โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่เป็น โครงการตามพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองชุมพร ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวชุมพรในช่วงฤดูมรสุม สืบเนื่องจากอุทกภัยพายุไต้ฝุ่นซีต้า ในเดือนสิงหาคม 2540 ที่สร้างความเสียหายให้กับจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก ประชาชนเสียชีวิต 28 คน ทรัพย์สินเสียหาย 2,110 ล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน การก่อตัว พายุลินดา ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของชาวชุมพร ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำท่าตะเภาออกสู่ทะเล
การขุดคลองหัววัง-พนังตัก แล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุ ลินดาเข้าเพียง 1 วัน และประชาชนรอดพ้นจากอุทกภัยน้ำท่วมเมืองชุมพร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอด พระเนตรและประกอบพิธีเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การขุดลอกแก้มลิงหนองใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ การขุดคลองละมุให้เชื่อมกับคลองท่าแซะ การติดตั้งประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ การติดตั้งระบบ เตือนภัยที่คลองท่าแซะ นับเป็นพระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมชลประทาน ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชุมพรและพื้นที่โดยรอบ รอดพ้น จากอุทกภัยน้ำท่วมต่อเนื่องมา 12 ปี ชาวชุมพรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังคำกล่าวที่ว่า
ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น
จากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยและเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรของ ราษฎรแล้ว จังหวัดชุมพรเห็นว่า การพัฒนาเพื่อขยายผลโครงการเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรชาวชุมพร โดยเฉพาะการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เครือข่ายจากภูผา สู่มหานที น้อมนำไปปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ มาขยายผลเป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเครือข่ายจากภูผา สู่มหานที มีเครือข่ายและศูนย์ฝึกอบรมทั่วทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัด ดำเนินการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรผู้พักชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
จังหวัดชุมพรจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นวางแผนพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เพื่อถวายเป็นราชสักการะเนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 71 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานรวม 5 ข้อคือ
- ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง
- ควรจัดตั้งสถานีวัดน้ำระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้า จะทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลหลากลงมาใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่แล้วทยอยระบายทิ้งทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วจึงค่อย ๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร
- ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค-บริโภค และในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง หนองใหญ่ เพื่อระบายทิ้งทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักได้อีกด้วย
- ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรลงได้ในระดับหนึ่ง
- ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะบรรจบกับคลองรับร่อ) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับเมืองชุมพร และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต เกี่ยวกับโครงการแก้มลิงหนองใหญ่เพิ่มเติม โดยให้พิจารณาขุดคลองละมุให้เชื่อมคลองท่าแซะกับหนองใหญ่เพื่อช่วยแบ่งน้ำส่วนหนึ่งจากคลองท่าแซะลงสู่หนองใหญ่ จากนั้นเมื่อระดับน้ำในคลองหัววัง-พนังตักลดระดับลงจึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำจากหนองใหญ่ระบายลงคลองหัววัง-พนังตัก และไหลลงสู่ทะเล
หนองใหญ่มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ 102 กม.2 ประกอบด้วยคลองสาขา คือ คลองกรูด สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที คลองขี้นาค สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที และคลองละมุซึ่งรับน้ำบ่าและผันน้ำจากคลองท่าแซะรวมกัน สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที รวมเป็นน้ำที่ไหลลงหนองใหญ่ 160 ลบ.ม./วินาที ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง จะสามารถเก็บกักน้ำได้ถึงระดับ +4.780 เมตร (รทก.) ซึ่งเป็นระดับเก็บกักสูงสุดที่ทำให้ปริมาณความจุของหนองใหญ่เป็น 3 ล้าน ลบม. หากปริมาณน้ำมีมากเกินกว่าระดับเก็บกักก็จะระบายออกจากหนองใหญ่ทางช่องระบายน้ำฉุกเฉินเข้าสู่คลองหัววัง-พนังตัก ในการควบคุมเก็บกักและระบายน้ำของหนองใหญ่นั้นจะมีประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2, 3 สามารถระบายน้ำได้ 20 ลบ.ม./วินาที ต่อ 1 แห่ง และ ทรบ.หนองใหญ่สามารถระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ใช้เวลาในการระบายน้ำรวมกันจำนวน 3 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 6 ชั่วโมง หลักการทำงานของแก้มลิงหนองใหญ่ คือ รับน้ำจากคลองสาขามาเก็บไว้ในหนองใหญ่แล้วค่อยๆ ปล่อย โดยปตร.ราชประชานุเคราะห์ 1, 2, 3 และทรบ.หนองใหญ่เข้าสู่คลองหัววัง-พนังตักเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลต่อไป และอีกกรณีหนึ่งหากไม่มีฝนตกในลุ่มน้ำคลองสาขาหนองใหญ ่และไม่มีน้ำจากคลองท่าแซะ แต่มีฝนตกในลุ่มน้ำคลองรับร่อเมื่อระบายน้ำเข้าสู่คลองหัววัง-พนังตัก สามารถเปิดปตร.ราชประชานุเคราะห์ และทรบ.หนองใหญ่นำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในหนองใหญ่ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมสามารถระบายน้ำที่เก็บไว้ในหนองใหญ่ออกสู่คลองหัววัง-พนังตักให้ระบายออกสู่ทะเลต่อไปได้
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อขยายผลโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวจังหวัดชุมพร โดยเฉพาะการนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เครือข่ายภูผา สู่มหานที ได้ปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จมาขยายผลเป็นศูนย์ การเรียนรู้ เพื่อสร้างความพอเพียง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนแก่คนไทย
- เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ในโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ เป็น สถานที่ฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้ง การปฏิปทาตามแนวทางกสิกรรมธรรมชาติ และวิถีเกษตรอินทรีย์สู่เศรษฐกิจพอเพียงตามแบบแผนที่เคยก้าวย่างของศูนย์ฝึก อบรมเศรษฐกิจพอเพียง ในเครือข่ายภูผา สู่มหานที ได้ถ่ายทอดสู่ชุมชนบางลึก และพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดชุมพร
- เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต ในการมุ่งการศึกษาด้วยตนเอง และฝึกตนเองโดยเริ่มต้นบนภูมิรู้ที่พ่อสอน มาสู่สายกลางแห่งเศรษฐกิจพอเพียง
- เป็นแหล่งรวมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัด สามารถเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน นำไปสู่การสร้างคุณค่าและความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนต่อไป
ดำเนินการจัดจ้างเครือข่ายภูผา สู่มหานที ผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษตามข้อ 24 (1) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเครือข่ายที่นำปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติจนได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผลงาน ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1) จัดตั้งเครือข่ายและศูนย์ฝึกอบรมการดำเนินการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชุมพร ได้แก่
- ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน
- ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะงุ้น
- ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านทอนอม
- ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วังตะกอ
- ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติพะโต๊ะ อำเภอปะทิว
- อำเภอสวี
- อำเภอทุ่งตะโก
- อำเภอหลังสวน
- อำเภอพะโต๊ะ
2) จากความสำเร็จของการดำเนินงานและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ส่งผู้พักชำระหนี้เข้ารับการอบรมที่ศูนย์เรียนรู้ รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเกษตรกรเข้าฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ณ ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ปีละกว่า 1 หมื่นคน
3) มูลนิธิชัยพัฒนา และสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบหมายให้กลุ่มภูผา สู่มหานที จังหวัดชุมพร ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545 โดยสร้างเป็นฐานสังคมการเรียนรู้การพึ่งตนเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพลิดเพลินกับการปฏิบัติจริง พร้อมน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ได้จริงในชีวิต ประจำวัน จัดวางภูมิทัศน์ ในลักษณะของจากน้ำหยดแรกที่ต้นน้ำ ไหลลงสู่ทะเล หรือ จากฟ้ามาภูผา สู่มหานที
ให้ผู้รับจ้างดำเนินการบริหารจัดการโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราช ดำริให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กำหนดดำเนินการในพื้นที่ 3 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 พื้นที่เกาะเลข 9 เนื้อที่ 12 ไร่ นำเสนอผลสำเร็จการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจาก 8 อำเภอ
(1) พื้นที่ส่วนกลาง
เป็นพื้นที่ต้นน้ำจากภูผา สู่มหานที โดยปรับพื้นที่เป็นภูเขาสูง ติดตั้งถังจุลินทรีย์ขนาด 14,000 ลิตร เพื่อกระจายน้ำจุลินทรีย์ด้วยพลังงานจากกังหันลม ผ่านลำธารเลี้ยววนไปยังพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติใช้เส้นทางเดินคอนกรีต ตามรอยเท้าพ่อ ซึ่งประทับรอยเท้าขนาดใหญ่ เล็ก ตลอดเส้นทาง ผ่านไปยังซุ้มประตูเพื่อเข้าสู่กิจกรรมของแต่ละอำเภอ และข้ามสะพานไม้ความยาว 300 เมตร เชื่อมโยงกับเกาะชมนกชมไม้
(2) อำเภอละแม เรื่อง ธนาคารต้นไม้ ป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง และวิถีเรือโบราณกับกล้วยหอมอินทรีย์
โดยการจัดทำพื้นที่ปลูกต้นไม้ตามแนวคิดป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง โดยมีประโยชน์ตามชื่อและประโยชน์อย่างที่ 4 คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ และดำเนินงานตามแนวทางธนาคารต้นไม้ ซึ่งประกอบด้วย การเพาะชำต้นไม้ การปลูกป่า และการนำไม้ไปใช้สอย โดยมีอาคารนิทรรศการขนาด 4 x 8 เมตร แสดงองค์ความรู้การใช้ไม้ การแสดงองค์ความรู้การต่อเรือใบโบราณและมีเรือใบที่สามารถใช้ได้จริง 2 ลำ และการปลูกกล้วยหอมอินทรีย์ที่ขึ้นชื่อของอำเภอละแม
(3) อำเภอพะโต๊ะ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชนคนอยู่กับป่า ป่าต้นน้ำและ คนอยู่ป่ายัง
นำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนให้คน สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ในรูปแบบการจัดทำเวทีชาวบ้าน และ Home Stay ขนาด 3.5 x 5 เมตร จำนวน 3 หลัง อาคารฝึกอบรมพร้อมอุปกรณ์การฝึกอบรม ซึ่งสามารถจุคนได้ 100 คน สร้างด้วยวัสดุท้องถิ่นตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ขนาด 8 x 16 ม. 2 ชั้น โดยชั้นบนทำเป็นที่พัก พร้อมห้องน้ำชาย-หญิง จำนวน 2 ห้อง และแสดงการทำเกษตรบนพื้นที่เกษตร 4 ชั้น และการประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ที่เกื้อกูลกัน
