แมงลัก พืชกลิ่นฉุนรสร้อนแรงลดอ้วน

6 พฤษภาคม 2556 พืชผัก 0

ประโยชน์ของแมงลักคือ นำใบมาใช้ประกอบอาหารเพื่อปรุงแต่งกลิ่นและรส เมล็ดใช้ทำเป็นขนมหวานที่นิยมรับประทานในหน้าร้อน ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของแมงลักคือใช้เป็นสมุนไพร โดยใช้ได้ทั้งส่วนใบ เมล็ด ราก และทั้งต้น มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้แก่ เป็นยาระบายแก้จุกเสียด ขับลมในลำไส้ แก้ไอ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ รักษาโรคทางเดินอาหารเป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum citriodorum
วงศ์ Labiatae
ชื่อสามัญ Hoary Basil, Lemon Basil, Thai Lemon Basil
ชื่ออื่น ก้อมก้อขาว

แมงลัก เป็นพืชที่พบในเขตอบอุ่นของโลก จากความสูงระดับน้ำทะเลไปจนถึง ๑,๘๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าดิบชื้นของทวีปอาฟริกา อเมริกาใต้ และเอเซียบริเวณประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ลักษณะทั่วไป :
แมงลัก เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา ลักษณะของต้นแมงลักจะคล้ายต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่น และใบจะมีสีเขียวจางกว่าใบกะเพรา

manglagton

แมงลักมีลำต้นสูงประมาณ 65 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเป็นใบเดี่ยวทรงรีหรือรูปหอกหรือรี ขอบใบเรียบ บ้างมีขอบหยักมน มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาวฝรั่ง

  • ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้ามมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบและฐานใบแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนตามขอบใบและเส้นใบ ขนาดใบกว้างประมาณ ๐.๙-๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕-๕ ซม.
  • ดอกเป็นช่อที่ยอด ช่อดอกประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นวงรอบแกนช่อเป็นชั้นๆ ชั้นละ ๖ ดอก แต่ละช่อยาวประมาณ ๕-๔๖ ซม. ที่ดคนดอกมีใบประดับรองรับ ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลมมีขนยาวตามขอบ กลีบเลี้ยงสีเขียวรูประฆัง โคนกลีบเชื่อมกัน กลีบดอกเป็นรูปปากเปิด สีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร เกสรตัวผู้มี ๔ อัน เกสรตัวเมียมี ๑ อัน รังไข่มี ๔ พู
  • ผลจะเป็นผลชนิดแห้ง ภายในมี 4 ผลย่อย เรียกว่า เมล็ดแมงลัก ผลเป็นแบบผลแห้ง ขนาดเล็กมักจะเรียกกันว่าเมล็ด มีสีน้ำตาลเกือบดำ รูปรีมี ๔ เมล็ด ขนาดกว้างประมาณ ๐.๗-๑.๓ มิลลิเมตร และยาวประมาณ ๑.๖-๒.๓ มิลลิเมตร

คุณสมบัติของเมล็ดแมงลัก
เมล็ดแมงลักเมื่อถูกน้ำเปลือกนอกจะพองออก เป็นเมือกสีขาว หนาและโปร่งแสง การพองตัวของเมล็ดแมงลักจะเกิดขึ้นทันที เมื่อถูกน้ำส่วนใหญ่เกิดในช่วงเวลา ๑๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง หลังจากนี้ยังพองตัวได้อีกแต่ช้าลง การพองตัวจะหยุดลงหลังจากผ่านไป ๑๒ ชั่วโมง ถ้าทิ้งไว้นานต่อไปสารเมือกบางส่วนจะย่อยหลุดออกจากเมล็ด ปริมาตรน้ำที่สามารถดูดได้มากที่สุดคือ ๒๖ ลูกยบาศก์เซนติเมตรต่อเมล็ด ๑ กรัม(ประมาณ ๗๘๐ เมล็ด) ขนาดของเมล็ดเมื่อพองตัวเต็มที่จะกว้างประมาณ ๓.๔-๔.๖ มิลลิเมตร และยาวประมาณ ๔.๑-๕.๐ มิลลิเมตร

