โสนแอฟริกัน ปุ๋ยพืชสดในนาข้าว

22 ธันวาคม 2557 วิชาเกษตรพึ่งตน 0

ปุ๋ยพืชสดซึ่งเป็นแหล่งไนโตรเจนราคาถูกยังเหมาะสมใช้ในการปรับปรุงดินในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีปัญหาในเรื่องของดินทราย และดินเค็ม โสนช่วยลดความเค็มทางอ้อม กล่าวคือ ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินร่วนซุย โปร่งขึ้น มีโครงสร้างของดินดีขึ้น ช่วยให้การชะล้างเกลือลงด้านล่างได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ความเค็มของดินในระยะปลูกพืชลดลง

ลักษณะทั่วไปของโสนอัฟริกา
โสนอัฟริกันมีชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania rostrata Brem. And Oberm.อยู่ในวงศ์ Leguminosae วงศ์ย่อย Papilionoideae พบทั่วไปในประเทศ Senegal ทวีปแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีประมาณ 50 ชนิด นำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้แก่ โสนอัฟริกัน (S. rostrata) โสนจีนแดง (S. cannabina) โสนอินเดีย (S. speciosa) โสนไต้หวัน (S. Sesban) แคบ้าน (S. gradiflora) และโสนคางคก (S. aculeata) โสนอัฟริกันเป็นพืชวันสั้นไวแสงจะออกดอกเมื่อช่วงแสงต่ำกว่า 12-12.5 ชั่วโมง เป็นทั้งไม้ล้มลุกและไม้พุ่มขนาดกลาง ลักษณะลำต้นเดี่ยวตั้งตรงมีกิ่งก้านมาก ลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากโสนอื่นๆก็คือ นอกจากมีปมรากแล้วยังมีปมที่ต้นอีก โดยปมที่ต้นนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนในอากาศ

sanoafkla

  • ใบเป็นใบประกอบ ปลายใบย่อยมีลักษณะมน ต้นสูงประมาณ 2 – 3 เมตร
  • ดอกมีสีเหลือง ช่อดอกแบบ raceme ช่อดอกจะอยู่ที่ปลายยอดตามโคนกิ่ง แต่ละช่อดอกจะมี 7-10 ดอก
  • ผลเรียกว่าฝัก ช่อหนึ่งจะมี 3 8ฝัก มีลักษณะกลมยาวประมาณ 15-25 ซม. กว้างประมาณ 0.5 ซม. เมล็ดค่อนข้างเล็กยาวประมาณ 0.4 ซม. หนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 11-17 เมล็ด น้ำหนัก เมล็ด 1 กิโลกรัมมี 102,000-14,000 เมล็ด สีเมล็ดมีตั้งแต่สีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาลไหม้และสีน้ำตาลดำและจะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากโสนอื่นๆ คือ สามารถสร้างปมทั้งบนลำต้นและปมรากยอดใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสดได้ปมรากโสนอัฟริกาที่ปลูกในสภาพต่างกันจะมีลักษณะปมรากต่างกัน โสนที่ปลูกในพื้นที่น้ำไม่ท่วมต้นที่มีอายุ 15 30 วัน จะสร้างปมรากสองชนิด ที่โคนรากแก้วและโคนต้น ซึ่งจะเกิดกลุ่มปมเป็นเนื้อเยื่อที่งอกยาวประมาณ 0.2-1.5 ซม. ส่วนอีกชนิดหนึ่งจะมีรูปร่างเหมือนลูกประคำร้อยเป็นสายบนรากแขนง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 มม. แต่ถ้าปลูกในที่น้ำขังปมรากที่โคนต้นแก้วจะยุบหายไปอย่างรวดเร็ว จะเหลือเพียงเพียงปมรากที่อยู่บนรากแขนง ซึ่งรากเหล่านี้จะลอยอยู่ในน้ำมองเห็นเป็นสีเขียวจำนวนมาก น้ำหนักทั้งหมดของปมรากรากที่มีประมาณ 2-4 กรัม/ต้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับปมต้น
    ปมต้น 3-4 แถว ซึ่งปมเหล่านี้สามารถรับเชื้อไรโซเบียมเฉพาะชนิด ซึ่งเป็นเชื้อที่ผลิตปมและตรึงไนโตรเจนได้ ็จะเจริญไปเป็นปมที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ซึ่งตำแหน่งที่จะเกิดปมนี้มีลักษณะเด่น 2 ประการคือ
    1) ตำแหน่งที่จะเกิดปมที่มีลักษณะเป็นจุดไข่ปลาก่อนที่จะสร้างปมที่ตรึงไนโตรเจนได้
    2) ตำแหน่งที่จะเกิดปมต้นของโสนอัฟริกาจะเกิดขึ้นทั่วทั้งลำต้นรวมทิ้งกิ่งข้าง โดยมีตำแหน่งที่ปมเรียงจากโคนต้นไปยอดบนลำต้นคล้ายจุดไข่ปลาเล็กๆ เรียงรอบลำต้นปมสามารถสร้างขึ้นได้ทุกระยะเวลาระหว่างรอบการเจริญเติบโต และมีความว่องไวต่อการรับเชื้อไรโซเบียมได้ชั่วอายุพืช ปมต้นจะมีรูปร่างค่อนข้างกลม ตรงกลางของปมจะหุ้มด้วยเปลือกสีเขียว