(4) อำเภอหลังสวน เรื่อง จัดการพื้นที่โดยอาศัยหลักธรรมชาติ ลดต้นทุน 90% และ Home Stay เกาะพิทักษ์
เป็นการจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับการทำการเกษตร การวางและทำระบบน้ำจากแหล่งน้ำสู่พื้นที่การเกษตร มีการเลี้ยงปลาด้วยอาหารจากคอกหมู และแสดงองค์ความรู้ในอาคารวัสดุท้องถิ่นขนาด 4 x 8 เมตรรวมทั้ง นำเสนอรูปแบบ Home Stay ของเกาะพิทักษ์ขนาด 6 x 12 เมตร ทำจากวัสดุท้องถิ่น จำนวน 2 หลัง ซึ่งเป็นที่พักขึ้นชื่อของจังหวัดชุมพร พร้อมห้องน้ำชาย – หญิง จำนวน 2 ห้อง
(5) อำเภอทุ่งตะโก เรื่อง สวนคอนโด 9 ชั้น ของลุงนิล การเลี้ยงชีวิตบนถนนสายเครื่องแกงและพึ่งตนเองกับผลผลิตจากหมูครบวงจร
นำเสนอการปลูกพืช โดยจัดชั้นแบบคอนโดไล่เรียงการปลูก 9 ชั้น มีระบบน้ำและการดูแลรักษา และเส้นทางถนนเครื่องแกง ที่ผู้เข้าชมเมื่อใช้ถนนเส้นนี้สามารถเก็บผลผลิตไปทำเครื่องแกงปรุงอาหารได้ อย่างครบถ้วน และภูมิปัญญาการเลี้ยงหมูบนคอกสูง รวมทั้งมีบ้านดินขนาด 4 x 4 เมตร เพื่อแสดง องค์ความรู้ต่าง ๆ
(6) อำเภอสวี เรื่อง โรงเรียนจุลินทรีย์กับบ้านน้ำยาจากวัสดุธรรมชาติ
แสดงการผลิตจุลินทรีย์ และน้ำยาที่มาจากวัสดุธรรมชาติ ในรูปแบบและชนิดต่างๆ เช่น จุลินทรีย์รูปตุ๊กตา โดยนำเสนอในอาคารเรียนรู้จุลินทรีย์และบ้านน้ำยา ซึ่งมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการให้ ผู้เข้าชมฝึกการผลิตจุลินทรีย์ และการนำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ในแปลงผัก
(7) อำเภอเมือง เรื่อง ชุมชนตลาดและชายขอบเมืองกับการพึ่งตนเองในนิเวศปลายน้ำ
นำเสนอชุมชนเมืองที่มีพื้นที่เกษตรเพียงเล็กน้อย แต่สามารถทำการเกษตรแบบประณีตได้ และเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำ จึงมีการบำบัดน้ำด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์ การกำจัดขยะ รวมทั้ง รูปแบบการเก็บน้ำแบบแก้มลิง โดยมีอาคารเรียนรู้ขนาด 3 x 6 เมตร
(8) อำเภอท่าแซะ เรื่อง ปาล์มแหล่งพลังงานธรรมชาติสายลมแสงแดด
นำเสนอการผลิตปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ซึ่งใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยอินทรีย์โรงเรือนขนาด 4 x 6 เมตร เพาะเห็ดฟางโรงเรือนขนาด 4 x 8 เมตร และผลิตไบโอดีเซลในโรงผลิตขนาด 4 x 8 เมตร รวมทั้ง เป็นพื้นที่ตั้งของแหล่งผลิตพลังงานจากกังหันลม 1 เครื่อง เพื่อผันน้ำจุลินทรีย์ไปตามลำธาร สู่อำเภอต่าง ๆ และพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เครื่อง เพื่อให้พื้นที่ในโครงการได้ใช้พลังงาน
(9) อำเภอปะทิว เรื่อง คนชุมพรกับข้าวเหลืองปะทิวและปฏิปทาของศูนย์เพลินสู่ภาวะพอเพียง
นำเสนอวิถีชีวิตชาวนาและการทำนาข้าวเหลืองปะทิวแบบอินทรีย์ในพื้นที่ 300 ตารางเมตร การสีข้าวและอุปกรณ์การทำนาแบบโบราณ และแสดงจุดเด่นของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลินในอาคารนิทรรศการขนาด 4 x 8 เมตร ส้วมตามแนวพระราชดำริขนาด 4 x 9 เมตร จำนวน 6 ห้อง โรงผลิตปุ๋ยหมักขนาด 4 x 8 เมตร
- ส่วนที่ 2 พื้นที่เกาะ เนื้อที่ 5 ไร่
พัฒนาเป็นเกาะชมนกชมไม้ โดยปลูกต้นไม้ที่มีผลเป็นอาหารนก สื่อการเรียนรู้ และจัดทำเส้นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติระยะทาง 700 เมตร
- ส่วนที่ 3 พื้นที่ประกอบอาชีพ เนื้อที่ 57 ไร่
พัฒนาเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพจริงเลียนแบบธรรมชาติ เนื้อที่ 27 ไร่ โดยการได้ปรับพื้นที่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยใช้ปุ๋ยจากพืชสดและปุ๋ยคอกจากหมูลาน และแสดงองค์ความรู้การทำการเกษตร ในอาคารเรียนรู้ 2 ชั้น ขนาด 5 x 12 เมตร และปลูกไม้เบญจพรรณ เนื้อที่ 30 ไร่
ในการขยายผลของศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้นำความสำเร็จของการปฏิบัติมานำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ของแต่ละอำเภอ สำหรับในวันนี้จะขอหยิบยกผลสำเร็จมานำเสนอเพียงแค่ 4 อำเภอ ดังนี้
