เห็ดโคนน้อย หรือ เห็ดโคนเพาะ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ “เห็ดถั่ว” นั่นเอง แต่เป็นคนละชนิดกับเห็ดโคนปลวก เห็ดถั่วเป็นเห็ดที่เรารู้จักกันมานานแล้ว และสามารถที่จะนำไปเพาะเพื่อเป็นการค้าก็ได้ เห็ดโคนน้อยนี้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด เช่น เห็ดถั่วทอง (กาญจนบุรี) เห็ดโคนน่านหรือเห็ดโคนขาว (ลำปาง แม่ฮ่องสอน) เห็ดคราม (ขอนแก่น มหาสารคาม) เป็นต้น
การตั้งชื่อเห็ดโคนน้อย ก็เพื่อเป็นจุดขาย และปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับกันในวงการเพาะเห็ด
เห็ดโคนน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โคไพรนัส ไฟมิทาเรียส (Coprinus fimetarrius) จัดอยู่ใน ตระกูลเห็ด (Basidiomycetes ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป มีชื่อเรียกตามวัสดุเพาะ เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก(ภาคกลาง) เป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย เห็ดชนิดนี้นมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ สามารถที่จะใช้วัสดุเพาะอื่นๆเพาะได้อีกมากไม่ว่าจะเป็นต้นและใบถั่วต่างๆ ต้นข้าวโพด ทะลายปาล์มน้ำมัน ผักตบชวา ต้นและใบกล้วย ซึ่งสามารถที่จะนำมาเป็นวัสดุเพาะได้ทั้งสิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะ เห็ดโคนน้อยคือการสลายตัวง่ายของดอกเห็ด เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีวงจรชีวิตสั้นมากไม่เกิน 36 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น โดยตอนเช้าจะมีขนาดเล็กและจะโตขึ้นในช่วงบ่าย ซึ่งจะต้องรีบเก็บ หากปล่อยทิ้งไว้ ดอกเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสูงชะลูดขึ้น หมวกดอกจะบางและเปลี่ยนเป็นสีดำและสลายตัว เป็นที่มาของชื่อเห็ดหมึกซึ่งไม่สามารถนำมาบริโภค จึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น นอกจากจะทำการลวกให้สุกเสียก่อนก็พอที่จะสามารถเก็บได้นานขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการเจริญเติบโตเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง (autolysis) อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ ได้มีการนำของเหลวจากการสลายตัวนี้มาใช้ประโยชน์ได้เช่นทำน้ำหมึกเพื่อทำต้น ฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
การเพาะเห็ดโคนน้อยแบบกอง
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเห็ด
วิธีการเพาะ
อัดวัสดุเพาะในกระบะหรือแบบพิมพ์ เสร็จแล้วอัดฟางให้แน่นแล้วนำเชือกมามัดฟางให้เป็นก้อน หรือจะกะน้ำหนักให้ได้ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อมัด หลังจากนั้น ต้มน้ำแล้วละลายอาหารเสริมในน้ำที่เดือด ที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส หรือพอน้ำเดือด จึงนำวัสดุเพาะฟางข้าวที่มัดเป็นก้อนจุ่มลงไป ในน้ำทิ้งเอาไว้นาน 5-10 นาที เพื่อให้อาหารเสริมได้ซึมเข้าไปในวัสดุเพาะ และเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดโรคและแมลง และวัชพืชเห็ดต่าง ๆ อีกด้วย จากนั้น นำขึ้นแล้วปล่อยให้เย็นลง ใส่เชื้อเห็ดลงไป
ถ้าใส่เชื้อเห็ดในขณะที่วัสดุเพาะที่ยังร้อนอยู่จะทำให้เชื้อเห็ดตายได้ ยีก้อนเชื้อเห็ดให้กระจายออก นำมาผสมกับรำข้าวในอัตราส่วน 1:1 แล้วหยอดเชื้อเห็ดเป็นจุด ๆ รอบ ๆ กองวัสดุเพาะ แต่ละจุดห่างกัน 10-15 เซนติเมตร และต้องลึกลงไปในวัสดุเพาะ 1 นิ้ว ใช้มือหรือไม้ทำเป็นรูใส่เชื้อเห็ดก็ได้ หลังจากนั้น นำพลาสติกมาคลุมที่กอง ใช้พลาสติกสีดำหรือสีฟ้าก็ได้ โดยพลาสติกจะเป็นตัวที่จะดึงดูดแสงและควบคุมอุณหภูมิได้ดี
