แม่ทา บทเรียนที่ยาวนานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ชุมชนตำบลแม่ทา สันนิฐานว่าอพยพมาเมื่อปี พ.ศ. 2186 โดยมีชนเผ่ายางแดง ซึ่งเป็นชาวปากาเกอญอ เข้ามาอยู่ที่ห้วยยางคา และได้อพยพออกไปจากพื้นที่เพราะกลัวผี(เจ้าที่แรง)และอีกอย่างคือชนเผ่าลั๊วะขุนคงเริ่มเข้ามา ทางยางแดงจึงต้องอพยพขึ้นไปบนเหนือน้ำแม่ทา เป็นเขตตำบลทาเหนือในปัจจุบัน ชนเผ่าลั๊วะขุนคงอพยพมาจากเมืองเชียงใหม่ แถบบริเวณแจ่งหัวริน เนื่องจากการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษี 4 บาทในขณะนั้น ต่อมามีชาวเชียงแสนหนีพ่ายศึกหัวเมืองและหนีภัยแล้งเข้าแม่นึง ล่องลงมาถึงห้วยแม่บอน มาตั้งบ้านเรือน บ้านป่าหมาก ( บ้านหัวทุ่งในปัจจุบัน ) 11 ครัวเรือน มีพระติดตามมา 1 รูป อยู่ได้ประมาณ 2 ปี มีชาวละกอน หนีศึกจากเมืองเขลางนคร ( จังหวัดลำปาง ) มาอีก 9 ครอบครัว มาอยู่ร่วมกัน สัญชาติเป็น ขมุ เป็นกลุ่มที่มา ตอนหลังในขณะนั้น รัฐบาลได้เปิด ให้มีการสัมปทาน ป่าไม้ขุนแม่ทา โดยมีกลุ่มชาวละกอน และ ขมุ ได้มารับจ้างมีความรู้ด้านการทำไม้การใช้ช้างหลังจากการสัมปทานไม้หยุดลงกลุ่มคนดังกล่าวไม่ได้กลับภูมิลำเนาเดิมของตนเอง อาศัยอยู่ในชุมชนแม่ทา เหมือนกับชนเผ่าอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน

ส่วนทางเผ่ายองขยายประชากรมาจากเมืองลำพูนและเผ่าลื้ออพยพ ขยายมาจากแถบบ้านธิเข้ามาบ้านปงกา ป่านอด ดอนชัย โดยเข้าพร้อม ๆ กับชนเผ่าคนลั๊วะและเชียงแสนเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเช่นกัน ซึ่งเข้ามาในชุมชนแม่ทามีการสัมพันธ์กับคนเผาอื่นทำให้สำเนียงเริ่มจะเปลี่ยนไปจากลื้อและยอง มีการขยายชุมชนอยู่ในตำบลแม่ทาจนถึงปัจจุบัน

ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นตำบลตกสำรวจ เนื่องจากอยู่ในหุบเขา และห่างไกลจากตัวเมือง เมื่อหลายสิบปีก่อน แม่ทาเคยประสบกับปัญหาที่ไม่ต่างจากชุมชนเกษตรกรรมอื่นๆ ทั้งพิษภัยจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง ทั้งหนี้สินอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมของระบบการผลิตและการตลาด แต่แล้วด้วยการหนุนเสริมจากองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือหลายองค์กร ทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวกัน วิเคราะห์ปัญหาของชุมชน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ด้วยเป้าหมายเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ชาวแม่ทาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการผลิต อีกทั้งขยายเครือข่ายจากกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน กลายเป็นหลายสิบคน จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบัน ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของตำบลแม่ทาได้พัฒนามาโดยลำดับ มีการจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด เพื่อสนับสนุนให้แก่ระบบการผลิตแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่าห้าร้อยครัวเรือน จากจำนวนพันห้าร้อยครัวเรือนในตำบลแม่ทา รวมทั้งยังมีการสร้างระบบ CSA ซึ่งเป็นระบบตลาดที่ผู้ผลิตจะติดต่อกับผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

