พืชล้มลุกมีเหง้าหรือลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นหัว ลำต้นสีแดง อวบน้ำ ออกดอกที่ปลายยอด ช่อดอกสีแดง กลีบดอกสีขาวแกมสีชมพูหรือเหลือง อับเรณูสีเหลือง ออกดอกช่วงเดือน สิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
เอื้องหมายนา (ทั่วไป) ; ชู้ไลบ้อง, ชูเลโบ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน ; เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช) ; เอื้องต้น (ยะลา) ; เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง) ; เอื้องใหญ่, บันไดสวรรค์ (ภาคใต้) ; crape ginger, malay ginger, spiral flag.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สูง 1-3 เมตร มักขึ้นเป็นกอ ลำต้นกลมฉ่ำน้ำ สีแดง รากเป็นหัวโตยาว ที่โคนแข็งเหมือนไม้ ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบลำต้น แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 15-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน กาบใบอวบสีเขียว หรือสีน้ำตาลแดงโอบรอบลำต้น เส้นใบขนานกับขอบใบ ขอบใบเรียบ มีขนทุกส่วนของต้น ก้านใบสั้น หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีขนนุ่ม เนื้อใบหนา ดอกสีขาว มี 3 กลีบ ออกที่ปลายยอด เป็นรูปปากแตร ใจกลางดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกย่อยสีขาว กลีบดอกบาง ย่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแผ่บานออกเป็นรูปปากแตร ขอบกลีบหยักเป็นลอนคลื่น บนช่อดอกมีกาบสีแดงรองรับดอกแต่ละดอก เกสรเพศผู้เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกลีบดอกขนาดใหญ่ เป็นกรวย ปลายแผ่บานจีบน้อยๆสีขาว ปากขอบกรวยสีเหลือง กลีบเลี้ยงสีแดงเข้ม เป็นแผ่นแบน 3 กลีบ ขอบมน ผลรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม แห้งแล้วแตก มีเนื้อแข็ง สุกสีแดง ปลายยอดมีกลีบเลี้ยง 1 หรืออยู่เป็นกระจุกแหลม 3 แฉก กาบหุ้มผลสีแดง เมล็ดสีดำเปนมัน
แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์
พบขึ้นตามเชิงเขาในพื้นที่ชุ่มชื้น สวนป่าธรรมชาติทั่วไป เช่น อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร (PC 486) อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี (SN 398) ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 87 – 126 เมตร พบขึ้นตามชายน้ำ และป่าดิบชื้น
การใช้ประโยชน์
หน่ออ่อนที่งอกจากต้นในฤดูฝนใช้เป็นอาหารได้ แต่ต้องต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อขจัดกลิ่น เมื่อนำมาต้ม หรือลวก ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก
อาหารสัตว์ โค กระบือ สมุนไพร ลำต้นใต้ดินหรือเหง้ามีรสขมเมา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ตกขาว แก้โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แก้แผลหนอง อักเสบ บวม ฆ่าพยาธิ เป็นยาถ่าย เหง้าสดมีพิษมาก ใช้ในปริมาณมากจะทำให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างรุนแรง ต้องทำให้สุกก่อน ราก รสขมเมา ขับพยาธิ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง (วุฒิ, 2540) เหง้า ตำพอกบริเวณสะดือ รักษาโรคท้องมาน ในเหง้าพบสาร diosgenin มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์ (วงศ์สถิตย์ และคณะ, 2543)
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เหง้า ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงมดลูก สมานแผลภายใน เข้ายาแก้ซางเด็ก ลำต้น ย่างไฟคั้นเอาน้ำหยอด แก้หูน้ำหนวก
ตำรายาไทย ใช้ เหง้า รสขมเมา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ตกขาว แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้แผลหนอง อักเสบ บวม ฆ่าพยาธิ เป็นยาถ่ายพยาธิ เหง้าสดมีพิษมาก ถ้าใช้ในปริมาณมาก จะทำให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างรุนแรง ต้องทำให้สุกก่อนนำมากิน ราก รสขมเมา ขับพยาธิ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง ทั้งต้น สมานมดลูก รักษาอาการปวดมวนในท้อง โรคกระเพาะอาหาร ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด
องค์ประกอบทางเคมี
เหง้ามีสาร diosgenin เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์หลายชนิด