การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ
เสื่อกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต
ภูมิภาคหนึ่งที่มีการสืบสานภูมิปัญญาทางด้านการทอเสื่อกกนี้มายาวนาน จนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาทดแทนการใช้เสื่อกกมากมายให้เลือก นับตั้งแต่เสื่อน้ำมัน พรม กระเบื้องปูพื้น และอื่นๆ ทำให้กระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกลดลง และคนรุ่นใหม่ก็สนใจในภูมิรู้ด้านนี้น้อย
การทอเสื่อกก ของชาวไทยเป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินสืบเนื่องกันมาในระบบครอบครัว นับตั้งแต่บรรพชนจนถึงปัจจุบัน เกือบทุกครัวเรือนที่ลูกหลานต่างซึมซับรับรู้ภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อนี้เข้าไว้ในตัว
แม้ชาวชุมชนจะมีอาชีพหลักทางด้านเกษตรกรรมการทำนาข้าว และการเลี้ยงกุ้ง แต่พื้นที่บางส่วนก็ถูกกันไว้เพื่อทำนากก บ้านใดปลูกข้าวน้อยก็จะปลูกกกมาก บ้านใดปลูกข้าวมากก็เหลือพื้นที่ไว้ปลูกกกบ้าง เพื่อให้ได้วัตถุดิบมาทอเป็นเสื่อสร้างรายได้เสริมยามว่างจากเกษตรกรรม
ครั้นมีหน่วยงานทางราชการเข้ามาแนะนำส่งเสริม ทั้งการพัฒนาปรับปรุงการทำนากก ทั้งการทอเสื่อ ตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ธุรกิจชุมชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดการตื่นตัวของชาวชุมชน มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการเป็นกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อทั้งหมู่ที่ ๘ และหมู่ที่ ๙ สร้างความเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันแก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อนี้ให้มีความมั่นคงขึ้น
แม้ปัจจุบันกระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกจะลดลง ค่านิยมในการทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมของคนรุ่นใหม่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลิตภัณฑ์เสื่อกกก็ยังมีการทำออกมาอย่างไม่ขาดสาย เพราะคนหนุ่มคนสาวถึงแม้จะอยู่ที่โรงงาน แต่คนแก่คนเฒ่าที่เฝ้าบ้านรอการเก็บเกี่ยวผลิตผลด้านการเกษตร ต่างไม่ปล่อยเวลาว่างให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า การทอเสื่อกกของชุมชน จึงยังคงอยู่ได้เสมอมาจนถึงวันนี้
การทอเสื่อ เป็นไปเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน โดยท้องถิ่นใดมีต้นกกก็ทอเสื่อกก ท้องถิ่นใดมีต้นกระจูดก็ทอเสื่อกระจูด เสื่อในอดีตเป็นของใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่งหรือนอน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า บ้านใดไม่มีเสื่อใช้ ถือว่า พ่อ แม่ ลูก เกียจคร้านไม่มีฝีมือ หนุ่มสาวที่แต่งงานตั้งครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่ จะต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน นอกจากนี้ยังทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด เพื่อบำรุงศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ และยังนำเสื่อที่ทอไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย
ชาวชุมชุนมีค่านิยมทางวัฒนธรรมดังเช่นที่กล่าวมา ดังนั้นภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อกกจึงเสมือนภูมิรู้พื้นบ้านที่แต่ละครัวเรือนต้องปลูกฝังให้ลูกหลานมีความรู้ มิให้ได้ชื่อว่าเกียจคร้าน มิต้องเสียทรัพย์สินเงินทองไปซื้อหา และมิให้เวลาว่างสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะทอไว้เพื่อใช้เองในครัวเรือนแล้วยังสามารถทอเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันขณะที่แนวโน้มภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่างๆ กำลังจะสูญหายไป แต่การทอเสื่อที่ตำบลดงน้อยกลับเกาะกลุ่มเป็นชุมชนเข้มแข็ง ยืนหยัดพัฒนาภูมิปัญญานี้ต้านกระแสค่านิยมใหม่ของสังคมอย่างเหนียวแน่น การศึกษาข้อมูลของชุมชนนี้ก็เพื่อศึกษาปัจจัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องว่า เป็นเพราะเหตุผลใดที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้จึงยังคงดำรงอยู่ได้อย่างยืนยงมาตลอด
การทอเสื่อกกของชาวชุมชนมีการทำสืบทอดกันมายาวนานนับตั้งแต่แรกเริ่มตั้งหมู่บ้าน และถ่ายทอดอารยธรรมทางปัญญาสืบต่อๆ กันมาทางระบบครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ด้วยมูลเหตุทางด้านภูมิศาสตร์ พื้นที่ในชุมชนมีต้นกกขึ้นแต่แรก และมีการทำนากก เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบธรรมชาติไว้ใช้ในการทอเสื่อสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ความรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ดำรงอยู่สืบมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันการทำนากกบางครอบครัวยึดถือเป็นอาชีพหลัก นอกเหนือจากการทำนาข้าว เลี้ยงกุ้ง หรือเกษตรกรรมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสามารถขายผลผลิตที่เป็นกกสดหรือกกเส้นแก่ผู้ทอรายอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี กระทั่งมีพ่อค้ารับส่งถึงที่ เพื่อไปขายให้แก่ผู้ทอในจังหวัดอื่นๆ ถึงจันทบุรีก็มี
เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อกก เป็นพื้นฐานความรู้ที่เริ่มตั้งแต่ครอบครัว ที่ทำเพื่อไว้ใช้และทำเหลือจากใช้ไว้ขายเป็นรายได้เสริม เด็กๆ ได้ซึมซับรับรู้กรรมวิธีและขั้นตอนการทำ การทอนี้มาตลอด เมื่อโตพอก็จะได้รับการฝึกฝนจนเป็นทักษะและความชำนาญ และกลายเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ไปในที่สุด แม้ปัจจุบันจะมีกระแสค่านิยมในอาชีพตามโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นทางเลือก ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่พึงพอใจจะอยู่สืบสานงานอาชีพด้านเกษตรกรรม และการทอเสื่อกกจากบรรพชนอยู่กับบ้าน อีกทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่เคยปล่อยเวลาว่างให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือล้วนอยู่ใกล้ตัว เพียงหยิบฉวยเส้นกกขึ้นสอดใส่ไม่ช้าก็ได้เสื่อผืนงามที่ทำรายได้อย่างน่าพอใจในระดับหนึ่ง
และผลพวงแห่งแนวนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน เน้นส่งเสริมให้สร้างรายได้เป็นธุรกิจชุมชน จนถึงขั้นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ทำให้การทอเสื่อกกของชาวชุมชนแบบดั้งเดิม ได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ถึงแม้ค่านิยมในการใช้เสื่อกกในปัจจุบันจะลดลง แต่การทำนากก การทอเสื่อกกก็ยังสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมแก่ชาวชุมชนได้ไม่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการเป็นกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนทั้งทางด้านการผลิตและทางด้านการตลาด
ส่วนในด้านการอนุรักษ์และถ่ายทอด ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวนโยบายของรัฐบาล ทำให้ชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาของท้องถิ่น มีการเชิญให้ผู้ประกอบการเป็นวิทยากรสอนความรู้แก่นักเรียนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป จนกระทั่งบางโรงเรียนสร้างเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการทอเสื่อให้แก่นักเรียนดังที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการทอเสื่อ
ขั้นตอนหรือวิธีการที่สำคัญๆ มีดังนี้
ป้ายคำ : ภูมิปัญญา