พันธุ์ของโสน
โสนอัฟริกันในประเทศไทยมีอยู่2 สายพันธุ์คือโสนอัฟริกันที่กรมพัฒนาที่ดินใช้ปลูกปรับปรุงบำรุงดินเกือบทั่วประเทศเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศซีนีกัล ทวีปอัฟริกา นำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกปีพ.ศ. 2526 โดย ดร. สมศรีอรุณินทร์จากการแนะนำของ Dr. Y.R. Dommergues แห่ง ORSTOM ประเทศ ซีนีกัล ในปี พ.ศ. 2528 ได้นำไปปลูกในแปลงตัวอย่างพันธุ์พืชตระกูลถั่ว ที่สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ 1.5 กิโลกรัม จากนั้นได้นำไปขยายพันธุ์ที่สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา และสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย แต่สายพันธุ์ที่นำเข้ามาเป็นพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดและการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ได้ปรับปรุงให้ไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งนายวิทูร ชินพันธุ์ ได้นำเมล็ดโสนดังกล่าวมาทดสอบแต่ในปัจจุบันโสนอัฟริกันทั้งสองสายพันธุ์ได้ปะปนกัน ต้องพิจารณาจากช่วงออกดอก

ฤดูปลูกและการปลูกโสน
ต้นฤดูฝนปริมาณความชื้นในดินพอเพียงสำหรับการงอกและการเจริญเติบโตของโสน ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกโสน คือ กลางเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือน มิถุนายนและไถกลบปลายเดือน กรกฎาคม โดยหว่านเมล็ดอัตรา 3 กก./ไร่

sanoaftung

การเตรียมดินโดยการไถพลิกหน้าดินในแปลงนาก่อนหว่านเมล็ด ถ้าในสภาพที่ดินเป็นนาร่วนซุยไม่จำเป็นต้องไถกลบ ก่อนหว่านเมล็ดโสนควรแช่กรดกรดกำมะถันเข้มข้น ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างเมล็ดด้วยน้ำหรือ ใช้ลวกน้ำร้อนอุณหภูมิ80 องศาเซลเซียส ประมาณ 5 นาทีเพื่อทำลายระยะพักตัวของเมล็ดโสนและช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ด สามารถเพิ่มความงอกเมล็ดจาก 15-20เปอร์เซ็นต์เป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์เมล็ดโสนที่ผ่านการลวกด้วยกรด และล้างด้วยน้ำแล้ว จะนำไปผึ่งให้แห้งเก็บไว้ในที่ร่ม อุณหภูมิและความชื้นปกติจะสามารถเพิ่มความงอกได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์สามารถเก็บไว้ใช้1-2 ปี ไปซึ่งความงอกจะยังดีถึง 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ส่วนเมล็ดที่ใช้วิธีการลวกน้ำร้อนต้องนำไปหว่านทันทีหลังการลวกเสร็จ ไม่สามารถเก็บไว้ข้ามปีได้ เมื่อไถกลบโสนแล้วสามารถปลูกข้าวได้หลังไถกลบ 1-2 วัน ลักษณะเด่นของโสนคือมีปมที่รากและลำต้นซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และตรึงไนโตรเจนได้สูงกว่าโสนชนิดอื่นๆสามารถย่อยสลายง่าย สภาพการปลูกในพื้นที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงใหม่เมล็ดโสนที่หว่านในนาข้าว 3 กก./ไร่จะให้น้ำหนักสดชีวมวลประมาณ 2.7 ตัน/ไร่และน้ำหนักแห้งประมาณ 500 กก./ไร่