กว่ายี่สิบปีของการดำเนินไปบนหนทางเกษตรกรรมยั่งยืน ตำบลแม่ทา ได้กลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา ภาคีเครือข่ายกลุ่มองค์กรต่างๆ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตภาคเหนือตอนบนจำนวน 68 แห่ง ได้เข้าร่วมในการประชุมลงนามความร่วมมือโครงการกองทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมในการศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตำบลแม่ทาและลงนามความร่วมมือกว่าสามร้อยคน

maetameet

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด
กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง ครอบครัวและทำงานพัฒนาในชุมชน โดยใช้ชื่อเครือข่ายคณะกรรมการกลางแม่ทา ได้ยกระดับขึ้นมาเป็นนิติบุคคลเพื่อให้การดำเนินงานที่สะดวกและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 และได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2544 เป็นต้นมา มีเป้าหมายที่ก่อตั้ง เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันและช่วยสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกและส่วนรวมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม จนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันจัดการปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการผลิต มาบริการให้สมาชิก ร่วมกันศึกษา อบรมและเผยแพร่ความรู้ ทักษะการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกันจัดการผลผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนของสมาชิกให้จำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหาร การจัดการ การประสานงานของคณะกรรมการแต่ละกลุ่ม แต่ละหมู่บ้าน และเสริมสร้างหรือพัฒนากองทุนของกลุ่มและเครือข่ายให้เติบโตเพื่อการพึ่งตนเองในอนาคต

สถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา
เป็นสถาบันการเรียนรู้ของชาวบ้านมีการก่อตั้งเมื่อ 17 ตุลาคม 2543 โดยมี และยกระดับรวมเป็นสถาบันชุมชนในเดือน กุมภาพันธ์ 2548 เป้าหมาย จัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน วัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาคนในและนอกชุมชนให้เข้าใจในเรื่องงานทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืน 2) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ 3) เพื่อพัฒนาวิทยากรชาวบ้านในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นต่อไป

ซึ่งมีการดำเนินงานภายใต้สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด มีภารกิจ/กิจกรรมจัดฝึกอบรม เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาดูงาน มีเนื้อหาที่เปิดรับ ดังนี้

  1. การจัดการทรัพยากร การจัดการองค์ความรู้ การจัดการไฟป่า ประสบการณการจัดการโดยองค์กรชุมชน ดูสภาพพื้นที่ป่า กฎเกณฑ์การรักษาป่า และเหมืองฝาย
  2. เกษตรกรรมยั่งยืน แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน สวน-ไร่นา ตัวอย่าง เทคนิคการทำเกษตรยั่งยืน รูปแบบของเกษตรกรรมยั่งยืนที่เหมาะสม
  3. กลุ่ม/เครือข่าย ประสบการณ์การจัดตั้งกลุ่มองค์กร การบริหารจัดการระดับองค์การชาวบ้าน/สหกรณ์ฯ กระบวนการทำงานระบบกลุ่ม/แนวคิด
  4. ธุรกิจชุมชน/ตลาด ร้านค้าอาหารสัตว์ สหกรณ์ฯ แปรรูป ข้าวโพดอินทรีย์ พืช ผักอินทรีย์
  5. คนรุ่นใหม่/เยาวชน บทเรียนการทำงานเยาวชน จัดค่ายพัฒนาการเรียนรู้ บทบาทคนรุ่นใหม่ในงานพัฒนาชุมชน
  6. พลังงานชุมชน เตาเผาถ่าน 200 ลิตร แก๊สชีวภาพระดับครัวเรือน แก๊สชีวภาพระดับฟาร์ม

ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านแม่ทา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้ดำเนินการโครงการปราชญ์ชาวบ้าน โดยยกย่องนายพัฒน์ อภัยมูล เป็นปราชญ์ชาวบ้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ปราชญ์ชาวบ้านจัดการเรียนรู้ อบรมให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้เริ่มดำเนินการในปี 2550 เป็นต้นมา ภายใต้หลักสูตร เส้นทางเศรษฐี ระยะเวลา อบรม 4 วัน 3 คืน เนื้อหาหลักสูตร จะเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เข้าใจชุมชน ตนเองสามารถวิเคราะห์บัญหาของตนเอง เห็นแบบอย่างและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตตนเองได้ โดยมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ หลักสูตรเส้นทางเศรษฐี เปิดอบรม รุ่นละ 40 50 คน

หลักสูตร สุขพอเพียง ระยะเวลาอบรม 3 วัน 2 คืน เป็นหลักสูตรที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาตนเองและครอบครัว มีการจัดการหนี้ที่ครอบครัวมีอยู่ภายใต้ศักยภาพของตนเอง มีการจัดทำแผนชีวิตที่จะสร้างครอบครัวไปสู่สุขพอเพียงได้ หลักสูตรเปิดรับอบรมต่อรุรน จำนวน 40 50 คน

maetameets

การจัดหลักสูตรดังกล่าวสามารถที่จะปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายได้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติการได้จริง
แม่ทาเป็นตำบลเล็กๆ อันเงียบสงบใน อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศโดยรวมเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน ดินเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้นับได้ว่า เป็นแหล่งลักลอบตัดไม้เถื่อนจากกลุ่มพ่อค้าไม้เถื่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ซึ่งเมื่อมีการตัดไม้เป็นจำนวนมาก ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงก็ต้องตกอยู่กับคนในพื้นที่

ต่อมาชาวบ้านจึงมีการรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการบริหารจัดการป่า เพื่อทวงคืนความอุดมสมบูรณ์ อันหมายถึงพื้นที่ในการทำการเกษตรที่เหมาะสม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ ที่ชุมชนแม่ทาต่อการเป็นชุมชนต้นแบบ ในการอยู่กับป่าได้อย่างสมดุลและการสานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากบรรพชนจนเกิดความยั่งยืน โดยหลังจากที่ชาวบ้านรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งได้แบ่งการจัดการพื้นที่ 6 หมื่นกว่าไร่ในตำบลแม่ทา ออกเป็น 3 กลุ่ม อันได้แก่ ป่าอนุรักษ์ประมาณ 4 หมื่นไร่ ป่าใช้สอย 1 หมื่นไร่ พื้นที่ที่เหลือนั้นเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถเข้าอาศัยอยู่ได้

อนันต์ ดวงแก้วเรือน คนแรกๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องและรักษาป่าให้อยู่กับชุมชน เล่าว่า หลังจากที่ชาวบ้านมีที่ทำกินอย่างเหมาะสมได้ไม่นานนัก ก็ประสบปัญหาเพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านหลายรายต้องมีหนี้สินอันมาจากค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ และราคาของสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตออกมาก็ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ

วิถีภูมิปัญญาเก่าๆ หายไปกับคนรุ่นใหม่ เราเอาความเชื่อที่ว่าความมั่นคงของชีวิตก็คือ การได้ทำงานในบริษัทดีๆ ทำงานในเมือง แต่ผมคิดว่าเราจะอยู่แบบนั้นได้นานแค่ไหน ซึ่งในที่สุดเราก็ต้องกลับมาบ้านอยู่ดี ผมจึงบอกว่าเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลานั้นสิของจริง อนันต์ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากได้เล่าถึงความในใจ

เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองและชุมชน ชาวแม่ทาได้รวมตัวกันเป็นองค์กร เครือข่าย และค่อยๆ พัฒนามาเป็นสหกรณ์ ปัจจุบัน แม่ทา ถือเป็นต้นแบบของตำบลที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการตั้งสหกรณ์เพื่อพัฒนาคนทั้งในและนอกชุมชนให้เข้าใจถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ยั่งยืนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้แม่ทาจะมีคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องของการเกษตร

