ป่าโกงกางเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ด้วย เช่น กุ้ง ปูดำ และปลาบางชนิด เป็นแหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น โกงกางใบเล็ก เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ขึ้นได้ในดินเลนที่ค่อนข้างอ่อน ลึกและมีน้ำทะเลท่วมถึงตลอดเวลา ดังนั้นจึงพบไม้ชนิดนี้ขึ้นตามชายฝั่งทะเลริมแม่น้ำ, ชายคลองและป่าชายเลน นอกจากประเทศไทยแล้วยังสามารถพบในตอนเหนือของออสเตรเลีย, กวม, ศรีลังกา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไมโครนีเซีย, นิวแคลิโดเนีย, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, หมู่เกาะโซโลมอน, ไต้หวัน, ประเทศวานูอาตู, และเวียดนาม
ชื่ออื่นๆ : โกงกาง , โกงกางใบเล็ก , พังกาทราย , พังกาใบเล็ก , กงกอน , กงกางนอก , กงเกง , ลาน
ชื่อสามัญ : ต้นโกงกาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : RHIAOPHORA APICULATA Blume.
วงศ์ : Rhizophoraceae
ถิ่นกำเนิด :
พบมากทั่วไปตามริมคลอง หรือริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำเค็มท่วมถึงเป็นระยะเวลายาวนาน พบมากที่จังหวัดพังงา
ลักษณะทั่วไป
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีเปลือกหนา เปลือกสีเทาเกือบเรียบ แก่นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้เป็นมัน วาว น้ำหนักมาก ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยอยู่ชิดกันแตกออกจากซอกใบตรงปลายกิ่ง
โกงกางใบเล็กเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-35 ม. ระบบรากเป็นระบบรากแก้วมีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้น 3-8 ม. รากที่โคนต้นหรือรากค้ำยันลำต้นแตกแขนงระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ ทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นและหักเกือบเป็นมุมฉากลงดินเพื่อพยุงลำต้น เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆ
ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-50 ซม. เปลือกสีเทาคล้ำหรือเทาอมชมพู แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวทั่วไปและอาจมีร่องสั้นๆ แตกตามขวางคั่นระหว่างร่องยาวอย่างไม่เป็นระเบียบ เมื่อทุบเปลือกทิ้งไว้สักครู่จะพบว่าเปลือกในจะมีสีแสดถึงแดงเลือดหมู
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับทิศทางตั้งฉาก ใบคู่ล่างๆ จะร่วงไปเหลือแต่คู่ใบ 2-4 คู่ เป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-18 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กยาว แข็ง สีดำ โคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีแดงเรื่อๆ หรือชมพูอมแดง เส้นแขนงใบปรากฏรางๆ แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 1.5-3.5 ซม. มักมีสีแดงเรื่อๆ หูใบแคบ ปลายแหลมยาวประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบ เห็นได้ชัดที่ปลายกิ่ง ยาว 4-9 ซม. สีชมพู ร่วงง่าย ใบเล็กกว่าโกงกางใบใหญ่
ดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกสั้นมาก ออกตามง่ามใบที่ใบร่วงไปแล้ว ก้านช่อดอกยาว 0.6-2 ซม. ตรงปลายก้านช่อมีดอกที่ไม่มีก้านหรือมีก้านสั้น 1 คู่ ดอกตูมรูปไข่ ยาว 1.2-1.6 ซม. ใบประดับที่ฐานดอกติดกันคล้ายรูปถ้วย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ กว้าง 6-8 มม. ยาว 0.7-1.2 ซม. กลีบหนา ปลายแหลม ต่อมาจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอก กว้าง 1-2 มม. ยาว 0.7-1.2 ซม. สีเหลืองอมเขียวหรือเหลืองอ่อน ขอบกลีบไม่มีขน เกสรเพศผู้ 12 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่ปรากฏชัด
ผลมีรูปไข่กลับยาว 2-3 ซม. สีน้ำตาลคล้ำ ผิวค่อนข้างขรุขระ เมล็ดงอกได้ในขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียงโค้งเล็กน้อย ยาว 30-40 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.2 ซม. มีขนาดโตขึ้นที่ส่วนปลาย ผิวเป็นมัน สีเขียวหรือเขียวอมม่วง ค่อนข้างเรียบหรือมีตุ่มขรุขระกระจัดกระจาย[1] เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นจะปักลงในดิน
ฤดูการออกดอก : ออกดอกช่วงเดือนก.ย. ต.ค.
ประโยชน์
การขยายพันธุ์ :
การขยายพันธุ์ด้วยฝัก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในการปลูกไม้โกงกางใบใหญ่จะปลูกโดยใช้ฝักโดยตรง แต่ในกรณีต้องการปลูกด้วยกล้า ก็สามารถเตรียมกล้าไม้โกงกางใบใหญ่ได้
ข้อดีของพันธุ์ไม้ :
ใช้ทำเสาและหลักในที่น้ำทะเลขึ้นถึง มีความทนทาน ใช้ทำกลอนหลังคาจาก รอด ตง อกไก่ของบ้านตามชายทะเล ใช้ทำถ่าน เปลือกให้น้ำฝาดประเภท catechol ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า แห อวน หนัง ฯลฯ น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผล ห้ามเลือด กินแก้ท้องร่วง แก้บิด
ข้อแนะนำ :
เป็นป่าไม้ชายฝั่งทะเลโคลน ซึ่งเจริญเติบโตได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำกร่อย
แหล่งข้อมูล หนังสือพรรณไม้ในป่าชายเลน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2549.
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง