แสมดำเป็นพืชในป่าชายเลน พบได้ทั้งหาดทรายปนเลนและหาดเลน รากเป็นร่างแห มีรากหายใจเป็นแท่งโผล่ขึ้นดิน เปลือกต้นเรียบ สีเขียวเข้มถึงเทาเข้ม ใบแตกตรงข้ามเป็นคู่ ใต้ใบไม่ซีดแบบแสมขาว ใบหนาอวบน้ำป้องกันการสูญเสียน้ำ มีต่อมเกลือที่ใบช่วยขับเกลือออก ดอกสีขาว-เหลือง 4 กลีบ เป็นช่อคล้ายดอกแสมขาว แต่ดอกใหญ่กว่า ผลเป็นรูปกระเปาะคล้ายแสมขาว แต่สั้นกว่า ผลเป็นรูปหยดน้ำ ปลายผลงอ มีขนสีน้ำตาลอ่อนคลุมทั้งผล ผลลอยน้ำได้
ชื่อพฤกษศาสตร์: Avicennia officinalis L.
ชื่อพื้นเมือง: แสมดำ
ชื่อท้องถิ่น: แสมขาว
วงศ์ AVICENNIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แสมดำเป็นไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 8 – 25 เมตร ราก ระบบรากแก้ว หยั่งลึกลงดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจคล้ายดินสอ ยาว 15 – 25 เซนติเมตร เหนือผิวดิน ลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มหนาแตกกิ่งระดับต่ำ ไม่มีพูพอน เปลือกเรียบ หรือ แตกเป็นร่องเล็กน้อย สีเทาถึงเทาอมน้ำตาล หรือ น้ำตาลอมเขียว ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี หรือรูปไข่กลับ ขนาด 3 – 5 X 6 – 9 เซนติเมตร ฐานใบแหลม ปลายใบกลม ก้านใบยาว 0.7 – 1.1 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขน ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านท้องใบมีขนยาวนุ่ม สีเทาอมน้ำตาล ดอก สมบูรณ์เพศ ออกปลายกิ่ง หรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง เป็นช่อเชิงลดแน่น มี 7 – 10 ดอก ก้านช่อดอกยาว 2 – 6 เซนติเมตร ดอกย่อยไม่มีก้าน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 – 1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก กลีบดอก 4 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้นๆ แต่ละกลีบ ยาว 0.4 – 0.7 เซนติเมตร สีเหลือง หรือ สีเหลืองส้ม เกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่เหนือหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมียมี 1 อัน ผล รูปหัวใจเบี้ยว แบน ขนาด 2 – 2.5 X 2.5 – 3 เซนติเมตร มีขนนุ่มปกคลุมหนาแน่น สีเหลืองอมน้ำตาล ผิวเปลือกอ่อนนุ่ม มีรอยย่น ปลายผลมีจะงอยสั้น ผลแก่เปลือกจะแตกด้านข้างตามยาวผล และม้วนเป็นหลอดกลม ผลสีเหลืองอมเขียว แต่ละผลมี 1 เมล็ด
ลักษณะเด่น ใบกว้างปลายใบกลม ท้องใบสีเทาอมน้ำตาล และผลกลมคล้ายรูปหัวใจ
นิเวศวิทยา
มักขึ้นตามริมชายฝั่งแม่น้ำ ตามริมชายฝั่งทะเล ที่เป็นดินเหนียวค่อนข้างแข็ง ไม่พบว่าขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ พบน้อยกว่าแสมขาว และแสมทะเล ออกดอกประมาณเดือนมกราคม พฤกษาคม
ประโยชน์
ก้านและใบเผาไฟรมควัน แก้พิษจากสัตว์น้ำทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลมีพิษทุกชนิด เปลือก เป็นยาบำรุงกำหนัด แก้ปวดฟัน ตำพอกฝีแตก เปลือกให้สีน้ำตาลแกมแดง กระพี้เป็นยาแก้พิษงูได้ แก่น มีรสเค็มเฝื่อน ต้มน้ำแก้ลมในกระดูก แก้กระษัยโดยมากจะใช้คู่กับแก่นแสมสาน (ขี้เหล็กป่า) เป็นยาขับโลหิตเสียของสตรี หรือ ใช้ดื่มแก้ท้องร่วง ลำต้นเป็นเชื้อเพลิง ทำแผ่นหนาปูเป็นไม้พื้น ที่พักชั่วคราว ลำต้นตรงทำสากตำข้าว เสาโป๊ะ ด้ามคิวบิลเลียด เนื้อไม้อ่อนหยาบ เลื่อยไส ตบแต่งได้ง่าย เปลือกให้น้ำฝาดใช้ในการย้อมผ้า อวน แห
หมายเหตุ
แสมดำปลายใบกลม ท้องใบสีเทาอมน้ำตาล ผลรูปหัวใจ ซึ่งแตกต่างจากแสมขาวที่มีปลายใบเรียวแหลมยาว ท้องใบสีเงิน มองระยะไกลเห็นเป็นสีขาวบรอนซ์ ผลยาว รูปพริกชี้ฟ้า ปลายผลมีจะงอยยาวค่อนข้างโค้ง ส่วนแสมทะเล ใบเรียบม้วนเข้าหากันคล้ายหลอดกลม
ผลกลมกว่าแสมดำ
การใช้ประโยชน์ เปลือก ใช้ในการฟอกหนังได้
การใช้ประโยชนด้านสมุนไพร แก่น มีรสเค็ม เฝื่อน ต้มน้ำแก้ลม ในกระดูก ปัสสาวะพิการ แก้กษัย แก้หืดไอกรนริดสีดวง ท้องสมาน อาเจียน ปวดท้อง เปลือก ใช้แก้ปวดฟัน และรักษาโรคเรื้อนเมล็ดอ่อน ใช้ตำพอกเร่งแและพอกฝีที่แตกแล้วให้ตกสะเก็ดเร็วขึ้น
ที่มา : วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
ป้ายคำ : ป่าชายเลน