การเลี้ยงปลาสลิดในนา

28 กันยายน 2559 สัตว์ 0

การเลี้ยงปลาสลิดนิยมเลี้ยงในนาปลา ซึ่งเริ่มมาจาการเลี้ยงในนาข้าว แต่เนื่องจากผลผลิตของข้าวที่ได้ไม่ดีเท่าปลา ชาวนาจึงเลิกทำนาแล้วหันมาเลี้ยงปลาสลิดในนาเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มมีผู้ทำการเลี้ยงปลาสลิดในนาประมาณปี พ.ศ. 2500 ในเขตชลประทานโครงการเชียงราก-คลองด่าน ของโครงการใหญ่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับบริเวณที่ใช้ทำนำปลาสลิดในขณะนั้นอยู่ระหว่างคลองสำโรงกับถนนสุขุมวิทในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา

การเลือกทำเลที่เหมาะสม
นาทุกแปลงมิใช่ว่าจะเหมาะสมในการเลี้ยงปลาในนาเสมอไป ซึ่งการเลี้ยงปลาในนามักจะประสบปัญหาอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำ เช่น น้ำบางท้องที่อาศัยเฉพาะน้ำฝนหรือไม่สามารถรักษาระดับน้ำในผืนนาไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ต้องการ ดังนั้นหากนาที่จะเลี้ยงปลาสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากกว่าปกติเพียงประมาณ 30 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อยตลอดฤดูกาลเลี้ยงและสามารถควบคุมปริมาณน้ำโดยไม่ให้ท่วมผืนนาได้แล้ว นาแปลงนั้นก็สามารถที่จะเลี้ยงปลาได้ผลดี
ดังนั้นในการเลือกทะเลที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาในนาควรยึดหลักในการเลือกผืนนาดังนี้คือ ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น คู คลอง หนอง บึง หรือทางน้ำไหลที่สามารถนำน้ำเข้าแปลงนาได้ ไม่เป็นที่ลุ่มจนน้ำท่วมหรือที่ดอนเกินไปจนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ นอกจากนี้จะต้องสะดวกต่อการดูแลรักษาด้วย

plasalidnabos

ลักษณะและขนาดของแปลงนา
นาที่ใช้เลี้ยงปลาสลิดส่วนใหญ่ดัดแปลงมาจากนาข้าว โดยขุดคูรอบผืนนาและนำดินขึ้นมาถมทำเป็นคันดินเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เลี้ยงปลา ขนาดของนาปลาสลิดจะแตกต่างกันมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่นาของเกษตรกร โดยนาปลาสลิดมีขนาดตั้งแต่ 5 ไร่จนถึงขนาดใหญ่กว่า 50 ไร่ ภายในนาให้ขุดเป็นคูโดยรอบขนานไปกับคันนา คูนาปลาสลิดกว้างประมาณ 3 เมตร ลึกประมาณ 75 เซนติเมตร จุดที่จะนำปลาขึ้นซึ่งอยู่ใกล้กับคลองจะลึกกว่าบริเวณอื่นประมาณ 1 เมตร และทำทางน้ำเข้าออกด้วย ที่มุมหนึ่งของแปลงนาให้สร้างเป็นนาขนาดเล็กมีพื้นที่ 10% ของแปลงนาทั้งหมด ไว้สำหรับใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และปล่อยให้ปลาสลิดผสมพันธุ์วางไข่ หากดินมีสภาพเป็นกรดหรือที่เรียกว่าดินเปรี้ยวก็ให้หว่านปูนขาวช่วยแก้ไขในปริมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ต้องคอยวัดค่าความเป็นกรดในแปลงนาอยู่เสมอ
บนพื้นที่นาจะปล่อยให้หญ้าขึ้นหนาแน่นเพื่อให้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิด และรักษาระดับน้ำให้ท่วมพื้นนาสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตรตลอดระยะการเลี้ยง หญ้ามีความสำคัญต่อการทำนาปลาสลิดมากเพราะว่าเป็นที่กำบังลมและฝนของหวอดไข่ปลา เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู เป็นปุ๋ยสำหรับก่อให้เกิดอาหารธรรมชาติของพวกแพลงค์ตอนและสัตว์หน้าดิน เป็นกำบังป้องกันไม่ให้อุณหภูมิบนแปลงนาร้อนจนเกินไปเมื่อมีแสงแดดจัด และการหมักหญ้าในนาก่อนเพาะฟักประมาณ 2-3 สัปดาห์จะช่วยแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำได้

plasalidnas

การปล่อยปลาลงเลี้ยง ปลูกปลาสลิดที่นำมาเลี้ยงในนานั้นส่วนใหญ่ได้จากเกษตรกรเพาะพันธุ์เอง ซึ่งแปลงเพาะพันธุ์จะอยู่ติดกับแปลงนาทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการถ่ายเทลูกปลา หลังจากทำการเพาะพันธุ์แล้วก็จะทำการอนุบาลลูกปลาไว้ในแปลงเพาะพันธุ์ต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน แล้วจึงเปิดประตูให้ลูกปลาเข้าไปในแปลงนาต่อไป

plasalidnabo

การเลี้ยงปลาสลิดในนาเกษตรกรจะทำการคัดเลือกพันธุ์และคัดเลือกเพศปลาสลิดไปเลี้ยงไว้ในแปลงเพาะพันธุ์ซึ่งอยู่ติดกับแปลงนาส่วนขนาดของแปลงเพาะพันธุ์นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของแปลงนาใหญ่ที่ใช้เลี้ยง ถ้าแปลงนาใหญ่มีเนื้อที่ 20 ไร่แปลงเพาะพันธุ์ควรมีขนาด 1.5- 2 ไร่ และขนาดของแปลงเพาะพันธุ์จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของขนาดแปลงนา แต่ไม่ควรเกิน 5 ไร่เพราะดูแลรักษายาก การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาสลิดเพื่อทำการเพาะขยายพันธุ์ควรปล่อยในอัตราประมาณ 160 คู่/ไร่ การเพาะพันธุ์ปลาสลิดกระทำโดยการเพิ่มระดับน้ำให้ท่วมแปลงเพาะพันธุ์ เมื่อระดับน้ำเพิ่มขึ้นพ่อแม่พันธุ์จะขึ้นไปวางไข่บนแปลงนาพร้อม ๆ กันภายใน 1 สัปดาห์ทำให้ได้ลูกปลาสลิดที่มีขนาดเดียวกันมาเลี้ยง หลังจากอนุบาลลูกปลาสลิดอยู่ประมาณ 2 เดือนจึงทำการเปิดประตูให้ลูกปลาออกสู่แปลงนาใหญ่ อัตราการปล่อยลูกปลาสลิดลงเลี้ยงในแปลงนาใหญ่คือไม่ควรเกิน 5,000 ตัว/ไร่ สำหรับวิธีการล่อให้ลูกปลาสลิดออกสู่แปลงนาใหญ่นั้นทำได้โดยการสูบน้ำเข้าแปลงนาใหญ่และเปิดให้ไหลลงสู่แปลงเพาะพันธุ์ ลูกปลาสลิดก็จะว่ายทวนน้ำออกไปสู่แปลงนาใหญ่ต่อไป

plasalidnakaw

การให้อาหาร
ตามธรรมชาติแล้วปลาสลิดมีนิสัยชอบกินอาหารที่มีชีวิต จึงนิยมเลี้ยงในที่กว้าง ๆ อย่างแปลงนาซึ่งมีสภาพเหมาะสมสำหรับการเตรียมอาหารธรรมชาติ แปลงนาที่ดีควรมีพืชน้ำประเภทหญ้า เช่น หญ้าทรงกระเทียม หญ้าชันกาด หญ้าไทร และหญ้าแพรกขึ้นอย่างหนาแน่น

