วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว.

8 มกราคม 2556 แหล่งเรียนรู้ 0

สร้างปัญญา วิชชาบูรณาการ ผสานเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยจิตสำนึกในธรรมชาติ พหุวัฒนธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บนฐานคุณธรรมและชุมชน เพื่อความสมดุล อย่างยั่งยืน

ความพยายามในการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในสังคมไทย กล่าวได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยมาตลอด โดยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ต่างก็ตั้งความมุ่งหวังเอาไว้ว่า การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงคนหรือพัฒนาคนโดยผ่านกระบวนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ จะเป็นฐานที่มั่นคงของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง

แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีเงื่อนไขจากภายในและภายนอกประเทศ ที่ทำให้กระบวนการปฏิรูปทุกภาคส่วนของสังคมอำนวยประโยชน์ให้กับคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางทรัพย์สินเงินทุน และอำนาจทางความรู้ในสังคมมาโดยตลอด

การให้ประโยชน์กับคนกลุ่มน้อยในสังคมที่มีอำนาจ ที่คนส่วนน้อยเหล่านั้นมีบทบาทในการผลักดันขับเคลื่อนสังคมไทย ให้มีการพัฒนาไปตามทิศทางของโลกกระแสหลักและเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มน้อย ได้ส่งผลทำให้เกิดวิกฤติสังคมไทยและสังคมโลกอย่างเชื่อมโยงกันที่หนักหน่วง และรุนแรงยิ่งขึ้น

ปัญหาความยากจน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรด้านพลังงานที่เป็นพลังงานยุทธปัจจัย ปัญหาการแย่งชิงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งป่าไม้ ดิน น้ำ อากาศจนเกิดภาวะวิกฤติโลกร้อน ปัญหาวิกฤติทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ส่งผลทำให้กลายเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางภาวะที่เกิดขึ้น การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคนก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในเชิงวิพากษ์อย่างหนักหน่วงและอย่างรุนแรง จนถึงขั้นสรุปว่าความล้มเหลวของสังคมประเทศชาติ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลว หรือการปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียงปฏิรูปรูปแบบหรือปฏิรูปเทคนิคเท่านั้น โดยไม่เคยมีการปฏิรูปการศึกษาในระดับปรัชญา ระดับโครงสร้างหรือระดับกระบวนทัศน์ และหรือระดับฐานคิดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติปัญหาจากทุกภาคส่วนของสังคมที่กล่าวมา ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเสนอทางออกในหลาย ๆ พื้นที่ขององค์ความรู้

ทางออกของแพทย์ทางเลือก เศรษฐกิจทางเลือก เกษตรทางเลือก การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การผลิตพลังงานทดแทน และการศึกษาทางเลือกฯลฯ เหล่านี้ แม้ในทางลึกของทุกทางเลือก ทุก ๆอนุรักษ์ ทุกๆยั่งยืน จะมีทั้งความเหมือนและความต่างจนเป็นความหลากหลายที่มิได้มีสูตรเฉพาะตายตัว

แต่ประเด็นหลักที่เป็นประเด็นร่วม คือ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาของระบบโลก หรือทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาด้วยการสร้างลัทธิล่าอาณานิคมแผนใหม่ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับผู้กุมอำนาจรัฐของสังคมไทยที่อาศัยระบบโลกแสวงหาประโยชน์ใส่ตน หรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการพัฒนาสังคมไทยที่เอาสังคมโลกเป็นตัวตั้ง
ซึ่งท่ามกลางการนำเสนอแนวคิดทางเลือกใหม่ๆ ของหลายๆพื้นที่องค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้กลายเป็นแนวความคิดทางเลือกหนึ่ง ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รวมทั้งเป็นปรัชญาที่ส่งผลทำให้หลายภาคส่วนของสังคมไทยเกิดการหวนกลับมาศึกษาแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ อย่างจริงจังมากขึ้น
จนมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าเป็นเวลากว่า ๖ ทศวรรษแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริกว่า ๓,๐๐๐ โครงการแก่พสกนิกรปวงชนชาวไทย โดยยึดหลักการทรงงานที่ถือผลประโยชน์ของประชาชน ภูมิสังคม การพึ่งตนเองเป็นฐานรากที่สำคัญนอกจากนั้นยังทรงเน้นย้ำเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติ การพัฒนาแบบองค์รวมและการพัฒนาแบบบูรณาการ การจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (เช่นการใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติภายใต้โครงการปลูกป่า ๓ อย่าง แต่ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง ) ฯลฯ
ที่สำคัญพระราชดำรัสของพระองค์นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นต้นมา พระองค์ทรงเน้นย้ำหลักการพัฒนาบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ จนมีการนำแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ และฉบับที่ ๑๐ ได้มีการกำหนดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาและบริหารประเทศอย่างชัดเจน