เมือกของเมล็ดแมงลักประกอบด้วยสายของเม็ดแป้งจำนวนมากมายเรียงตัวกันแน่นอยู่ในแนวตั้งกับเปลือกของเมล็ดจำนวนของเม็ดแป้งในแต่ละสายมีประมาณ ๕๐-๗๐ เม็ด
เมล็ดแมงลักใช้เป็นยาระบายได้ดี เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเมล็ดแมงลักเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายย่อยไม่ได้ จึงเป็นกากอาหารช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้และจะถ่ายออกมากับอุจจาระ นอกจากนี้สารเมือกยังทำให้ลื่น กากอาหารจึงไม่เกาะลำไส้ แต่มีข้อเสียคือต้องใช้ในปริมาณมาก และต้องให้พองตัวเต็มที่ก่อนรับประทาน เพราะถ้ามีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการพองตัว จะทำให้ท้องอืดและอุจจาระแข็ง
สารเมือกที่ได้จากการพองตัวของเมล็ดแมงลัก สามารถสกัดออกมาได้โดยการปั่นด้วยเครื่องตีไข่ เมื่ออบให้แห้งจะเป็นผงเมือกที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำได้ดี มีความหนืดสูง จึงนำมาใช้ทำยาระบายและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยา โดยใช้เป็นสารช่วยแขวนตะกอนหรือสารช่วยยึดเกาะในการเตรียมผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งการใช้ผงเมือกจากเมล็ดแมงลักทำได้ง่ายมีราคาถูกและมีคุณสมบัติดีเมื่อเทียบกับสารอื่นๆที่มีคุณสมบัติทำนองเดียวกันที่ต้องสั่งจากต่างประเทศ

manglag

แมงลักมีลักษณะทรงต้น ใบ ดอก และผลคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่น ใบสีเขียวอ่อนกว่า กลีบดอกสีขาวและใบประดับสีเขียว
ต้น เป็นไม้ล้มลุก ขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 2-3 ฟุต โคนลำต้นแข็ง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม
ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบกลมรี ปลายใบแหลม มีสีเขียวอ่อน มีขนนิ่ม กลิ่นใบหอม
ดอก ออกเป็นช่อ ตามบริเวณปลายกิ่ง หรือยอด ดอกมีลักษณะเป็นกลีบสีขาว ดอกจะคงทน และอยู่ได้นาน
ผล เมื่อกลีบดอกร่วง ก็จะเป็นผล ผลมีขนานเล็ก มีสีน้ำตาลเข้ม ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด

การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยการใช้ เมล็ด

ใบแมงลักใช้กินสด ใส่สลัดผัก ประดับจานอาหาร ส่วนมากในประเทศไทยจะกินกับขนมจีน หรือใส่แกงเลียงและแกงต่างๆ

ผลที่คนไทยเรียกว่าเมล็ดแมงลักใช้ทำขนมน้ำแข็งไส ใส่ไอศกรีม ใส่น้ำเต้าหู้ หรือใส่ในวุ้น และใช้เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกาก

ใบแมงลักมีน้ำมันหอมระเหยราวร้อยละ 0.7 น้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบหลักคือซิทรัล (citral) ต่างประเทศใช้ใบแมงลักแต่งกลิ่นอาหาร เนื่องจากมีกลิ่นมะนาวจึงมักใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกปลาและไก่ในอาหารฝรั่ง

ที่สหรัฐอเมริกาปลูกแมงลักเป็นไม้ประดับและใช้ใบแห้งประกอบบุหงาสำหรับสุคนธบำบัด

manglagmaled

ใบแมงลัก 100 กรัม มีสารอาหารสำคัญดังนี้

  • แคลเซียม 350 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 10,666 มิลลิกรัม
  • ไทอามีน 0.30 มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน 0.14 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 1.0 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 78 มิลลิกรัม
  • เส้นใยอาหาร 2.6 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 11.1 กรัม
  • ไขมัน 0.8 กรัม
  • โปรตีน 2.9 กรัม
  • พลังงาน 32 แคลอรี