- อำเภอพะโต๊ะ เป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในรูปแบบคนอยู่ป่ายัง ซึ่งเป็นการดูแลรักษาป่าต้นน้ำของชุมชน ร่วมกับภาครัฐ โดยมีกฎระเบียบของชุมชนว่า จะต้องไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม ให้ปลูกป่าเพิ่มเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการปลูกไม้เศรษฐกิจแซมในแปลงเกษตร เช่น ยางนา ตะเคียนทอง และมีการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- อำเภอหลังสวน ดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครบวงจร ลดต้นทุน 90% โดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นการปฏิบัติและเปรียบเทียบวิธีคิด วิธีทำ ให้ลดต้นทุนด้วยตัวเอง โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น มูลวัว มูลไก่ ปลาป่น รำข้าว หัวเชื้ออีเอ็ม กากน้ำตาล นำมาผสมกัน จะได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง โดยใช้เวลาในการหมักปุ๋ย 15 วัน สามารถลดต้นทุนได้ถึง 20,000 บาท/ตัน
- อำเภอทุ่งตะโก เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการใช้พื้นที่ในแปลงเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 100% โดยมีการปลูกพืชหลักและพืชแซมพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ ช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะการปลูกพืช 9 ชั้น เลียนแบบคอนโดมิเนียม ตั้งแต่ พืชน้ำ พืชหัว พืชผัก ไม้ยืนต้น และไม้เศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกพืชผสมผสานระบบคอนโดจะช่วยป้องกันวัชพืชในแปลง ประหยัดพื้นที่/น้ำ/ปุ๋ย และประกันความเสี่ยงในด้านการลงทุน หากพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ให้ผลผลิต พืชชนิดอื่นที่เหลือ ก็จะสามารถทดแทนได้ ปัจจุบันการทำการเกษตรของลุงนิล (นายสมบูรณ์ ศรีสุบัติ) สร้างรายได้วันละประมาณ 700-1,000 บาท
- อำเภอปะทิว มีแนวคิดในการส่งเสริมให้คนชุมพรปลูกข้าว ทำนา เพื่อการบริโภค โดยเฉพาะข้าวเหลืองปะทิว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวนาพื้นเมืองของจังหวัดชุมพร และพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมือง ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย ทนต่อโรค โดยจังหวัดชุมพรมีพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองอยู่ 9 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ภูเขาทอง พันธุ์เล็บนก พันธุ์ดอกขาม พันธุ์นางเขียน พันธุ์สามเดือน พันธ์นางครวญ พันธุ์ข้าวดำ พันธุ์ข้าวเหนียวกาดำต้นดำ และพันธุ์ข้าวเหนียวกาดำต้นเขียว และเพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดชุมพรไม่ให้สูญพันธุ์ จึงได้มีการปลูกไว้ที่หนองใหญ่
- นับตั้งแต่เปิดศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียง โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานซึ่งเป็นคนจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 194 คณะ จำนวน 15,409 คน จำแนกเป็น ประชาชนทั่วไป 4,314 คน และนักเรียน/นักศึกษา 11,095 คน โดยจังหวัดชุมพร จะดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียงที่มี ความสมบูรณ์ และสามารถถ่ายทอดการปฏิบัติให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนแก่คนชุมพรต่อไป
ที่ตั้ง
พื้นที่หนองใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร หนองใหญ่อยู่ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร ไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร (ตามถนนทางหลวงชนบท)
การติดต่อ
โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดชุมพร
ศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชดำริจังหวัดชุมพร ศาลากลางจังหวัดชุมพร
ถ.ไตรรัตน์ ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร 86000 โทร. 0-7751-1551, 0-7750-3975