โด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ใครเห็นครั้งเดียวก็จำได้ เพราะใบของโด่ไม่รู้ล้มจะเรียงตัวกันใกล้ผิวดิน ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ที่แปลกคือก้านช่อดอกยาวโด่ ชู ขึ้นมาไม่ยอมล้มลงแม้ต้นจะแห้งตาย ซึ่งด้วยลักษณะเช่นนี้นี่เอง จึงได้ชื่อว่า โด่ไม่รู้ล้ม แต่ดูเหมือนว่าชื่อโด่ไม่รู้ล้มจะเป็นที่นิยมเรียกกันในพ่อหมอยาในแถบภาคกลาง ส่วนพ่อหมอยาแถวๆ อีสานจะเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้คล้ายๆ กันแทบทุกจังหวัดว่า คิงไฟนกคุ่ม ขี้ไฟนกคุ่ม ไกนกคุ่ม เพราะเจ้านกคุ่ม (นกในวงศ์นกกระทา) ชอบมานอนซุกในกอของสมุนไพรชนิดนี้ ส่วนหมอยาที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางเรียกว่า ช้างย่ำปื๊ด หมอยาไทยใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวี หมอยาบางท่านเรียก หญ้าไอ (เพราะแก้ไอได้ดี) ส่วนบางพื้นที่เรียกตามลักษณะของราก กล่าวคือโด่ไม่รู้ล้มจะมีรากมากมายจึงเรียกว่า หญ้าสามสิบสองรากเราจะพบโด่ไม่รู้ล้มได้ตามพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่าในทุกๆ ภาค และเป็นสมุนไพรที่หมอยาส่วนใหญ่รู้จัก ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรพื้นฐานของหมอยาพื้นบ้านทั่วไป แต่สิ่งที่น่าฉงนก็คือมันมีชนิดเล็กกับชนิดใหญ่ ซึ่งคนไทยใหญ่เรียก ชนิดเล็กว่า หญ้าแสนหวีอ้อน ส่วนชนิดใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวีใหญ่ และหมอยาไทยใหญ่เชื่อว่า หญ้าแสนหวีอ้อนจะมีฤทธิ์ดีกว่าชนิดใหญ่ และบางครั้งก็งงๆ เพราะโด่ไม่รู้ล้มมีพี่น้องคล้ายๆ กันอีกต้น ชื่อ กระต่ายขาลา ในตำรับยาของพ่อประกาศ ใจทัศน์ (หมอยาจังหวัดยโสธร) ใช้รากกระต่ายขาลาคู่กับรากคิงไฟนกคุ่ม ต้มกินแก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลังและแก้ไอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elephantopus scaber L.
ชื่อสามัญ : Prickly-leaved elephant’s foot
วงศ์ : Asteraceae
ชื่ออื่น : หนาดผา เคยโป้ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าปราบ หญ้าสามสิบสองหาบ หญ้าไฟนกคุ้ม (ภาคเหนือ) ตะชีโกวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย) คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ) หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชล้มลุก ลำต้นสั้น กลม ชี้ตรง สูง 10-30 เซนติเมตร ตามผิวลำต้น และใบมีขนสีขาวตรงละเอียด ห่าง สาก ทอดขนานกับผิวใบ
สรรพคุณ
มีรสขื่น แก้ปัสสาวะ และบำรุงความกำหนัด มีรสกร่อย จืด ขื่นเล็กน้อย รับประทานทำให้เกิดกษัยแต่มีกำลัง ทั้งต้นต้มรับประทานต่างน้ำ แก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาเลเรียดี ใช้ต้มรับประทานแก้ไอ สำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ บางตำรากล่าวว่า แก้กษัย บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับไส้เดือน แก้กามโรค แก้อักเสบ ห้ามเลือดกำเดา แก้ดีซ่าน นิ่ว บิด เหน็บชา ท้องมาน ฝีฝักบัว
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ บำรุงกำลัง บำรุงสมรรถภาพทางเพศ ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ ราก ต้มน้ำดื่ม หรือดองเหล้าดื่ม เข้ากับยากำลังเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรงบำรุงร่างกายแก้ปวดเมื่อย ราก ลำต้น ใบ และผล ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ไอ
หมอยาพื้นบ้าน ใช้ ทั้งต้น รสกร่อยขื่น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ขับน้ำเหลืองเสีย แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้วัณโรค บำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับระดู ขับพยาธิตัวกลม แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด แก้กระษัย ขับไส้เดือน แก้กามโรค แก้บวมน้ำ แก้นิ่ว แก้ไข้หวัด แก้เจ็บคอ แก้ตาแดง แก้ดีซ่าน แก้เลือดกำเดาออกง่าย แก้ฝี แก้แผลมีหนอง แก้แผลงู แก้แมลงมีพิษกัดต่อย แก้อักเสบ แก้แผลในกระเพาะอาหาร แก้แผลเปื่อยในปาก แก้เหน็บชา ราก รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้ไอเรื้อรัง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ ขับระดู บีบมดลูก ต้มเอาน้ำอมแก้ปวดฟัน แก้ฝี แผลมีหนอง บวมอักเสบทั้งหลาย เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน รักษาโรคบุรุษ ต้มดื่มแก้อาเจียน ใบ รสกร่อยขื่น รักษาบาดแผล แก้โรคผิวหนัง (ใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแผล แก้โรคผิวหนังผื่นคัน) แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย รักษากามโรค รักษาโรคบุรุษ เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน แก้ไอ ทำให้เกิดความกำหนัด รากและใบ รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร แก้บิด แก้กามโรคในสตรี ใช้สดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือ ต้มดื่ม ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้กระเพาะอาหารเป็นแผล ต้มอาบหลังคลอด ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงกำลัง ชูกำลัง ตัดกษัย บำรุงกษัยไม่ให้เกิด แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด ขับปัสสาวะ แก้ไข้จับสั่น แก้ไอ แก้ไข้ ขับพยาธิไส้เดือน แก้กามโรค แก้โรคหลอดลมอักเสบ แก้ปวดบวม แก้ตับอักเสบ แก้บิด รักษาตัวบวม รักษาไตอักเสบ
วิธีใช้
ข้อห้ามใช้ :
ห้ามใช้ในผู้หญิงท้อง และผู้ที่อาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะและปริมาณมาก มีชั้นฝ้าบนลิ้นขาวและหนา
ป้ายคำ : สมุนไพร