.ก. เราใช้ 1 ก.ก. ก็ซื้อมา 2 ถุง
  4. ใส่น้ำสะอาดลงไปในถังหมัก 20 ลิตรครับ……จะเป็นน้ำประปา น้ำฝน น้ำบ่อ น้ำคลอง ยกเว้นน้ำทะเล…..แต่ถ้าเป็นน้ำประปาต้องขังไว้ให้คลอรีนระเหยไปให้หมดก่อน
  5. เพื่อความรวดเร็วในการละลายน้ำตาลทรายแดง ผมเลยตักน้ำจากในถังหมักออกมา 2 ขัน ใส่หม้อตั้งไฟพออุ่นๆ ใส่น้ำตาลทรายแดงลงไปทั้งสองถุง คนจนละลายหมด แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วก็เทกลับลงไปในถังหมัก คนให้เข้ากันดี
  6. เทหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร ที่เตรียมไว้แล้วลงไปในถังหมัก แล้วก็คนให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่ง
  7. ปิดฝาถัง รัดเข็มขัดล็อค แล้วติดป้ายบอกไว้เสียหน่อย แล้วก็เก็บไว้ในที่ร่ม เย็น ไม่ให้โดนแสงแดด ประมาณ 10 – 15 วัน ก็นำไปหมักขยายต่อ หรือจะนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยก็ได้แล้ว
  8. เมื่อเปิดฝาถังขึ้นมา แล้วได้กลิ่นหอมคล้าย คล้าย ไวน์ ที่ผิวหน้ามีฝ้าขาว ขาว ลอยอยู่ แสดงว่าถูกต้องแล้ว

การผลิตปุ๋ยหมักน้ำ

เมื่อเราสร้างโรงงานผลิตปุ๋ย (หมักขยายเชื้อจุลินทรีย์จนได้ที่แล้ว) คราวนี้ก็ถึงทีที่จะเดินเครื่องผลิตอาหารเลี้ยงดิน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืชของเราต่อ

อาหารเลี้ยงดินที่เราจะผลิต และใช้กับพืชผลของเรา มีอยู่ 2 ชนิด ที่จำเป็น และเราจะต้องใช้ร่วมกัน คือปุ๋ยหมักแห้ง และปุ๋ยหมักน้ำ

ความถี่และปริมาณของการให้อาหารจะขึ้นอยู่กับประเภทของพืช เช่น
ไม้ผล จะให้ปุ๋ยหมักแห้งเดือนละ 1 ครั้ง ปริมาณ 1 – 2 ก.ก. และรดปุ๋ยหมักน้ำ 1 – 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง นอกจากนั้น รดด้วยน้ำธรรมดา และอาจจะฉีดพ่น ใบ ลำต้น ด้วยน้ำส้มควันไม้(มีฮอร์โมนพืช) สลับกับน้ำหมักเปลือกกุ้ง กากปู(มีสารไคโตซาน) 1 – 2 เดือนต่อครั้ง
ผักอายุสั้น อาจจะให้ปุ๋ยหมักแห้งสัปดาห์ละครั้ง แต่ปริมาณน้อยๆ และรดปุ๋ยหมักน้ำทุกวัน(ผสมเจือจางมากๆ)
สิ่งสำคัญก็คือการสังเกต เรียนรู้ หมั่นทดลอง ของเรานะครับ เพราะว่าการทำเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และยังมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

การทำปุ๋ยหมักน้ำ

วัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักน้ำ หลักๆ จะมีอยู่ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก ได้แก่ พืชสด ซึ่งแบ่งเป็นประเภทได้อีก 7 ประเภท ตาม รส และกลิ่น ของพืชสดที่ใช้ สรรพคุณของน้ำหมักที่ได้ก็จะต่างกันไปตามคุณสมบัติแต่ละประเภท ส่วนพืชแห้งไม่เหมาะที่จะนำมาทำปุ๋ยหมักน้ำ เหมาะที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักแห้งมากกว่า
1. พืชรสจืด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักตบชวา บัว ผักกะเฉด จอก แหน ผักต่างๆ ที่บริโภคในครัว และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ปรับสภาพดิน ช่วยล้างพิษตกค้างในดิน บำรุงดิน ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย
2. พืชรสขม ได้แก่ บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ ขี้เหล็ก มะระ และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช หรือใช้ผสมน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงจะทำให้สัตว์เลี้ยงสุขภาพดีขึ้น กลิ่นมูลสัตว์ลดลง
3. พืชรสฝาด ได้แก่ กล้วยดิบ เปลือกผลมังคุด เปลือกแค หมาก และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ช่วยป้องกันเชื้อรา
4. พืชรสเมาเบื่อ ได้แก่ กลอย สะเดา สแยก(สะ-แหยก) ผักคูน หางไหลแดง น้อยหน่า ยาฉุน และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ไล่แมลงศัตรูพืช
5. พืชรสหอมระเหย ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระเพรา ชะพลู มะกรูด โหระพา กานพลู ยูคาลิปตัส และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ยกเว้นไม่ควรทำใช้งานนะครับ ยิ่งเป็นสวนไม้ผลยิ่งอันตรายครับ เพราะกลายเป็นดึงดูดแมลงวันทองให้เข้ามาหา
6. พืชรสเผ็ดร้อน ได้แก่ พริก ดีปลี เครื่องแกง และ ฯลฯ
สรรพคุณ ไล่แมลง ทำให้แมลงแสบร้อน ระคายผิว
7. พืชรสเปรี้ยว ได้แก่ ตะลิงปิง มะเฟือง มะนาว มะม่วง(เปรี้ยว) มะไฟ และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้ไข่ของแมลงฝ่อ หรือตัวอ่อนฝ่อไม่สามารถเติบโตได้

กลุ่มที่สอง ได้แก่ สัตว์ หรือผลิตผลจากสัตว์ ที่นิยมนำมาทำปุ๋ยหมักน้ำ ได้แก่…..
1. ปลา ทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล จะได้ทั้ง โปรตีน กรดอะมิโน ธาตุอาหารหลัก ( N, P, K) ธาตุอาหารรอง (แคลเซี่ยม, โบรอน, สังกะสี, ทองแดง ฯลฯ ครบครัน)
2. เปลือกกุ้ง กากปู นอกจากธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรองครบครันแล้ว ยังได้สารไคโตซาน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้พืชอีกด้วย
3. หอย เช่น หอยเชอรี่จากในนาข้าว หอยทากจากในสวน เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส นอกจากลดจำนวนประชากรศัตรูพืชแล้ว ยังได้ปุ๋ย โปรตีน แคลเซี่ยม ไว้ใส่ต้นไม้อีก

วิธีการทำปุ๋ยหมักน้ำ
ก่อนอื่นก็ต้องมีถังหมัก ต้องใช้ถังแบบมีเข็มขัดรัดฝาเหมือนกับถังหมักขยายเชื้อจุลินทรีย์ แต่คราวนี้เลือกขนาดถังตามใจชอบ ขอแค่ตรวจสอบดูว่าเป็นถังแบบที่ล็อคฝาได้แน่นหนาพอสมควร (มีถังใส่สารเคมีในโรงงานแบบเป็นผง เข็มขัดจะรัดฝาได้ไม่แน่น และฝาไม่ค่อยแข็งแรง ร้านค้าจะขายในราคาถูกกว่าถังบรรจุของเหลวมาก ไม่แนะนำให้ใช้ ใช้แบบถังบรรจุของเหลวดีกว่า)

อัตราส่วนผสม ตัวเลขนี้สำหรับถัง 20 ลิตร ถ้าใช้ถังใหญ่กว่านี้เช่นถัง 60 ลิตร ก็คูณ 3 เข้าไปได้เลย
1. พืชชนิดที่ต้องการหมัก มาสับ, ตำ, หั่น, ปั่น ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ 3 กิโลกรัม
ให้แยกชนิดพืชทั้ง 7 ประเภท ไม่ควรนำมาหมักรวมกันนะครับ เพราะสรรพคุณจะลดลง ในกรณีพืชรสจืดจากผักก้นครัวอาจจะอนุโลมหมักผักกาด รวมกับคะน้า รวมกับผักบุ้ง รวมกับผักเหลียง ได้ แต่ให้แยกพริก มะกรูด โหระพา สะระแหน่ กระเพรา ออก
2. กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
กากน้ำตาลจะราคาถูก แต่ต้องใช้เวลาหมักนานกว่า ต้องหมักไว้ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้สารทาร์ ในกากน้ำตาลลดความเป็นพิษลงจนปลอดภัยต่อพืช จึงจะนำไปใช้ได้ ถ้าใช้น้ำตาลทรายแดง หมักไว้ประมาณ 1 เดือนก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว แต่หลังจากพ้นระยะปลอดภัยไปแล้ว ยิ่งหมักไว้นานยิ่งดี
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์(ที่หมักขยายไว้แล้ว) 1 ลิตร
4. น้ำสะอาด 10 ลิตร

วิธีการหมัก

  1. เทน้ำสะอาด กากน้ำตาล และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ลงในถังคนให้กากน้ำตาลละลายน้ำให้หมด……ถ้าให้ดี ใช้มือล้วงลงไปตรวจสอบที่ก้นถังด้วย เพราะกากน้ำตาลละลายน้ำยากเหมือนกัน
  2. นำพืชที่ต้องการหมักใส่ลงไปในถัง คนให้ทั่ว และกดให้พืชจมน้ำให้หมด สังเกตว่าจะมีช่องว่างเหนือผิวน้ำถึงฝาถังประมาณ 20 % อย่าหมักจนเต็ม หรือเกือบเต็มถัง
  3. ปิดฝาถัง ล็อคให้สนิท เก็บไว้ในที่แห้ง เย็น ไม่โดนแสงแดด ทิ้งไว้สัก 3 เดือนก่อน
  4. ระยะแรกๆ คอยเปิดฝาถังดู สัก 3 – 5 วัน/ครั้งนะครับ เพราะพืชจะลอยขึ้นเหนือน้ำ ต้องคอย คน และกดให้จมน้ำอยู่เสมอๆ ผ่านไปสักเดือนก็จะจมหมดเอง คราวนี้ก็ปล่อยได้เลย

หมายเหตุ ถ้าหมักกลุ่มที่ 2 (เนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์) ก็ใช้วิธีเดียวกันกับพืช แต่ต้องเพิ่มกากน้ำตาลเป็น 3 กิโลกรัม เท่านั้นเอง ถ้ากากน้ำตาลน้อยจะมีกลิ่นเหม็น + มีหนอน

น้ำหมักเหล่านี้เป็นอาหารทางด่วน ทางใบที่ดีอีกอย่างหนึ่งด้วย
มียกเว้นพืชประเภทหนึ่งครับ คือ สะระแหน่ ไม่ชอบน้ำหมัก รดเมื่อไหร่ก็เดี้ยงเมื่อนั้น แต่ชอบน้ำล้างปลา มากๆ การจะรด หรือฉีดพ่นน้ำหมักรสเมาเบื่อ ควรจะดูเวลาแมลงด้วย ส่วนใหญ่จะมาตอนเช้ามืด เราก็ฉีดเสียตั้งแต่ 4 – 5 นาฬิกา

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ดิน

แสดงความคิดเห็น