อาภากร เครื่องเงิน(ต้น) เป็นคนหนึ่งที่หลังจากเรียนจบแล้วได้เข้าไปทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ ต้นเล่าว่า ทำงานไปได้สักพักก็รู้สึกได้ว่าเงินที่ได้รับมานั้น ไม่พอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพราะค่าครองชีพในเมืองนั้นสูงมาก และในบางครั้งเขาก็ต้องกลับมาบ้าน และขอเงินจากพ่อแม่เพื่อที่จะไปทำงานต่อ

ต้นเริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงของชีวิต จึงได้หันหลังพร้อมกับโบกมือลาให้กับสังคมเมือง มาทำอาชีพเกษตรกรสานงานต่อจากพ่อแม่ ด้วยความคิดที่ว่าเกษตรกรเป็นอาชีพอิสระ และค่าใช้จ่ายก็ไม่สูง บวกกับไม่ต้องเป็นลูกจ้างจนแก่เฒ่า

maetarpah

ปัจจุบันต้นอายุ 30 ปี หลังจากที่เขาทุ่มเทให้กับงานในแปลงสวน และประสบพบเจอหลายสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบของการตลาด ต้นจึงนำรูปแบบ การขายผักแบบ ซีเอสเอมาปรับใช้

ซีเอสเอ (Community-supported agriculture) เป็นระบบการส่งผักจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยผู้บริโภคจะเข้ามารับประกันความเสี่ยงซึ่งหมายถึงการจ่ายเงินล่วงหน้า แล้วค่อยส่งผักให้กับลูกค้าทีหลังเมื่อได้ผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต้นบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะชาวอังกฤษและอเมริกาเพราะว่ากระบวนการขายแบบซีเอสเอนี้นิยมกันมากในหมู่ประเทศยุโรปขณะนี้มีลูกค้าอยู่ 30 กลุ่ม โดยจะส่งผักให้กับลูกค้าอาทิตย์ละครั้ง

กับลูกค้าเราไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการที่บอกว่า จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่านี้ หรือส่งผักให้ตรงตามเวลานี้ เรามีเพียงแค่สัญญาใจที่ดีต่อกัน ตอนทำงานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ผมได้เงินเดือน 7 พัน แต่พอมาทำเกษตรโดยใช้หลักของซีเอสเอ ผมมีรายรับประมาณ 3 พันต่อสัปดาห์และก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะทำเกษตรอินทรีย์

ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย (เพิก) เป็นหนึ่งในผู้ที่นำซีเอสเอ มาใช้กับการเกษตร เขาเล่าว่า ขายแบบซีเอสเอ นั้น ถึงแม้ราคาอาจจะแพงกว่าผักที่ขายในท้องตลาด แต่ผลดีก็คือเป็นผักที่ปลอดสารพิษและการขายแบบนี้ทำให้ผู้ผลิตสามารถตั้งราคาเองได้ และไม่ว่าราคาผักในตลาดจะขึ้นหรือลงก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะได้ตกลงราคากับลูกค้าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนใหญ่คนที่เป็นลูกค้าเรา ก็จะชวนๆ กันมาเราจะพาลูกค้ามาดูเลยว่าวิธีการปลูกของเราเป็นยังไง มีความลำบากหรืออุปสรรคมากน้อยแค่ไหนซึ่งวิธีนี้จะทำให้เขาสามารถเข้าใจได้ว่า ในกระบวนการปลูกผักเพื่อส่งให้พวกเขากินนั้น มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

หลังจากที่ตำบลแห่งนี้ต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหาที่เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง อุปสรรคเหล่านั้นทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ในเรื่องของทำการเกษตรกรรมและระบบการจัดการป่า อีกทั้งคนรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจงานด้านเกษตรกรรม จึงเชื่อได้ว่าความยั่งยืนได้บังเกิดขึ้นในตำบลแม่ทาแล้ว

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด คนและชุมชน

แสดงความคิดเห็น