จากนั้นคลุมด้านบนอีกชั้นด้วยกระสอบป่านหรือฟางข้าวก็ได้ เพื่อให้เกิดความร้อนภายในกองวัสดุเพาะ เชื้อเห็ดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 35-45 องศาเซลเซียส ระยะนี้ ไม่จำเป็นจะต้องนำอากาศเข้าไปในกองเห็ด เส้นใยเห็ดโคนน้อยจะเจริญเติบโตได้รวดเร็ว โดยปกติ 4-5 วัน เส้นใยเห็ดจะเจริญได้ทั่วทั้งวัสดุเพาะแล้ว
การกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดโคนน้อยเกิดดอก ต้องยกวัสดุคลุมกองให้สูงขึ้นกว่าในตอนแรก เนื่องจากเวลาเกิดดอกแล้วจะติดอยู่กับพลาสติกที่คลุมอยู่และเป็นการสะดวกในการเก็บผลผลิต การทำที่คลุมต้องทำเป็นลักษณะคล้ายฝาชีครอบลงไปเพื่อสะดวกต่อการเปิดปิดง่าย จะใช้วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ หรือกรงเหล็กครอบกองก็ได้ ให้มีความสูง 20-30 เซนติเมตร และคลุมด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการระเหย และต้องเจาะรูเพื่อเป็นการระบายอากาศ ส่วนด้านบนและด้านหลังควรคุมด้วยฟางแห้งให้มิดชิด
สำหรับการดูแลรักษาโดยทั่ว ๆ ไป หลังการเพาะจะต้องดูแลเรื่องศัตรูพืช เช่น มด ไรต่าง ๆ ไม่ให้มารบกวน อาจโรยปูนขาวรอบๆกอง และควรจะให้อุณหภูมิอยู่ประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และรดน้ำบนพื้นหรือวัสดุคลุมกอง หากภายในกองแห้งเกินไป
การเก็บผลผลิตจะเริ่มเก็บช่วงบ่ายถึงเย็น วิธีเก็บให้ใช้มีดสอดไปที่ฐานของดอกเห็ดพร้อมทั้งบิดไปมา ซ้ายขวา ดอกเห็ดโคนน้อยมีขนาดเล็กจะหลุดได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง เมื่อเก็บดอกเห็ดแล้วควรนำไปใส่ภาชนะที่สะอาด เช่น ตะกร้าหรือกะละมัง และไม่ควรใส่มากเกินไป จะทำให้ดอกเห็ดทับกันทำให้ช้ำได้ง่าย ดอกเห็ดจะบานและเป็นสีดำอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง การยืดเวลาไม่ให้เห็ดเกิดความเสียหายได้ง่าย จึงควรเก็บในที่เย็น ที่อุณหภูมิ ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และเก็บในลักษณะสูญญากาศ
การเพาะเห็ดโคนน้อยในตระกร้า
เห็ดโคนน้อย (เห็ดถั่ว) เป็นเห็ดที่เพาะง่าย และให้ผลผลิตที่สูง มีรสชาติอร่อย จึงเริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่บริโภคเฉพาะในท้องถิ่น เราสามารถนำมาบริโภคได้ภายใน 5-7 วันนับจากวันที่เริ่มเพาะเห็ด โดยใช้ ฟางข้าว เป็นวัสดุเพาะ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะใช้วัสดุเพาะอื่น ๆ เพาะได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นและใบถั่วต่าง ๆ ต้นและซังข้าวโพด ทะลายปาล์มน้ำมัน ผักตบชวา ต้นและใบกล้วยที่นำมาหมักให้ย่อยสลายบางส่วน ซึ่งสามารถที่จะนำมาเป็นวัสดุเพาะได้ทั้งสิ้น และเป็นวัสดุเพาะที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การเพาะเพื่อการบริโภคในครัวเรือนสามารถทำได้ง่ายๆโดยวิธีการเพาะแบบกอง ไม่จำเป็นต้องเพาะในโรงเพาะเห็ด
ขั้นตอนการเพาะ
สูตรอาหารสำหรับ 100 ตะกร้า
วิธีการปฏิบัติ
วันที่ 1 (วันแรกที่เริ่มปฏิบัติ ไม่ใช่วันในปฏิทิน)
1. ต้มน้ำ ประมาณ 150 ลิตร ในถัง(ถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ผ่า 3ใน4) เติมรำละเอียด 1กก. กากน้ำตาล 1 กก. ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทสูตร 15-0-0 2 กก. ปุ๋ยยูเรีย 1 กก. ต้มน้ำจนเดือดเป็นไอขึ้นมา
2. นำฟางแห้งลงต้มหรือลวกจนกระทั่งฟางนิ่ม แล้วตักขึ้นนำไปกองไว้
3. นำพลาสติกมาคลุมกองฟางที่ลวกแล้ว (คลุมให้มิดชิด) บ่มทิ้งไว้ 1 คืน
วันที่ 2
1.นำเชื้อเห็ดมายีให้ร่วน (ขยี้เบา ๆ ) นำมาคลุกกับอาหารเสริม (แป้งข้าวเหนียวผสมรำละเอียดอัตราส่วน 1:1ส่วน) ใช้อัตรา 1 กำมือต่อหัวเชื้อเห็ด 1 ถุง
2. วางตะกร้าพลาสติกสำหรับเพาะเห็ดที่เตรียมไว้วางบนพื้นที่สะอาด( แต่ต้องปูพลาสติกหรือกระสอบฟางรองพื้นก่อน)
3. นำตะกร้าที่ตัดก้นออกสวมลงในตะกร้าเพาะอีกชั้นเพื่อทำเป็นแบบพิมพ์
4.นำฟางที่ลวกแล้วที่เตรียมในวันที่ 1ใส่ลงในตะกร้าเพาะเป็นชั้น ๆ ดังนี้
4.1 ชั้นที่ 1 ใส่ฟางลงในตะกร้าหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตรใช้มือกดให้แน่น โรยเชื้อเห็ดที่
เตรียมไว้ให้ทั่วผิวหน้าฟาง
4.2 ชั้นที่ 2 ใส่ฟางหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตรใช้มือกดให้แน่น โรยเชื้อเห็ด เฉพาะบริเวณริมขอบชิดข้างตะกร้าเพาะโดยรอบ
4.3 ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ปฏิบัติเหมือนเช่นชั้นที่ 2
4.4 ชั้นที่ 5 โรยเชื้อเห็ดให้ทั่วผิวหน้าฟางแล้วทับด้วยฟางหน้าประมาณ 3-5 เซนติเมตร
4.5ใช้เท้าเหยียบกดก้อนฟางเบาๆเพื่อดึงตะกร้าแบบพิมพ์ออก แล้วจัดก้อนฟางให้เรียบร้อย
4.6 นำตะกร้าวัสดุเพาะที่เสร็จแล้วมาวางรวมกันไว้ ทำจนครบ 100 ตะกร้าแล้วค่อยนำเข้าไปแขวนบ่มโรงเรือน
4.7 ก่อนนำตะกร้าเพาะไปเข้าโรงเรือนให้รดน้ำก่อนด้วยน้ำปุ๋ยที่เย็นแล้ว หรือ น้ำเปล่าใส่บัวรดน้ำโดยรดผ่านๆไปมาพอเปียก)
4.8 นำตะกร้าวัสดุเพาะเข้าแขวนหรือวางเรียงในโรงเรือน โดยก่อนย้ายเข้าให้พ่นน้ำในโรงเรือนให้ มีความชื้นเสียก่อน
4.9 นับจากวันแรกที่ย้ายวัสดุเพาะเข้าโรงเรือนจนครบ 5 วัน ให้รักษาอุณหภูมิใน โรงเรือนให้ได้ประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส และรักษาความชื้นให้ได้ 80 % โดยปิดพลาสติกโรงเรือนให้มิดชิด
4.10 เห็ดโคนน้อยจะเริ่มออกดอกเห็ดให้เก็บผลผลิตได้ประมาณวันที่ 5-6 หลังจากที่นำตะกร้าวัสดุเพาะไปบ่มไว้ในโรงเรือน และจะทยอยเก็บดอกเห็ดได้ติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 10-15 วันปริมาณผลผลิตต่อตะกร้าวัสดุเพาะประมาณ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศว่าเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ดแต่ละครั้งในการเพาะ
การดูแลและทำความสะอาดดอกเห็ดหลังเก็บเกี่ยว
ดอกเห็ดที่ได้รับการเก็บเกี่ยวแล้ว ยังจะเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วหากเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิสูงจะทำให้ดอกเห็ดไม่มีคุณภาพน้ำหนักเบา บานง่าย ดังนั้นการเก็บเกี่ยวเห็ดโคนน้อย ไม่ควรเก็บใส่ในภาชนะที่ทึบและอับไม่ควรใส่เข้าไปในภาชนะให้มีปริมาณมากจนเกินไปมักจะนิยมใช้ตะกร้าโปร่งที่สามารถใส่ดอกเห็ดได้ประมาณ 4-5 กก. เมื่อทำการเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วควรรีบนำไปตัดแต่ง ทำความสะอาดแล้วนำไปจำหน่ายโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ ดอกเห็ดจะบานและกลายเป็นสีดำอย่างรวดเร็วเนื่องจากเห็ดมีการสลายตัว แต่ถ้าต้องการยืดอายุในการเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บในรูปเห็ดสดได้นานข้ามวันได้
สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ อาจารย์สันต์ชัย มุกดา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ หลักสูตรสาขาวิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 0 5387 5840 หรือ 08 9554 2325 (อาจารย์ สันต์ชัย มุกดา)หรือ 08 5614 8291(คุณไวกูณฑ์ อินทรคุปต์)
โดย
อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และสมศักดิ์ ศิริ นักวิชาการเกษตร งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9
ป้ายคำ : เพาะเห็ด