โชคดี ปรโลกานนท์ ผู้สร้างเกษตรสวนป่าแห่งอำเภอวังน้ำเขียว

บ้านหลังใหญ่ในร่มไม้ครึ้มเขียวร่มรื่น รายล้อมด้วยหุบเขาและชุมชนชาวไร่ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นเมืองและโครงการบ้านพักตากอากาศของคนเมือง ทำให้บนถนนมีรถราขวักไขว่ แต่ในสวนแห่งนี้กลับเงียบสงบ เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง สวนที่ซึ่งชาวบ้านรู้จักดี คือ สวนลุงโชค ของ ลุงโชค หรือ นายโชคดี ปรโลกานนท์ เกษตรกรชาวอำเภอวังน้ำเขียว นครราชสีมา อดีต NGOs ที่ทำงานฟื้นฟูป่าเขาใหญ่เขาแผงม้าหลังปิดสัมปทาน และในอีกด้านหนึ่งเป็นเกษตรกรที่หันกลับมาทำสวนแนววนเกษตรจนประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

จากเกษตรกรที่ปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ ดูแลป่าเขาใหญ่ เขาแผงม้า อุดมสมบูรณ์และให้เติบโต ลุงโชค ในปัจจุบันนอกจากเป็นเกษตรกรยั่งยืนแล้วยังเป็นวิทยากรอบรมแนวคิด วิธีการทำเกษตรธรรมชาติอีกด้วย ลุงโชคได้ยอมเผยว่า อะไรคือแรงบันดาลใจ อะไรที่ความมุ่งมั่นที่จะเดินบนถนนสายนี้ และเผชิญ อะไรบ้าง ลุงโชคอธิบายว่า อย่างแรกเลยคือส่วนตัวชอบการเกษตร ทำให้สามารถอยู่กับธรรมชาติ กับต้นไม้ได้นานๆ ส่วนแรงบันดาลใจ จากแนวคิด นั้นลุงโชคบอกว่าได้ตอนทำงาน NGOsได้จากการเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ได้ไปเห็นไปฟังจึงกลับมาลองผิดลองถูกทำมาเรื่อยๆ จนบัดนี้

choakdeepora

ในเรื่องนี้ ผมชอบการเกษตรอยู่และจบเกษตรมา และที่อยากเป็น ก็อยากเป็นเกษตรแบบที่ผมเรียนมา ในตอนนั้นะครับ ผมจบพืชไร่มาก็อยากทำไร่ แต่พอมาทำแล้วมันไปไม่ได้ ก็เลยคิดว่า มาทำสวนแบบสวนสมรมที่บ้านที่ปักษ์ใต้ ผมก็เลยมาปลูกต้นไม้ พอเริ่มปลูกต้นไม้ชีวิตผมก็หักเห ด้วยทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าเขาก็ชวนมาทำงานแถบนี้แหละ พอไปทำงานก็ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนรู้วัฒนธรรม การทำการเกษตรที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างเช่นท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อคำเดื่อง พ่อมหาอยู่ ผมก็เคยไป ซึ่งท่านล้วนแต่เป็นปราชญ์ท้องถิ่น แล้วพอมาปี2533 ผมก็เริ่มทำสวนนี้ ตอนนี้พอเช็คไปเช็คมา สวนผมนี่ใหญ่ที่สุดมนแถบนี้ ประมาณ 100 ไร่ เป็นสวนที่ใหญ่แล้วก็มีองค์ประกอบครบด้วย

