ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นปรัชญาที่วางอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมไทย เป็นเครื่องชี้นำการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย มีความลึกซึ้งและเข้าใจง่ายกับผู้ฟังทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ การอธิบายความหมายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระองค์ท่านบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้
…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๗
คนอื่นจะว่าอย่างไร ก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกินและขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐานที่จะให้เมืองไทยอยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิดและมีอิทธิพล มีหวังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล
พระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา ปี ๒๕๑๗
ปรัชญาการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของภูมิคุ้มกันอันเกิดจากภัยคุกคามทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ หรือ ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานราชการนิยมเรียกกันว่า การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๒ มีข้อความว่า
…วิถีทางดำเนินของบ้าน และของประชาชนทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องมาจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรง วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย และขยายตัวไปทั่วโลก จนเรียกวิกฤติครั้งนั้น ว่า พิษต้มยำกุ้ง ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง มีความดังนี้
เศรษฐกิจแบบค้าขาย ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Trade Economy ไม่ใช่แบบพอเพียงซึ่งฝรั่งเรียกว่า Self-Sufficient Economy ถ้าเราทำแบบที่ไทยทำได้ ถือว่าเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อน
ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด แม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้ การแก้ไขจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้
การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง
อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายที่กว้างใหญ่ไพศาล หลุดพ้นจากการถือประโยชน์ส่วนตน และไม่เบียดผู้อื่น ดังพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ มีความว่า
…คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้ามีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซี่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็เป็นสุข…
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสังคมไทยและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนานาประเทศทั่วโลก โดยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาตามลำดับขั้นตอน จากการสร้างความพอมีพอกิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตร อันเป็นพื้นฐานการพัฒนาในลำดับขั้นสูงต่อไป ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและกว้างไกล อาทิ การมองเห็นประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนร่วมเป็นสำคัญ การพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งความแตกต่างทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การรู้จักตัวเองและพัฒนาบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองที่เหมาะสมกับบริบทของสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย เป็นต้น
หลักการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความอย่างยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคมไทยในปัจจุบัน ภายใต้กระแสธารของเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ จำเป็นจะต้องพัฒนาการท่องเที่ยว ให้มีคุณค่าและความหมายมากกว่าการท่องเที่ยวกระแสหลักที่เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวจะต้องมี จิตสำนึกใหม่ จิตสำนึกที่เรียกว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพอเพียง และเชื่อมโยงบริบทของการพัฒนาให้ครอบคลุมหลากหลายมิติบนพื้นฐานของสังคมไทย และสังคมโลก ที่นับวันยิ่งมีความสลับซับซ้อนสูงขึ้นเรื่อยๆ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล(๒๕๔๙) ได้เสนอรูปแบบของการพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงยึดหลัก ดังนี้
