หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ”น้ำดีไล่น้ำเสีย” โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow)
การใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย หรือที่เรียกกันว่า “น้ำดีไล่น้ำเสีย” นั้น ได้แก่ การใช้น้ำที่มีคุณ ภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไป และช่วยให้น้ำเน่าเสีย มีสภาพเจือจางลง ทั้งนี้โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่ง น้ำภายนอก ส่งเข้าไปตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ หรือคลองบางลำภฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไป ตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำ เจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อ การกำหนดวงรอบ เกี่ยวกับการไหลของน้ำไปตามคลองต่าง ๆ นับแต่ปากคลอง ที่น้ำไหลเข้าจนถึง ปลายคลองที่น้ำไหลออกได้อย่างเหมาะสม โดยที่น้ำสามารถไหลเวียนไปตามลำคลอง ได้ตลอดแล้ว ย่อมสามารถเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งโสโครกไปได้มาก ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลอง ต่าง ๆ ตอนช่วงฤดูแล้งได้อย่างดี
จากแนวพระราชดำริดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงบังเกิดกรรมวิธีในการบำบัดน้ำเสีย 2 ประการ ตามแนวพระราชดำริ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” คือ
วิธีที่หนึ่ง ให้เปิดประตูอาคารควบคุมน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะ น้ำขึ้นและระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนระยะน้ำลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำ ตามลำคลองมีโอกาสไหลถ่ายเทกันไปมามากขึ้นกว่าเดิม เกิดมีการหมุนเวียน ของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น
วิธีที่สอง ให้ขุดลอกคลองเปรมประชากรพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลอง สายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียเจือจางลงและ ให้ คลองเปรมประชากรตอนล่างเป็นคลองที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วย บรรเทาน้ำเสียโดยส่งกระจายไปตามคลองต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ส่วนคลองเปรมประชากรตอนบนนั้น ให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเป็นปริมาณมาก อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นจะได้สามารถกระจายน้ำเข้าสู่ ทุ่งบางไทร-บางปะอินเพื่อการเพาะปลูก และเพื่อให้คลองเปรมประชากรตอนบน มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไปได้
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปทอดพระเนครที่บริเวณปากคลองเปรมประชากร ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบคลองเปรมประชากร ตลอดช่วงคลองตอนบนถึงคลองรังสิต กระทั่งถึงปากคลองวัดหลักสี่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย ว่า
….คลองเปรมประชากรช่วงตอนล่างเป็นคลองสายหนึ่งที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยบรรเทาน้ำเสีย โดยส่งกระจายไปตามคลองต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงควรขุดลอกคลองนี้พร้อมกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลองสายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียให้เจือจางลง…
….ให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเปรมประชากรตอนบนเป็นปริมาณมากภายในเวลาอันรวดเร็วเพื่ออัดเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นจะได้สามารถกระจายน้ำเข้าทุ่งบางไทร-บางปะอิน สำหรับใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามจะต้องดำเนินการขุดลอกหนองน้ำธรรมชาติไปพร้อมกัน จะได้สามารถเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สำหรับเส้นทางน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นอื่นๆ เช่น คลองเชียงรากน้อยนั้น ต้องรีบรับน้ำเข้ามาเมื่อน้ำขึ้นและปิดประตูบังคับน้ำไม่ให้ไหลย้อนกลับเมื่อน้ำลง ทั้งนี้เพื่อเก็บกักน้ำคลองเปรมประชากรตอนบนในลักษณะ “อ่างเก็บน้ำ” เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไป….
แนวพระราชดำริสองประการนี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงเชื่ยวชาญในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ในเรื่องนี้ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในต่างประเทศ 77 นาย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า
….Notorious Problem Ecology ของกรุงเทพฯ ที่เราก็ต้องการแก้ไขมาตั้งเท่าไร 8-9 ปี แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ เพิ่งมาทำเอาเมื่อปีที่แล้ว คือว่า เรามีกำลังที่ได้มาโดยเปล่า ฟรี ไม่ต้องใช้ไบโอโลจิคอลซีสเต็ม (Biological System) ก็มีพลังของแสงอาทิตย์ พลังของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ร่วมกัน คือน้ำขึ้นลงเวลานี้ขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นจนเลยนนทบุรีเลยปทุมธานีไปเกือบถึงอยุธยา เวลาน้ำขึ้นก็ขึ้นไปถึงโน่น เวลาน้ำลงก็ลงไปในทะเล…. แถวเทเวศร์ เวลาน้ำขึ้นประมาณ 1 เมตร เวลาน้ำลงประมาณ 1 เมตร รวมแล้ว 2 เมตร ความแตกต่างหมายความว่าถ้าเราทำอะไรด้วยกำลังของน้ำที่ขึ้นและลงนี่ก็จะได้กำไรมากขึ้น เมื่อ 8 ปีแล้ว 9 ปี ไปที่ปากคลองเทเวศร์ คลองเทเวศร์นี้ก็ผ่านกรุงเกษม แล้วไปออกที่โรงแรมรอยัลออคิดฯ ตรงนั้นทำประตูน้ำแต่ก็ปิดเอาไว้ น้ำในคลองเทเวศร์ก็โสโครก เด็กจะลงในน้ำเป็นอหิวาต์ทั้งนั้น แล้วก็ไปบอกว่าขอใช้ไฟฟ้าสักนิดได้มั๊ย ใช้ไฟฟ้าเปิดประตูตอนนั้นน้ำขึ้น….เวลานั้นเดือนเมษายน ฝนก็ไม่ตก ก็เปิด เวลานั้น เป็นวันที่ 30 เมษายน 2529 เปิดประตูน้ำก็ฟู่เข้าไป เพราะว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็นับว่าใช้ได้เข้าไปในคลองเทเวศร์ซึ่งดำเมี่ยม เวลาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงไปด้วยน้ำลง ถึงจังหวะน้ำลงก็ปิด น้ำนี่ก็ไหลไปที่อื่นไม่ได้ไหลไปปากคลองตลอาดไหลไปมันก็ไล่น้ำโสโครกไปอย่างนี้ทุกวัน แต่เวลาน้ำขึ้นน้ำลง เขาก็บอกว่ามีโทรศัพท์ที่จุดปากคลองเขาก็มีให้โทรศัพท์ไปที่อุทกศาสตร์ ว่าเวลานั้นเวลาไหนน้ำขึ้นน้ำลง เวลาน้ำขึ้นเต็มที่เปิด เวลาน้ำลงปิด ทางโน้นตรงกันข้ามเวลาน้ำขึ้นปิด ภายในไม่กี่วันผ่านผดุงกรุงเกษมกับคลองเทเวศร์ เด็กฉลองสงกรานต์ว่ายน้ำสบายเลย สนุกสนานและไม่เป็นโรคเพราะว่าน้ำสะอาด เสียเงินนิดเดียวค่าไฟฟ้าสำหรับเปิดประตูน้ำไม่ต้องสูบ…..
แนวพระราชดำริสองประการนี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวว่าทรงเชี่ยวชาญ ในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และเป็นวิธีการ บำบัดน้ำเสียอย่างง่าย ประหยัดพลังงาน และสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถอันสูงยิ่งในพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทุ่มเทเพื่อความสุขของปวงชน ทั้งหลาย
ป้ายคำ : บำบัดน้ำเสีย