เล็บเหยี่ยว ผลไม้หน้าแล้ง

26 มิถุนายน 2557 ไม้ผล 0

เล็บเหยี่ยวเป็นไม้เถายืนต้น ขนาดย่อม มีหนามแหลมตม คล้ายเล็บเหยี่ยวเล็กๆ ทั่วทั้งต้น ใบเดี่ยวรูปทรงกลมรีเล็กน้อย ดอกเล็กๆ กลมเป็นช่อ น้ำหวานจากดอกเป็นอาหารของแมลงตัวเล็กๆ จำพวก กระรอก กระแต นกป่า บางชนิด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus oenoplia (L.) Mill. var oenoplia
ชื่อวงศ์ Rhamnaceae
ชื่ออื่นๆ หมากหนาม หนามเล็บเหยี่ยว มะตันขอ (ภาคเหนือ) ยับยิ้ว (ภาคใต้) พุทราขอ เล็ดเหยี่ยว เล็บเหยี่ยว (ภาคกลาง) แสงคำ (นครศรีธรรมราช) สั่งคัน (สุราษฎร์ธานี ระนอง) ตาฉู่แม โลชูมี (เชียงใหม่) เล็บแมว ยับเยี่ยว (นครราชสีมา)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง ยาว 3-10 เมตร เถาและกิ่งมีหนามสั้นแหลมโค้งตามลำต้น และกิ่งก้าน เปลือกเถาเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย สีดำเทา กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล เปลือกในสีแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบรี กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 2-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบ แผ่นใบอ่อนทั้งสองด้านมีขนนุ่มสั้นๆ ผิวใบด้านบนเรียบ หรือมีขนเล็กน้อย ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มจำนวนมาก เส้นใบ 3 เส้น ออกจากฐานใบไปปลายใบ ก้านใบยาว 2-8 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบเป็นช่อกระจุก ขนาดเล็ก ดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกยาว 4-6 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกยาว 0.5-1.0 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับช่อดอก 1 อัน ยาว 2-3 มิลลิเมตร มีขนกระจายทั่วไป ดอกจำนวน 5-11 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 1.0-2.5 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปช้อน ปลายกลม ยาว 0.8-1 มิลลิเมตร กว้าง 0.2-0.5 มิลลิเมตร สีเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง ออกสลับกับกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ มี 5 อัน สีเขียวอมเหลือง ก้านชูเกสรแบน ยาว 0.5-0.8 มิลลิเมตร ติดที่ฐานของกลีบดอก อับเรณูรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.1-0.2 มิลลิเมตร สีน้ำตาล เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่เกิดจาก 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 1 ช่อง และ 1 ออวุล ก้านและยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปขวด ยาว 0.5-1.0 มิลลิเมตร เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง จานฐานดอกขนาด 1.5 มิลลิเมตร ผิวขรุขระ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ หลอดกลีบกว้าง 0.5-1.0 มิลลิเมตร ยาว 1.5-2.0 มิลลิเมตร ปลายแฉกกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 1.0-1.5 มิลลิเมตร สีเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง ปลายกลีบด้านนอกมีขนเล็กน้อย ผลสดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวพอสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ก้านผลยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนกระจายทั่วไป เมล็ดแข็งมี 1 เมล็ด รูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาว 6-9 มิลลิเมตร ปลายกลม พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าคืนสภาพ ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ผลแก่มีรสเปรี้ยว รับประทานได้ จะออกลูกให้ได้ลิ้มรสกันประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี.

lebyeawbai lebyeawton lebyeawking lebyeawpon

ส่วนใหญ่แล้วจะพบเห็นเล็บเหยี่ยวทั่วไปตามที่ราบป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขาภาคอีสานหรือภาคเหนือ โดยเล็บเหยี่ยว จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ

  1. เล็บเหยี่ยวตัวผู้
  2. เล็บเหยี่ยวตัวแม่

โดยใช้ลักษณะของหนามที่แตกต่างกันเป็นตัวจำแนก สำหรับเล็บเหยี่ยวนั้น ไม่เพียงเป็นผลไม้ป่า ที่หากินได้ไม่ง่ายนัก แล้วคุณรู้กันหรือเปล่าค่ะว่า ต้นของเล็บเหยี่ยวนั้น มากไปด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายด้านสมุนไพร ซึ่งคนไทยสมัยก่อน นั้นมักจะนำส่วนของเปลือกและรากนำมาต้มดื่มใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาสมุนไพรอีกหนึ่งแขนงที่มีสรรพคุณดีเลิศ

อีกทั้งเล็บเหยี่ยว ยังเป็นผลไม้ป่า ที่ทนต่อสภาพอากาศ ตัวฉันเคยพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ตามป่าแถวบ้าน และก็ชอบที่จะไปเก็บมากิน เพราะมีรสชาติที่ถือว่าอร่อยเลยทีเดียว แต่ถ้ามันสุกยังไม่มาก ก็จะมีรสเปรี้ยวมาก แต่ถ้าสุกแล้วก็จะมีรสชาติที่หวาน อร่อย กินง่าย แต่การที่จะได้มากินนั้นยากแสนยาก เพราะต้นเล็บเหยี่ยว นั้น เต็มไปด้วยหนามมากมาย หากไม่ระมัดระวังของขั้นตอนการเก็บ ก็อาจจะโดนหนามแหลมๆของลำต้นเกี่ยวเอาได้ แต่มันก็เป็นอะไรที่ท้าทายดี เพราะกว่าแต่ละปีจะเห็น และ ได้เก็บกิน มันก็ต้องใช้เวลาที่นานอยู่เหมือนกันในแต่ละปี

lebyeawtons

สรรพคุณ
ตำรายาไทย ราก เปลือกต้น รสจืดเฝื่อนเล็กน้อย ต้มดื่มเป็นยาขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้มดลูกพิการ แก้ฝีมุตกิด แก้ฝีในมดลูก และแก้โรคเบาหวาน ผล รสเปรี้ยวหวาน ฝาดเย็น แก้เสมหะ แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ ผลสุกรับประทานได้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน เป็นยาระบาย
ประเทศอินเดีย ราก ใช้ขับพยาธิตัวกลม ช่วยย่อย ฆ่าเชื้อ รักษาภาวะกรดเกิน ปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร สมานแผล

  • ผลสุก รับประทานได้(เมี่ยน,คนเมือง)
  • ลำต้น ตากแห้งผสมกับ เปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง ลำ ต้นฮ่อสะพายควาย ม้ากระทืบโรง จะค่าน ตานเหลือง ข้าว หลามดง หัวยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูก และโด่ไม่รู้ล้ม ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย หรือต้มน้ำดื่ม ร่วมกับปูเลยและข้าวหลามดง ช่วยให้มีกำลังหลังจากฟื้นไข้(คนเมือง)

สภาพนิเวศ พบในป่าทั่วไป ชอบแสงแดดจัด ขึ้นได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี
ขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

lebyeawkla

อ้างอิง
เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น