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เห็นคุณค่าและความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งเพื่อให้ภารกิจการบริการวิชาการแก่สังคมเป็นรูปธรรมมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงขยายผลของหลักคิดดังกล่าวไปสู่การสร้างกระบวนการความร่วมมือแบบภาคีเครือข่าย หรือเบญจภาคีที่จังหวัดสระแก้ว อันประกอบด้วย ภาคีภาคราชการ ภาคีภาคเอกชน โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพลังงานทดแทนและป่าต้นน้ำจังหวัดสระแก้วขึ้น เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ ศูนย์วิชาการจังหวัดสระแก้ว ภายใต้วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจัดการความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับครอบครัว และชุมชน
  2. จัดตั้งกลุ่มเกษตรกร และพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โดยความร่วมมือขององค์กรเบญจภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน
  3. กำหนดเป็นนโยบายของจังหวัดสระแก้ว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง พืช ๕ ชั้น ตามแนวพระราชดำริ และส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งของจังหวัดสระแก้ว
  4. ลดพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจต่างถิ่น และสนับสนุนให้ปลูกพืชพลังงานทดแทน เพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าพลังงานน้ำมันจากต่างชาติ

ทั้งนี้ เฉพาะภาคีภาควิชาการ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) มีภารกิจสำคัญ ๔ ประการ คือ

  1. จัดกระบวนการเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  2. จัดทำข้อมูลเชิงวิชาการและระบบฐานข้อมูล
  3. ติดตามสนับสนุนและสรุปบทเรียนการดำเนินงานทั้งภาคีภาควิชาการ และภาคีร่วม
  4. สนับสนุนให้เกิดหน่วยงานโพธิวิชชาลัยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุจุดหมาย การพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อให้ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคม สามารถดำเนินการประสานงานและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเป็นแบบๆหนึ่งของการสร้างกระบวนการปฏิรูปการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

การเป็นแบบ ๆ หนึ่งของความร่วมมือในการทำงานที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน การเป็นแบบ ๆ หนึ่งของความรับผิดชอบร่วมกันของธุรกิจภาคเอกชน รวมทั้งเป็นแบบ ๆ หนึ่งของการผลิตบัณฑิตคืนถิ่น ที่ท้องถิ่นในชุมชนและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ

ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ
ปรัชญา ความงอกงามทางปัญญา วัฒนาความเป็นมนุษย์ ด้วยธรรมชาติ คุณธรรมและวิถีสันติ

ปณิธาน สร้างปัญญา วิชชาบูรณาการ ผสานเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยจิตสำนึกในธรรมชาติ พหุวัฒนธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บนฐานคุณธรรมและชุมชน เพื่อความสมดุล อย่างยั่งยืน

วิสัยทัศน์ โพธิวิชชาลัยเป็นองค์กรชั้นนำแห่งการเรียนรู้ วิจัย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนฐานชุมชน พหุวัฒนธรรม คุณธรรม และมุ่งสร้างสรรค์ความสมดุลของสรรพสิ่งอย่างยั่งยืน

พันธกิจ การผลิตบัณฑิตที่ไม่แปลกแยกจากชุมชน ยังประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

  1. ศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้โดยใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน รวมทั้ง แนวคิดหรือปรัชญาอื่นๆที่ก่อประโยชน์ต่อการวัฒนาความเป็นมนุษย์
  2. จัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตระดับต่างๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านให้มีภูมิปัญญา คุณธรรม และสันติวิถี
  3. สร้างพื้นที่และเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ของการศึกษาในระบบ การศึกษาทางเลือก และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม บนฐานของความร่วมมือสู่สัมมาชีพที่ยังประโยชน์ต่อ ชุมชน
  4. บริการวิชาการที่มีคุณภาพ และทำนุบำรุงวัฒนธรรม ศิลปะ ด้วยจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อ สังคม
  5. พัฒนาระบบบริหารภายใน การจัดการระบบภาคีเครือข่ายที่มีคุณภาพและธรรมาภิบาล

จุดมุ่งหมาย

๑ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ การศึกษาค้นคว้าวิจัย และโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
๒ เพื่อเป็นแบบอีกแบบหนึ่งของการปฏิรูปการอุดมศึกษา โดยอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน
๓ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตบัณฑิตคืนถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม แนวการพัฒนาที่มีความสมดุล คำนึงถึงบริบทของชุมชน เพื่อชุมชนเข็มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งการจัดการศึกษาในชุมชน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
๔ เพื่อร่วมมือกับองค์กรเบญจภาคี และสร้างพลังร่วมที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
๕ เพื่อสร้างแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันการศึกษาที่สนใจทั่วไป

หน่วยงานรับผิดชอบ
ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ภาคีเครือข่าย
๑ ภาคีภาควิชาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสระแก้ว
๒ ภาคีภาคราชการ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานด้านความมั่นคง
๓ ภาคีภาคประชาสังคมและสื่อ ได้แก่
– มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง
– สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
– มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
– ศูนย์พัฒนาข้อมูลและสื่อทางเลือกจังหวัดสระแก้ว
๔ ภาคีภาคเอกชน บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)
๕ ภาคีภาคประชาชน แกนนำประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดสระแก้วหลักสูตร กสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง

potiwichalaiact

วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
ที่อยู่ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เลขที่ 114 สุขุมวิท 23 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ 02-6495000 ต่อ 15919 หรือ 15920
โทรสาร 02-2602141
http://bodhi.swu.ac.th

ป้ายคำ : , ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น