กิจวัตประจำวันในการดูแลสวนของผม คือ เช้าตื่นมาก็ใส่ชุดทำงานรดน้ำต้นไม้เลย อ้อ ดูแลสุขภาพก่อน การดูแลสุขภาพของผมก็มีกินผลไม้ กินสมุนไพร พวกขมิ้น กล้วยน้ำหว้าที่ตากไว้ อะไรพวกนี้ แล้วก็ลงสวนเลย รดน้ำ เดินไปดูตรงไหนที่มันรกก็ตัดหญ้า ถ้าหน้าฝนตรงไหนที่มันว่างๆ ก็ไปปลูกต้นไม้ ชีวิตประจำวันก็ประมาณนี้ ทำจนถึงสองทุ่ม ทำทุกวัน แต่ช่วงกลางวันผมจะนอนนะครับ เที่ยงผมจะนอน นอนเสร็จมากินข้าว กินข้าวเสร็จค่อยทำงานต่อ แต่ช่วงเย็นคือทำงานดีที่สุด ผมชอบมาก อากาศมันเย็นสบาย ผมไม่ชอบแดดเลยไม่ทำอะไรในที่ที่มีแดด ลุงโชคเกริ่นก่อนจะเริ่มเล่าย้อนถึงบทบาทเบื้องต้นที่เข้ามาอยู่มาฟื้นฟูป่าในอำเภอวังน้ำเขียว ว่า

ตอนนั้น ตอนเริ่มต้นผมทำอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่ง งานฟื้นฟูป่าในอำเภอวังน้ำเขียว พื้นที่เบ็ดเสร็จแล้ว 2 หมื่นไร่ ทำในมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นการปลูกป่าที่ใช้นโยบายของรัฐเป็นการทะลุทลวง แนวกระบวนการการฟื้นฟูของเราจะแตกต่างจากรัฐทำ มาก เพราะรัฐมองว่าการปลูกป่าแค่จัดสรรงบประมาณ แล้วให้หน่วยงานรับผิดชอบ ก็แค่นั้น แต่พอเรามาทำ มาเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม เน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกัน เลยทำให้งานของลุงค่อนข้างโดดเด่น ในตอนนั้นนะครับ ประมาณปี2537
งานของเราเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เราต้องทำความเข้าใจ เมื่อก่อนเราทำงานเราต้องลงไปหาชาวบ้านทุกวันเราต้องลงหมู่บ้าน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พาชาวบ้านไปดูงาน เมื่อก่อนชาวบ้านให้ความร่วมดีมาก เพราะในตอนนั้นแถวนี้แม้แต่ไฟฟ้ายังไม่มีใช้ ในยุคนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ เราทำงานกับชาวบ้านช่วง 2531 ถึง 2536 เป็นการเตรียมชุมชนซึ่งยุคนั้นเศรษฐกิจยังไม่แตกยังไม่เกิดฟองสบู่ การเปลี่ยนแปลงของสังคมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังเป็นสังคมเกษตรธรรมดา ติดอยู่กับฐานทรัพยากรซึ่งก็คือเขาใหญ่แค่นั้นเอง และกลุ่มเราก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่พาชาวบ้านปลูกต้นไม้ ปัญหาทรัพยากรในตอนนั้นคือมันเสื่อมโทรมเพราะถูกใช้โดยรัฐ ในเรื่องของการให้สัมปทาน ปี 2531 นี่เองที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการให้สัมปทาน แต่ว่าก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม คือปิดป่าแล้วจะทำยังไงต่อ .. ซึ่งการปิดป่าตรงนั้นเราเห็นด้วย แต่ต้องดำเนินนโยบายต่อด้วยสิ ต้องให้ชาวบ้านเข้ามาฟื้นฟูที่ดินทำกิน ต้องปลูกต้นไม้ ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร ก็ต้องปลูกเสริม นี่พอปิดป่าเสร็จคุณกลับไปเอาไม้ที่เขมร เอาไม้ที่ลาว ไปตัดที่อื่นซึ่งมันก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้น รัฐต้องเร่งฟื้นฟูเพราะว่า ป่าไม้มันตัวบ่งบอกอะไรหลายๆ อย่าง อย่างน้อยปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ ง่ายๆ เลย โดยเฉพาะอีสาน ภาคเหนือ เพราะว่าถ้าป่าหมดมันส่งผลกระทบโดยตรง อาหารการกินหมด ยาหมด แล้วก็ต้องไปพึ่งพิงตลาด พึ่งพิงคนอื่นหมดเลย นี่เป็นบทบาทผมในยุคแรกๆ
ในยุคนั้นเองที่ผมคิดเรื่องนี้ ผมก็ทำสวนไปด้วย ปลูกต้นไม้ควบคู่กับทำงานไปด้วย ในตอนนั้นที่ทำไม่ได้คิดว่ามันเป็นโมเดลการเรียนรู้นะ เพราะก่อนที่ผมจะมาทำงานเป็นนักพัฒนาผมจบปริญญาตรี ผมไม่รับราชการ ผมสนใจเรื่องของการเกษตร รุ่นผมมีผมคนเดียวที่หันมาสนใจทำแบบนี้ ผมปลูกไปตามภูมิสังคมปลูกไปตามลักษณะพื้นที่ ฉะนั้นใครจะมาถอดบทเรียน ว่าผมคิดยังไงกับการปลูกกอไผ่ คือผมไม่รู้จะบอกยังไง ทำไมต้องเอาต้นนี้มาปลูกตรงนี้ ทำไมทำยังงั้น คือผมบอกไม่ได้ แต่ทำๆ มา แล้วมันเรียนรู้มันเห็นคุณค่าในภายหลังนี่แหละเยอะมาก ลุงโชคเล่าอธิบายและเสริมมุมมองเรื่องคุณค่ากับชีวิตยังไงจึงได้หันมาสนใจการเกษตรและยังให้มุมมองวิพากษ์วิจารณ์เกษตรกระแสหลักอีกว่า