การดูแล
หลังจากเมล็ดโสนงอก การดูแลรักษาแปลงโสนน้อยมาก โสนสามารถเจริญเติบโตได้ดีในต้นฤดูฝน ข้อควรระวัง คืออย่าให้ท่วมขังหลังจากหว่านเมล็ดก่อนเมล็ดงอกต้นโสนจะเจริญเติบโตช้าในระยะ 30 วันแรก หลังจากนั้นอัตราการเจริญเติบโตจะเร็วและมีความสูงถึง 2 เมตร เมื่ออายุได้55-60 วัน ส่วนลำต้นจะมีปม สามารถไถกลบโดยรถไถเดินตามทันทีพร้อมกับการเตรียมดินทำเทือกปักดำข้าว หรืออาจจะหมักทิ้งไว้ในนาข้าวประมาณ 1-2 วันจึงทำการคราดและปักดำ

sanoafplang

การขยายพันธุ์
โสนอัฟริกันส่วนใหญ่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด แต่มีบางพื้นที่ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำด้วยกิ่ง หรือชำส่วนของลำต้น ลักษณะเมล็ดโสนอัฟริกันมีเปลือกที่แข็งและหนา ฉะนั้นก่อนนำไปปลูกจำเป็นต้องกระตุ้นความงอกของเมล็ด
โสนเป็นพืชที่ไวต่อช่วงแสง ออกดอกในช่วงที่มีช่วงแสงสั้น ช่วงที่เหมาะสมในการหว่านเมล็ดเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ประมาณเดือน สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม อัตราหว่าน 3 กก/ไร่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ 150-200 กก./ไร่ โสนอัฟริกันจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ๆมีอุณหภูมิระหว่าง 17-38 องศาเซลเซียสเป็นพืชที่ไวต่อช่วงแสง ถ้าปลูกโสนในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม จะไม่มีการสร้างดอกเป็นเวลา 13 สัปดาห์ สามารถปลูกในพื้นที่ว่างบริเวณใกล้บ้าน ริมหนองน้ำหรือที่ดอน ทุกส่วนของลำต้นโสนสามารถปักชำได้ โดยปลูกบริเวณคันนา ขอบสระ หรือระหว่างกอข้าว

การเก็บเมล็ดพันธุ์
ต้นโสนจะเริ่มออกดอกช่วงเดือนกันยายน และฝักจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เมล็ดโสนจะทยอยแก่และสามารถเก็บเกี่ยวพร้อมกันได้ แต่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า เพื่อลดปัญหาฝักแตกและการร่วงหล่นของเมล็ดฝักของโสนอัฟริกันจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน ฝักจะเริ่มสุกแก่จากโคนต้นไปหายอด สังเกตจากสีฝักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล การเก็บเกี่ยวทำได้2 วิธีคือ

  1. เก็บเฉพาะฝักแก่ โดยทยอยเก็บเป็นครั้งๆไป ใช้มีดหรือกรรไกรตัดที่ขั้วก้านฝักที่สุกแก่แล้ว เก็บประมาณ 3 ครั้ง เก็บโดยวิธีนี้มีการสูญเสียเมล็ดน้อยและเมล็ดค่อนข้างมีคุณภาพสูงแต่สิ้นเปลืองแรงงานมาก
  2. เก็บโดยวิธีตัดทั้งกิ่งและต้น เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว โดยตัดเมื่อฝักทั้งต้นสุกแก่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรปล่อยให้ฝักสุกแก่ทั้งต้น เพราะฝักที่แห้งมากจะแตกและเมล็ดร่วงหล่นจากนั้นนำฝักโสนตากแดดประมาณ 3 แดดแล้วนำมานวดโดยใช้ไม้ทุบเพื่อให้เมล็ดออกจากฝัก ล้วเก็บเมล็ดไว้ขยายพันธุ์ต่อไปในพื้นที่ๆหว่านเมล็ดโสนในปีถัดไปต้นโสนยังสามารถงอกเป็นเชื้อพันธุ์ได้อีกเนื่องจากเมล็ดที่ตกลงตามพื้นดินและงอกเองตามธรรมชาติ ทำการนวดและสีฟัด ทำความสะอาดเอาสิ่งเจือปนออก ไปบรรจุลงในภาชนะ เก็บไว้ในโรงเก็บ เมล็ดโสนอัฟริกันสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 1-2 ปี

แมลงศัตรูโสนอัฟริกัน
ด้วงน้ำมัน (Csrysomelid beetle) (Monolepta sp.)เป็นศัตรูที่พบช่วงต้นโสนออกดอก หรือระยะดอกบานกัดกินใบโสนและยอดโสนเสียหาย โดยเฉพาะในที่ๆปลูกโสนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์สามารถฉีดยากำจัดแมลงศัตรูพืช

ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของโสนในการเพิ่มผลผลิตข้าว

  1. โสนที่ทำการไถกลบต้องมีอายุประมาณ 55 วัน
  2. น้ำหนักแห้งโสนก่อนการไถกลบต้องมีเพียงพอประมาณ 500 กก./ไร่