คุณสมบัติทางยาของแมงลักที่มีใช้ในประเทศไทย

  • ขับลมในลำไส้ อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ให้นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
  • ขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบาย นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
  • บรรเทาอาการหวัด อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น
  • บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออาการคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ
  • แก้ท้องร่วงท้องเสีย ใบแมงลักสัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม แก้ท้องร่วงได้
  • เพิ่มน้ำนมแม่ ให้แม่ที่ให้นมลูกกินแกงเลียงหัวปลี ใส่ใบแมงลัก และให้ลูกดูดหัวน้ำนมบ่อยๆ เพิ่มการสร้างน้ำนมแม่
  • บำรุงสายตา ใบแมงลักมีวิตามินเอสูง การกินใบแมงลักเป็นประจำช่วยบำรุงสายตา
  • บำรุงเลือด แก้โลหิตจาง ใบแมงลักอุดมด้วยธาตุเหล็กช่วยบำรุงโลหิต
  • เสริมสร้างกระดูก ใบแมงลักมีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูก
  • เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก แนะนำให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ที่ไม่ต้องการภาวะท้องผูกเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบธรรมชาติ
  • ใช้ลดความอ้วน เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว จำนวนครั้งในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น ลดอาการท้องผูกด้วย

manglagnam

ข้อควรระวังการใช้แมงลัก ถ้าใช้เมล็ดแมงลักที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ จะทำให้มีการดูดน้ำจากลำไส้เกิดอาการขาดน้ำ และอาจเกิดอาการลำไส้อุดตันได้ (โดยเฉพาะแมงลักที่บดเป็นผง) รวมถึงที่ต่างประเทศใช้ใบแมงลักบรรเทาอาการไอ ขับเหงื่อ และขับลม

การปลูก

แมงลักเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินแทบทุกประเภทที่มีการระบายน้ำได้ดี การปลูกแมงลักเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ด ปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จากการที่ผู้เขียนเดินทางไปสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุ์แมงลักในจังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ และ พ.ศ. ๒๕๓๒ พบว่ามีปลูกมากในตำบลวังเย็น ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง และตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย

การปลูกแมงลักทำโดยการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะชำ ในช่วงปลายฤดูฝนราวต้นเดือนกันยายน จะมีการดูแลและให้น้ำเป็นอย่างดี เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ ๓ สัปดาห์ จึงย้ายลงปลูกในแปลงที่ไถดินเตรียมไว้แล้ว ในการนำกล้าลงปลูกจะตัดยอดและปลายรากที่ยาวเกินไปออกบ้าง เพื่อให้แมงลักแตกยอดได้เร็วและมาก ถ้าในช่วงปลูกมีฝนน้อยจะใช้วิธีขุดหลุมปลูก แต่ถ้าฝนมาก ดินแฉะก็เพียงแต่ใช้ไม้จิ้มดินให้เป็นช่อง ฝังรากลงไปแล้วกดให้แน่น

เกษตรกรจะปลูกแมงลักตามหลังพืชไร่ เช่นข้าวโพด หรือปลูกแซมพริก โดยลงมือปลูกแมงลัก เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวพริกได้

แมงลักเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้ดีพอควร เพราะหลังจากปลูกแล้ว ถ้ามีฝนตกอีกเพียง ๒-๓ ครั้ง ก็เพียงพอโดยแมงลักจะอาศัยแต่เพียงน้ำค้างในตอนกลางคืน และถ้ามีฝนตกมากเกินไปจะเป็นผลเสียอีกด้วย คือ ทำให้แมงลักมีลักษณะที่เรียกว่า ต่อยอด คือเมื่อฝนตกในขณะที่จะแตกใบอ่อนขึ้นมาอีกจะทำให้การเกิดช่อดอกช้าลง และแก่ไม่สม่ำเสมอ และถ้ามีฝนตกในขณะที่เมล็ดแมงลักเริ่มแก่จะทำให้เมล็ดร่วงจากช่อดอกไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้