ในการเตรียมอาหารโดยทั่วไปเกษตรกรจะตัดหญ้าส่วนที่อยู่เหนือน้ำในแปลงนาเป็นแนวเว้นแนวทั่วแปลงนา เมื่อแนวหญ้าที่ตัดเจริญโผล่ขึ้นเหนือน้ำจึงตัดหญ้าในแนวที่ยังไม่ได้ตัดอีก ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง แล้วกรายหญ้าที่ตัดไว้บนแปลงนา หมักหญ้าที่ตัดไว้ในแปลงนาจนเน่าเปื่อยจนก่อให้เกิดอาหารธรรมชาติต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ โดยเริ่มจากจุลินทรีย์เป็นตัวทำให้หญ้าเปื่อยสลายจนกระทั่งเกิดแพลงค์ตอน กุ้งปูขนาดเล็ก และตัวอ่อนของแมลงที่ปลาสามารถใช้เป็นอาหารได้ในที่สุด

plasalidnafang

เนื่องจากการเตรียมอาหารจากปุ๋ยพืชสดโดยการตัดหญ้าจะให้ผลล่าช้า คือจะต้องเวลานากว่า 7 วัน จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกควบคู่ไปกับการตัดหญ้าด้วย โดยใส่ปุ๋ยทุกวัน ๆ ละ 2.5 กิโลกรัม/ไร่ วิธีนี้จะช่วยให้เกิดอาหารในปริมาณมากและเร็วขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 3 วัน ผลผลิตที่ได้ก็สูงกว่าการเลี้ยงแบบไม่ใส่ปุ๋ย นอกจากนี้แนะนำให้เพิ่มผลผลิตปลาสลิดด้วยการให้อาหารสมทบประเภทเม็ดร่วมกับการใส่ปุ๋ยด้วย โดยให้อาหาร 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาต่อวัน

สำหรับความสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติในนาปลานั้น ให้สังเกตดูน้ำว่าเป็นสีเขียวขุ่นโดยจุ่มมือลงไปประมาณแค่ข้อศอก ถ้ายังเห็ดมืออยู่ในน้ำก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ กล่าวคือ มีอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอก็ให้เพิ่มการตัดหญ้าหรือใส่ปุ๋ยลงไปอีก แต่ถ้ามองเห็ดลาง ๆ ก็แสดงว่ามีความสมบูรณ์สูง

การจับปลาสลิด
เมื่อมีความจำเป็นจะต้องจับปลาสลิดในวัยอ่อนเพื่อแยกไปเพาะเลี้ยง ควรใช้กระชอนตักแล้วใช้ขันหรือถังตักลูกปลาโดยให้ติดทั้งน้ำและตัวปลาขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อมิให้ปลาบอบช้ำ ถ้าเป็นลูกปลาที่โตแล้วควรใช้สวิงตาถี่ แล้วจึงใช้ขันตักขึ้นจากสวิงอีกชั้นหนึ่ง

การจับปลาเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันจะต้องจับปลาที่มีขนาดยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป ควรใช้ลอบยืนไปวางไว้ตามมุมบ่อ เพราะถ้าใช้แหทอดหรือจ้องใช้สวิงตักตรงแป้นอาหาร ปลาก็จะกลัวไม่กล้ามากินอาหารตามบริเวณนั้นอีกหลายวัน

plasalidnajab

ส่วนการจับปลาให้หมดทั้งบ่อเพื่อจำหน่ายนั้นควรจับในเดือนมีนาคม เพราะเป็นฤดูที่ปลาไม่ได้วางไข่ โดยการสูบน้ำในแปลงนาให้ลดระดับลงทีละน้อย เพื่อให้ปลารู้ตัวและหนีลงไปอยู่ในคูที่ขุดไว้ตั้งแต่การขุดบ่อครั้งแรกแล้ว และเอาอวนเปลวางไว้ในคูตรงจุดที่ลึกที่สุด ปลาที่หนีลงคูซึ่งยังมีน้ำลึกอยู่ก็จะไปรวมกันอยู่ในคูที่มีอวนรองรับอยู่ข้างใต้ เมื่อน้ำลดระดับลงไปจนเห็นก้นบ่อแล้วก็ต้องเดินตรวจดูบนแปลงนาว่ายังมีปลาตกค้างอยู่บนแปลงนานั้นอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ให้เอาสวิงช้อนเก็บมา และเมื่อสูบน้ำออกจนพื้นแปลงนาแห้งแล้วจึงรวบหูอวนขึ้น ปลาก็จะติดอยู่ในอวน แล้วทำการคัดเลือกปลาเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงในรุ่นต่อไป ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายหรือแปรรูป

plasalidnapla

ที่มา
การเลี้ยงปลาสลิด. พิมพ์ครั้งที่ 1 อักษรสยามการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร หน้า 61-66.

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น