ข้อได้เปรียบของโสน

  1. สามารถสะสมน้ำหนักชีวมวลได้มากระยะเวลาการเจริญเติบโตเพียง 55 วัน มีการพัฒนาระบบรากสูง ทนต่อโรคแมลง ลำต้นเปราะง่ายเวลาไถกลบและย่อยสลายได้เร็ว พืชตระกูลโสนจึงเหมาะสมในการเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว
  2. สามารถที่ควบคุมวัชพืชได้ในช่วงหลังงอกประมาณ 30-45 วัน
  3. เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินเมื่อทำการไถกลบ ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น เช่นดินร่วนซุย และทำให้การเกาะจับตัวกันได้ดีโครงสร้างของดินดีขึ้น และฮิวมัสยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นดิน ทำให้รากพืชดูดธาตุอาหารได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีโครงสร้างดินจะมีการอัดแน่นเมื่อมีการใช้ที่ดินติดต่อกันนานๆ ซึ่งปุ๋ยเคมีไม่ได้ช่วยทำให้คุณสมบัติดังกล่าวดีขึ้น เพียงแต่เพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชเท่านั้น
  4. เป็นแหล่งของปุ๋ยไนโตรเจนราคาถูก เพราะเมื่อไถกลบแล้วปล่อยให้ย่อยสลายในที่น้ำขัง ไนโตรเจนจากการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุในรูปของไนเตรต (NO-3) และถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแอมโมเนียม (NH+4) ซึ่งต้นข้าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ปุ๋ยพืชสดจะปลดปล่อยไนโตรเจนแก่ดินอย่างรวดเร็วภายหลังการไถกลบ จนถึงช่วงสูงสุดภายใน 4 สัปดาห์หลังการสับกลบ หลังจากนั้นการปลดปล่อยจะลดลง

sanoaftai

ข้อแนะนำ

  1. ก่อนการหว่านเมล็ดโสนต้องมั่นใจว่าเมล็ดผ่านขั้นตอนกระตุ้นความงอกเมล็ดหรือทำลายการพักตัวของเมล็ด โดยใช้ กรดซัลฟูริก หรือลวกด้วยน้ำร้อน 3 5 นาที
  2. การหว่านเมล็ดโสนต้องใช้อัตราที่เหมาะสมอัตราโสนที่แนะนำให้เกษตรกรหว่านคือ 3 กก./ไร่และให้หว่านกระจายพื้นที่สามารถหว่านได้เลยโดยไม่ต้องไถพื้นที่กรณีที่ดินมีความชื้นเหมาะสมและไม่มีวัชพีช
  3. ช่วงก่อนเมล็ดโสนงอก หลังจากหว่านเมล็ดโสน ในพื้นที่ที่หว่านต้องมีความชื้นดินเหมาะสม ต้องไม่เป็นที่น้ขัง และไม่เป็นที่ๆแห้งแล้ง เพราะมีผลทำให้ต่อการงอกของเมล็ด ทำให้เมล็ดเน่าเสียหรือแห้งตายได้
  4. หลังจากเมล็ดโสนงอก ศัตรูที่สำคัญได้แก่ นก และหอยเชอรรี่ และต้องควบคุมเรื่องความชื้นของดิน ไม่ให้น้ำท่วมและดินแห้ง
  5. การไถกลบโสนควรไถขณะที่มีความชื้นพอเหมาะ หรือมีน้ำอยู่ในแปลงแล้วปักดำข้าวตามภายใน 1-3 วัน ไม่ควรทิ้งไว้นานเพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียธาตุไนโตรเจน โสนจะปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนออกมาสูงสุดภายใน 28 วัน (กรมพัฒนาที่ดิน ,2540) ซึ่งเป็นช่วงพอดีกับระยะที่ข้าวแตกกอซึ่งเป็นช่วงที่ต้องการธาตุอาหารโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน
  6. ต้นโสนระยะแรกช่วงตั้งแต่เมล็ดงอกถึงอายุ 30 วันจะเจริญเติบโตช้าแต่หลังจาก 30 วันต้นโสนจะสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ และปล่อยไว้จนต้นอายุประมาณ 55 วันหรือออกดอก จึงทำการไถกลบ เนื่องจากเป็นช่วงที่ที่ต้นโสนให้ไนโตรเจนได้สูงสุด
  7. ช่วงไถกลบโสนสามารถใช้รถไถเดินไถกลบโสนลงในดิน หมักไว้ประมาณ1-2 วัน เนื่องจากโสนเป็นพืชที่ย่อยสลายได้เร็ว
  8. การขยายพันธุ์เมล็ดโสน โดยการปักชำกิ่ง ส่วนของลำต้นก่อนไถกลบ ปักชำตามที่ต่างๆ เช่น รอบบ้าน หรือข้างที่นา เพื่อขยายเมล็ดพันธุ์โสนในปีถัดไป

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด วิชาเกษตรพึ่งตน

แสดงความคิดเห็น