๑. การพัฒนาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเดิมของสังคมไทย ดังกระแสพระราชดำรัส ความว่า …การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญขึ้นนั้น จะต้องสร้างขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้วที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญดีขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังจะต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่องพร้อมๆ กันด้วย…
๒. การพัฒนาต้องตั้งอยู่บนหลักของภูมิสังคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดถือสภาพความเป็นจริงของภูมิประเทศและสังคมวิทยาเกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่พัฒนาเป็นหลัก ทรงเน้นว่าการพัฒนาอะไรหรือจะทำการอะไรนั้นขอให้ยึดหลักสำคัญ คือ ให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สิ่งแรก ภูมิ เป็นลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งสภาพแวดล้อม ลักษณะธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรา และคำว่า สังคม โดยจะต้องคำนึงถึงสังคมของคนในพื้นที่นั้น เพราะคนในสังคมหนึ่ง จะตัดสินใจไปตามวัฒนธรรมค่านิยมทางสังคม สิ่งแวดล้อม ประเพณี การอบรมที่บ่มฝังมา เพราะฉะนั้นในการพัฒนาให้คำนึงถึง ๒ สิ่งนี้ตลอดเวลา อย่าไปเปลี่ยนแปลงแปรสภาพหรือทำให้ความเป็นมนุษย์หรือภูมิประเทศตรงนั้นเสียไป
๓. ทรงยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนและการได้รับการยอมรับ
ทรงเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น ในการจัดทำโครงการ จึงมีขั้นตอนสำคัญที่เรียกว่า ประชาพิจารณ์ ได้แก่
๓.๑ เน้นกระบวนการประชาพิจารณ์ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ
๓.๒ การแก้ไขปัญหา เน้นการรอมชอมในการเจรจาต่อรอง
๓.๓ ยึดหลักประชาชนทุกคนต้องได้รับประโยชน์จากโครงการสาธารณะและคนส่วนใหญ่ต้องดูแลช่วยเหลือคนส่วนน้อย
๔. ทรงยึดหลักความคุ้มค่ามากกว่าคุ้มทุน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า
…ขาดทุนคือกำไร Our loss is our gainการเสียคือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นกำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้…
ธุรกิจกับความพอเพียง
อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม(๒๕๔๙) กล่าวถึง การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจ ว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาของโลกอนาคต เป็นหลักการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับและในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้วย เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการที่ประกอบด้วย ๑. ความพอประมาณ ๒. ความมีเหตุผล ภ.ความมีภูมิคุ้มกัน ๔. การใช้ความรู้ และ๕.การมีคุณธรรม เป็นหลักการที่เน้นความพอดี ความสมดุลย์ ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคง ความยั่งยืน และเป็นหลักการที่รวมถึงความรอบคอบ ความระมัดระวัง ความไม่สุ่มเสี่ยง ความไม่สุดโต่ง และความไม่โลภ เป็นอย่างมาก หลักการข้างต้นจึงเหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภท ทุกขนาด ไม่ว่าจะเล็ก กลาง หรือใหญ่ ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่รอดอย่างมั่นคง แม้ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งเป็นธุรกิจที่ย่อมให้ความสำคัญต่อคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพไปพร้อมกัน
ประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
อภิชัย พันธเสน และคณะ (๒๕๔๖) ได้ทำการวิจัย เรื่อง การประยุกต์พระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับโครงการส่วนพระองค์ส่วนจิตรดา และ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) และศึกษาจากประมวลพระราชดำริและตัวอย่างโครงการทรงงาน สามารถประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ในเบื้องต้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