choakdees

ผมชอบเกษตร ผมเคยลองทำมาเยอะนะ เช่นเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาเคยมาทำหมด แต่สุดท้ายสู้ปลูกต้นไม้ไม่ได้ เพราะปลูกต้นไม้ มันไม่ใช่ได้เงินนะ ผิดไปจากเป้าหมายแรกๆ ที่ผมมาอยู่วังน้ำเขียวนี่เป้าจริงๆ คือเพื่ออยากได้เงิน มาทำเกษตรส่งตลาดนี่แหละ แต่ว่าพอเราล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จตรงนั้น เป้าชีวิตก็เปลี่ยนไป เป้าชีวิตของเราก็คือเรื่องของความสุข ทำอย่างไรให้มีความสุข แล้วชีวิตที่มีความสุขก็ต้องมีกินมีอยู่มีใช้ ไม่เจ็บไม่ไข้ครอบครัวอบอุ่น เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาคำพูดของ อาจารย์ระพี สาคริก ท่านอาจารย์บอกว่า เกษตรไม่ใช่อาชีพ แต่เกษตรเป็นวัฒนธรรม เกษตรเป็นเรื่องของความงดงาม เป็นเรื่องของภูมิปัญญา ความรู้ จิตวิญญาณ จารีตประเพณี วัฒนธรรมเยอะแยะเลย