การดูแลรักษา
การดูแลต้นแมงลักมีเพียงการฉีดสารฆ่าแมลง ๑-๒ ครั้ง ในระยะออกดอกถ้ามีแมลงศัตรูระบาดมาก และกำจัดวัชพืชบ้างในระยะแรกเท่านั้นไม่มีการให้ปุ๋ย

manglakdok

การเก็บเกี่ยว
แมงลักจะเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุประมาณ ๓ ๑/๒ เดือน การเก็บเกี่ยวเริ่มในราวกลางเดือนธันวาคม ระยะที่จะเก็บเกี่ยวสังเกตได้จากช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของต้น การเก็บเกี่ยวทำโดยตัดทั้งต้นตรงโคน แล้วนำมาวางตากแดดโดยวางนอนหรือคว่ำต้นลง จากนั้นก็จะมัดหลายๆต้นรวมกันเป็นฟ่อน ทิ้งไว้ให้แห้งดีทั่วกัน
การกระเทาะเมล็ดจะทำโดยการฟาดให้เมล็ดหลุดร่วงจากดอก แต่เนื่องจากในขณะที่ช่อดอกแห้งกลีบเลี้ยงจะปิดทำให้เมล็ดหลุดออกยาก แต่ถ้ากลีบเลี้ยงได้รับความชื้นจะเปิดออกเมล็ดจะหลุดออกมาง่าย
การทำให้กลีบเลี้ยงเปิด เกษตรกรใช้วิธีนำฟ่อนของต้นแมงลักจุ่มลงในถังน้ำหรือบ่อน้ำประมาณ ๑๐ วินาที หรือใช้น้ำฉีดไปที่ฟ่อนแมงลักก็ได้ จากนั้นนำมาวางคว่ำผึ่งไว้ประมาณ ๑/๒ ๑ ชั่วโมง จึงฟาดเอาเมล็ดออกในบางแห่งใช้วิธีวางคว่ำตากน้ำค้างตอนกลางคืนแล้วฟาดเอาเมล็ดออกในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น การให้ช่อดอกแมงลักถูกน้ำต้องให้พอดี เพราะถ้าเปียกมากเกินไปเมล็ดจะพองเสียหาย แต่ถ้าแห้งเกินไปเมล็ดจะหลุดออกมาได้ยาก
ลานสำหรับฟาดแมงลักมักจะปูพื้นด้วยผ้าพลาสติกหรือใช้มูลวัวมูลควายผสมน้ำยาลานซึ่งจะช่วยลดความชื้นที่พื้นได้ดีกว่าปูด้วยผ้าพลาสติกบนลานดังกล่าวจะทำเป็นม้าไม้ยกขึ้นในแนวเฉียง คนฟาดจะจับโคนต้นแมงลักฟาดลงไปบนไม้นั้น เมล็ดแมงลักจะหลุดร่วงออกจากดอกโดยง่าย แต่ยังมีกลีบเลี้ยงหลุดร่วงปนลงมาบ้าง รวมทั้งเศษใบและก้านดอก จึงต้องนำมาร่อนด้วยตะแกรง ๒-๓ ครั้ง โดยครั้งแรกใช้ตะแกรงหยาบช่องขนาด ๑x๑ ตารางเซนติเมตร แล้วจึงร่อนอีกครั้งด้วยตะแกรงช่องขนาด ๑/๒x๑/๒ ตารางเซนติเมตร ครั้งสุดท้ายเป็นการฝัดเอาเศษผงเล็กๆ ออกหรือใช้พัดลมเป่าออกก้จะทำให้เร็วขึ้น

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น