๑. ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม นั่นคือ ใช้เทคโนโลยีที่มีราคาไม่แพง แต่ถูกหลักวิชาการ
๒. มีขนาดการผลิตที่เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ
๓. ไม่โลภเกินไป และไม่เน้นกำไรระยะสั้นเป็นหลัก
๔. เน้นความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือลูกค้า ตลอดจนไม่เอารัดเอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบ
๕. เน้นการกระจายความเสี่ยงจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และ/หรือ มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนผลผลิตได้ด้วย
๖. เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ (down side risk management) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ก่อหนี้จนเกินขีดความสามารถในการจัดการ
๗. เน้นการตอบสนองตลาดภายในท้องถิ่น ภูมิภาค ตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเป็นหลักตามลำดับ
หลักการดังกล่าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางสังคม (Social benefit) อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ที่จะช่วยลดต้นทุนของการเรียนรู้ (Learning cost) ของผู้ประกอบการกิจการแขนงต่างๆ ที่จะเข้ามาศึกษา
เศรษฐกิจพอเพียง คือ การหันกลับมายึดเส้นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (๒๕๔๘) กล่าวว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ การหันกลับมายึดเส้นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ในการดำรงชีวิต โดยใช้หลักการพึ่งตนเอง ๕ ประการ คือ
๑. พึ่งตนเองทางจิตใจ คนที่สมบูรณ์พร้อมต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกว่าตนนั้นสามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้นจึงควรที่จะสร้างพลังผลักดันให้มีภาวะจิตใจที่ฮึกเหิมต่อสู้ชีวิตด้วยความสุจริตแม้อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จบ้างก็ตาม มิพึงควรท้อแท้ ให้พยายามต่อไป พึงยึดพระราชดำรัส การพัฒนาตน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า บุคคลต้องมีรากฐานทางจิตใจที่ดี คือ ความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรม และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้จนสำเร็จ ทั้งต้องมีกุศโลบาย หรือวิธีการอันแยบยลในการปฏิบัติงาน ประกอบการพร้อมกันด้วยจึงจะสัมฤทธิ์ผลดีแน่นอน และบังเกิดประโยชน์อันยั่งยืนแก่ตนเองและแผ่นดิน
๒. พึ่งตนเองทางสังคม ควรเสริมสร้างให้แต่ละชุมชนในท้องถิ่นได้ร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดและเผยแพร่ให้ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า
เพื่อให้งานรุดหน้าไปพร้อมเพรียงกันไม่ลดหลั่น จึงขอให้ทุกคน พยายามที่จะทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ และให้มีการประสานสัมพันธ์กันให้ดี เพื่อให้งานทั้งหมดเกื้อหนุนสนับสนุนกัน
๓. พึ่งตนเองได้ทางทรัพยากรธรรมชาติ คือ การส่งเสริมให้มีการนำเอาศักยภาพของผู้คนในท้องถิ่น สามารถเสาะแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุในท้องถิ่นที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยอย่างดียิ่ง สิ่งดีก็คือ การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ซึ่งมีมากมายในประเทศ
๔. พึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยี ควรส่งเสริมให้มีการศึกษา ทดลอง ทดสอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสังคมไทย และสิ่งสำคัญสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัส ที่ว่า
จุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ คือ เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่ สภาพฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน
๕. พึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจ หมายถึง สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับเบื้องต้น กล่าวคือ แม้ไม่มีเงินก็ยังมีข้าว ปลา ผัก ผลไม้ ในท้องถิ่นของตนเองเพื่อการยังชีพและสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาคต่อไปได้ด้วย