กับเกษตรกระแสหลักนี่ผมไม่เอา ผมขายสวนยางที่ภาคใต้ทิ้งหมดเลย เพราะผมรู้ว่ายางพาราไม่ใช่จริตของผม อยู่ดีๆ เรามีสวนยางแล้วมีคนมาขอแบ่งเราครึ่งหนึ่ง อันนี้ไม่ใช่แล้วสำหรับผม เรื่องเกษตรกระแสหลักนี้ เราลองคิดวิเคราะห์ดูสิว่า พืชเชิงเดี่ยวทั้งหลายทั้งปวง ใครหลายคนอยู่เบื้องหลัง แค่ปัจจัยการผลิตนี่ ถามจริงๆ อยู่ในมือของเกษตรกรไหม๊ พันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงเป็นของชาวบ้านไหม๊ ต่อมาพอได้ผลผลิตเสร็จแล้ว เกษตรกรจัดการผลผลิตนั้นได้ไหม๊ ก็ต้องส่งไปให้เขาจัดการต่อใช่ไหม๊ เพราะฉะนั้น เราถูกสอน ถูกบอกว่า ให้ทำให้ได้ผลผลิตเยอะๆ เราหลงประเด็นนะ แถมให้เราต้องทำให้ได้คุณภาพ น้ำยางต้องดี คือ อะไรก็ตามไม่ว่าจะยางพารา ข้าวโพด เราเกษตรกรอยากทำให้ได้ต่อไร่ต่อผลผลิตสูงๆ แต่พอผลผลิตสูงคนไหนที่เป็นคนได้ดี ได้กำไร ก็คนขายปัจจัยการผลิต แล้วเราก็ซื้อปัจจัยการผลิตที่มันแพง พอเอาไปขายคนที่รับและจัดการผลผลิตก็ได้มากกว่า ใช่ไหม๊ ไล่ไปเลย ข้าว พันธุ์ก็ซื้อเขา เทคโนโลยีก็ซื้อเขา ปุ๋ยก็ซื้อเขา ได้ผลผลิตก็เอาไปให้โรงสี โรงสีก็ได้อีกทอดหนึ่ง โรงสีก็ไปขายให้พ่อค้าส่งออก พ่อค้าส่งออกก็ได้อีกทอดหนึ่ง พอพ่อค้าส่งออกจะเอาไปขายรัฐมนตรีก็เอาไปอีกทอดหนึ่ง สุดท้ายใครอยู่เบื้องหลัง ภาษีที่เข้ารัฐก็ได้แค่นิดเดียว
ไปดูสิบ้านชาวบ้านคนทำนาจริงๆ ยังอยู่กระต๊อบหลังเล็กๆ แต่ไซโลโกดังข้าวแถวๆ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ไปดูสิขยายใหญ่โตมากมายในแต่ละปี บ้านชาวบ้านเสาเอียงแหล่ไม่เอียงแหล่ คนทำนายังยากจน เหมือนเดิม ประเทศไทยผลิตอะไรก็อันดับหนึ่งของโลก ข้าวก็อันดับหนึ่งของโลก ยางพาราก็อันดับหนึ่ง ข้าวโพดกับอ้อย นี่อันดับสามของโลก มันสำปะหลังก็อันดับหนึ่งของโลก ตลกไหม๊
ถามว่า ทำไมเกษตรกรซึ่งล้วนแต่คิดได้แต่ทำไมไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเพราะว่าเขาถูกมอมเมา ถูกทำให้เชื่อ ซึ่งทางออกของปัญหาเกษตรกรไทยเราก็นี่แหละอย่างที่ผมทำ และมีน้องๆ NGOs ทำอยู่ แต่ก็ได้แค่จุดเล็กๆ เนื่องจากเราเองบุคลากรก็มีแค่นี้ งบประมาณก็จำกัดจำเขี่ย การที่เราจะให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม กับชาวบ้านน้อยมากๆ และสิ่งที่เราพูดนั้นมันช้า กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผมเนี้ย กว่าจะเห็นผลได้ค่าเหนื่อยก็ 20 ปีซึ่งส่วนใหญ่รอไม่ได้ลุงโชคว่าพร้อมแนะคนที่สนใจทำการเกษตรแบบสวนป่าว่า

ถ้าทำเกษตรแบบผมหรือที่เรียกว่าวนเกษตรนะครับ มันมีทางลัดเยอะนะครับ ของผมนี่เวลาได้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมมักจะบอกว่าอะไรที่เขาลองผิดลองถูกได้คำตอบไปแล้ว เราไม่ต้องเริ่มต้นตาม เราทำก้าวต่อจากนั้นไปเลย อย่างของผมในตอนแรกที่ทำนี่ปลูกกล้วยก่อนนะ ปลูกพริก มะเขือ ปลูกพืชเศรษฐกิจ ปลูกของเก็บกินได้ หลักๆ ต่อมาคือลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ที่ต้องพึ่งพิงจากภายนอก ฉะนั้นถ้าเข้าไปในสวนของผม ผมยังคงสภาพนี้ แม้แต่กล้วยกินเหลือก็ตาก ผมเน้นเลยว่าผลผลิตการเกษตรอย่าไปขายดิบๆ ถ้าขายดิบๆ มันจะถูกมาก ข้าวนี่ดึงชลอไว้ ไม่เห็นหรือคนโบราณเขามียุ้ง แต่ลูกหลานไม่สนใจแล้วไปเชื่อ ธกส. แล้วยังไง พอเขาเอาไปจำนำก็เรียบร้อยหมด นี่ไงคือสิ่งที่เขามอมเมาเรา ก็คือสะดวก ไปเอาเงินกู้ง่ายมาก อยากได้อะไรเขาเอามาให้ผ่อน สะดวกสบายมาก ถูกธรรมชาติของคนมาก เพราะมนุษย์ถ้าสะดวกสบาย มนุษย์ชอบ