ศาสตร์ของพระราชาในการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ จะแบ่งเป็นพื้นที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยนำแนวทางปฏิบัติที่ทำได้ง่าย ใช้วัสดุในพื้นที่มาทำ เช่น ในพื้นที่ต้นน้ำจะต้องมุ่งเน้นการปลูกป่า ด้วยป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่างโดยปลูกแซมลงไปในพื้นที่ เกษตรกรที่ทำไร่ข้าวโพด ทำสวนยางอยู่ก็จะต้องนำมาบ่มเพาะ ให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการที่จะต้องรักษาป่าต้นน้ำไว้ และวิธีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างนี้ยังจะทำให้เกิดความพออยู่ พอกิน พอใช้ ขึ้นได้กับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาแต่การขายข้าวโพด หรือยางอย่างเดียว ซึ่งไม่มีทั้งความมั่นคงแน่นอน และยังส่งผลสะท้อนกลับมาทำลายตนเองอีกด้วย นอกจากนั้นพื้นที่ต้นน้ำก็จะต้องทำฝาย ปลูกแฝก ทั้งหมดก็เพื่อเก็บน้ำไว้ในดิน ส่วนในพื้นที่ใดที่เป็นพื้นราบก็จะต้องเร่งทำ โมเดล โคก หนอง นาใส่เข้าไป
ถ้าชาวบ้านหนึ่งล้านครอบครัวลุกขึ้นสร้างป่ารอบบ้านตัวเองสัก 3 ไร่ ก็จะมีป่าถึง 3 ล้านไร่ และถ้าไร่หนึ่งคำนวณว่ามีต้นไม้ 100 ต้น ก็จะมีต้นไม้ถึง 300 ล้านต้น นอกจากได้เนื้อไม้มูลค่ามหาศาล ก็ยังได้ป่าที่จะเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมาก และผืนป่าขนาดมหึมาจะเก็บอาหารไว้ให้กับโลกและจะพลิกผืนดินคืนมาได้เท่าไหร่ นี่แหละเป็นความมั่งคั่งใหม่ที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้
นอกจากอาจารย์ยักษ์จะมุ่งเป้าหมายไปที่ต้นน้ำป่าสักแล้ว ยังมีอีกลุ่มที่สำคัญ เป็นอู่ข้าว อู่น้ำของคนไทย คือลุ่มน้ำบางปะกง ที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติมีความพร้อมแน่นอน คือลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำตะวันออก โดยลุ่มบางปะกงหลักๆ มี 3 จังหวัด แต่ก็เชื่อมถึงกันทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ส่วนลุ่มน้ำตะวันออกที่ไหลลงทะเลตะวันออก บางส่วนก็ผ่านชลบุรี แต่ส่วนใหญ่ลงทางระยอง ส่วนลุ่มน้ำประแสร์ก็เชื่อมทั้งจันทบุรีและระยอง เมืองจันทน์ก็จะมีลุ่มน้ำวังตะโหนด ลุ่มน้ำเวน ลุ่มน้ำต่างๆ ไล่ไปจนถึงตราด ซึ่งก็มีเครือข่ายภาคตะวันออกของเราอยู่เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์แม่ที่มาบเอื้อง จะเป็นศูนย์ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติที่จันทน์ ศูนย์ฯ สองสลึงของผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ที่ระยอง ศูนย์ฯ บ้านดิน ของสมิทธิ์ที่สระแก้วอีก 2 ศูนย์ ศูนย์ฯ ภูมิรักษ์ที่มีอาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ดูแล รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ที่ อ.ไตรภพ โคตรวงษา ขับเคลื่อนอยู่ เครือข่ายภาคตะวันออกของเราแน่นปึ้กพร้อมฟื้นฟูลุ่มน้ำตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง
ในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำอยู่ 2 ลุ่ม คือคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคตะวันออก และคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง กับเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่อีกมากมาย เราก็จะได้ไปชักชวนมาช่วยกันเพราะถือว่างานนี้เป็นงานเพื่อแผ่นดิน เพื่อประเทศอย่างแท้จริง
ส่วนภาคเหนือก็จะมีคนของเครือข่ายอยู่ เช่น ลุ่มน้ำปิง มีพระอาจารย์สังคม ที่ทำต้นแบบการฟื้นฟูต้นน้ำ โดยการป้องกันไฟป่าไว้ได้เป็นแสนไร่แล้ว ลุ่มน้ำวังก็มีวัดเกิดขึ้นใหม่ซึ่งทำงานในพื้นที่กว่า 500 ไร่ที่สุโขทัย โดยอำนาจ เจิมแหล่ เป็นแกนนำ เคยยกทีมหลวงพ่อมาอบรมที่มาบเอื้อง เมื่อกลับไปก็คึกคักมากมาย สร้างป่าไว้กว่า 500 ไร่ ก็ถือว่าไม่ธรรมดานะ อีกลุ่มคือลุ่มน้ำยม อาจารย์ยักษ์ก็กำลังดูอยู่ว่าน่าจะเป็นแถวเด่นชัย แพร่ ซึ่งก็มีลำน้ำลงทั้งยม และน่าน ส่วนที่แน่ๆ ที่น่าน เราก็มีเครือข่ายคริสตจักรที่สวนเอเดนซึ่งน่าจะขยายพื้นที่ได้ นอกจากนั้นที่น่านเรายังมีเครือข่ายที่เป็นพื้นฐานดั้งเดิม คือ กลุ่มฮักเมืองน่าน แล้วยังมีทหารเรือรวมกลุ่มกันรักษาผืนป่าเป็นร้อยๆ ไร่ เครือข่ายเหล่านี้เราจะได้ชักชวนมาร่วมกันเชื่อมต่อผืนป่าที่ขาดไป
ไตรภพ โคตรวงษา (อาจารย์เข้ม)
ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
ป้ายคำ : ปราชญ์
ถ้าพูดกันตามตรงรู้สึกสงสารประเทศไทย อย่างคุณไตรภพนีหรือใครเรียกว่าอาจารย์เข้มคุณคงลองพิจารณาตัวเองนะว่าเป็นวัวสันหวะหรือเปล่า