choakdeeact

ถ้าตั้งใจทำจริงๆ 5 ปีก็เริ่มเห็นผลแล้ว อย่างผมนี่นิ่ง ไม่เคยวูบวาบตามกระแสหลัก ไม่เคยวูบวาบตามคนอื่น เราตั้งใจทำยังงี้ ก็ทำยังงี้ ไม่รวยแต่ก็มีความสุข ตัวชี้วัดชัดเจนแฟนผมในตอนนี้ก็ไปปฏิบัติธรรม คนถ้าปฏิบัติธรรมได้ นี่ถือว่าสุดยอดนะครับ ฉะนั้น ในอีกด้านหนึ่ง คนที่จะทำแบบนี้เองก็ต้องคุยกับคู่ชีวิต เพราะเราต้องเอาสถาบันหลักคือครอบครัวไว้ให้ได้ด้วย ไม่ใช่เราทำแล้ว เราไม่เอาครอบครัว จะเห็นว่าผู้นำหลายคนในปัจจุบันตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอจังหวัดและประเทศ เอาแต่ข้างนอกแต่ครอบครัวไม่เอา ลูกเป็นยังไง เมียเป็นยังไงไม่สนใจ
ชีวิตปัจจุบันของผม ผมมีรายได้จากสวนไม่น้อยนะครับ รายได้จากไหนหรือ เดินเข้ามาที่ประตูบ้านก็เป็นรายได้แล้ว มีกล้าไม้เพาะชำขาย เพียงแต่ไม่ได้มีรายได้ประจำทุกๆ วันอะไร อย่างฤดูนี้ก็จะขายพันธุ์ไม้ ถ้าฤดูอื่นๆ ก็ขายใบไม้ขายผลิตภัณฑ์ อะไรพวกนี้แหละ ก็ขายทั่วๆ ไป อย่างวันนี้ผมก็ไปส่งกล้าไม้ที่ข้างนอกมา ก็ได้มาแล้ว 6000 บาท เป็นรายได้เช้านี้ พรุ่งนี้ก็ได้ 17000 กล้าไม้เหมือนเดิม ผมขายต้นละ 10 บาท แล้วปีนี้ต้นตะเคียนทองที่ผมเคยปลูกไว้มันโตและเมล็ดร่วงงอกเต็มไปหมดน่าจะเป็นแสนๆ ต้น แล้วถ้าจับมันใส่ถุงขาย คิดเป็นเงินไปเท่าไหร่ เงินทั้งนั้น..!! คุณเคยเห็นใครทำอาชีพเพาะพันธุ์ไม้แล้วไปร้องเรียนไหม๊ ปิดถนน หรือว่าไปทำเนียบมีไหม๊ ไม่มีเลย เป็นอาชีพเกษตรที่ไม่เคยเรียกร้องเลย อย่างรายได้หลักผมคือพันธุ์ไม้นะครับ นอกนั้น อย่างกล้วย ข้าว มะพร้าว พวกนี้เอาไว้รับประทานเอง
และช่วงหลังก็มีเรื่องจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เข้ามาเสริม อันนี้ป็นน้ำจิ้มรายได้ไม่มากแต่มีความสุข ซึ่งก็มีกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าเข้ามาคอยบริหารจัดการช่วย เราก็ได้เป็นค่าวิทยากร ค่าที่พัก ค่าวิทยากรผมยกให้กลุ่มอนุกรักษ์ ส่วนค่าที่พักผมตัด 70% เข้ากลุ่ม 30% ฝากไว้เป็นกองทุนปรับปรุงภูมิทัศน์ในสวน ครับ ลุงโชคเล่าก่อนจะสรุปอีกครั้งเกี่ยวกับการสนับสนุนเกษตรยั่งยืนผ่านนโยบายของรัฐ

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น