ไผ่กิมซุง ไผ่ตงลืมแล้ง

11 กรกฏาคม 2556 ไม้ยืนต้น 0

ไผ่กิมซุ่งเป็นชื่อทางการค้าของไผ่ในสกุลไผ่ป่าชนิดหนึ่ง คือสกุล Bambusa มีชื่อวิทยาศาสตรว่า Bambusa beecheyama ไผ่ตัวนี้มีชื่อทางการค้าอีกหลายชื่อคือ ไผ่ตงไต้หวัน ไผ่จีนเขียวเขาสมิง ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่ตงอินโด ไผ่ทองสยาม ไผ่หวานต่างๆ เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrocalamus asper Backer
ชื่อวงศ์ Gramineae

ไผ่กิมซุ่ง เป็นอย่างเดียวกันกับไผ่ตงลืมแล้งซึ่งจากข้อมูลเป็นตระกูลเดียวกับไผ่ตง ชื่อพื้นเมือง ไผ่ตง ลาต้นสูงถึงประมาณ ๒๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๑๘ เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลละเอียดคลุมแนบเรียบ เมื่อแก่สีเขียวปล้องยาว ๔๐-๕๐เซนติเมตร ข้อนูน เห็นได้ชัด ข้อตามปล้องต่า ๆ จะมีรากเป็นฝอยแตกออกมา เนื้อหนาและ มีกิ่งเล็ก ๆ ตามข้อ หลายกิ่งกาบหุ้ม ตอนสูงๆ จะยาว ๓๐-๔๐ เซนติเมตร กาบหุ้มมีลักษณะคล้าย หนังบาง เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวจาง ๆ จะมีขนสีน้ำตาลคลุมอยูอย่างหนาแน่น และโดยปกติเมื่อแห้ง จะมีสีน้ าตาลเข้มหรือจาง ครีบกาบหุ้มเล็กหรื อไม่มี ถ้ามีจะมีขนหรือหนามเรียวกระจังกาบหุ้มเห็นได้ชัด สูงประมาณ ๗-๑๐ มิลลิเมตร ปลายจะแยกเป็นแฉก ๆ มีขนใบยอดกาบ รูปหอก oblong-acuminate และ oblong-lanceolate ปลายใบเรียวแหลม มักจะงอกลับ ขอบหยักเป็นฟันเลื่อย ขอบม้วนเข้าข้างในใบ มีรูประหว่าง oblong-acuminate และ oblong-lanceolate ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านและไม่เท่ากันขอบใบสาก คม ขนาดของใบ ยาว ๒๐-๓๐ เซนติเมตร กว้าง ๑.๕-๓.๕ เซนติเมตรหลังใบไม่มีขน ท้องใบบางที่มีขนอ่อน เส้นลายใบ ๑๑-๑๓ คู่ ก้านใบ

kimsung

ไผ่กิมซุงเป็นแต่เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีน เป็นไผ่ที่โตเร็วดูแลง่ายพอ ๆ กับพืชจำพวกยูคาลิปตัส ปลูกเพียง 6-8 เดือนก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไผ่กิมซุงเป็นไผ่กอใหญ่ หน่อมีขนาดใหญ่ ลำต้นอวบสูงถึง 25 เมตร ลำต้นมีสีเขียวเข้ม เติบโตได้กับทุกสภาพอากาศและดินทุกประเภท โตเร็วมา 6-8 เดือนก็สามารถเก็บหน่อไปขายได้แล้ว หน่อของไผ่กิมซุงมีรสชาติหวานกรอบอร่อย โดยส่วนมากนิยมเก็บหน่อขายมากกว่าทำประโยชน์อย่างอื่น หน่อที่เหมาะสมกับการเก็บขายต้องมีขนาดไม่เกิน 40 เซนติเมตร ไผ่กิมซุงนี้ไม่มีหนามและขนแข็ง ๆ จึงเก็บง่าย

วิธีปลูกไผ่กิมซุง
ไผ่กิมซุงเจริญเติบโตได้ดีกับดินทุกประเภท ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนของประเทศไทยก็สามารถปลูกไผ่กิมซุงได้ทั้งนั้น การขยายพันธุ์ไผ่กิมซุงใช้ลำต้น แรกเริ่มให้เกษตรกรซื้อต้นไผ่กิมซุงมาปลูก ต้นทุนครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อต้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะแพงเมื่อเทียบกับไผ่ชนิดอื่น ให้เกษตรกรซื้อมาแต่น้อย เพราะไผ่กิมซุงเจริญเติบโตเร็ว เราสามารถขยายพันธุ์ได้เอง โดยการตัดปักชำกิ่งไผ่ เมื่อเวลาผ่านไป 6-8 เดือนต้นไผ่พันธุ์ที่ซื้อมาจะเริ่มแตกให้เราตัดกิ่งไผ่ที่มีลักษณะไม่อ่อนไม่แก่ มาปักชำ ซึ่งถ้าเราจะขายกิ่งปักชำเหล่านี้ก็ย่อมได้ค่ะ มีตลาดรับซื้อ และกำลังเป็นที่ต้องการของเกษตรกร บางคนก็มุ่งเป้าขายกิ่งพันธุ์อย่างเดียวเลย เพราะกำลังเป็นกระแส ใคร ๆ ก็อยากปลูก ปักชำ 2-3 เดือนก็ออกราก จำหน่ายได้แล้ว ต้นพันธุ์ 1 ต้นสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นร้อย มีแต่คุ้มกับคุ้ม

วิธีการเตรียมปลูกและการดูแล

  1. ไผ่ชอบดินร่วนซุย ดินโปร่งและร่วนซุยจะทำให้รากเจริญเติบโตดี ไผ่กิมซุงก็จะตั้งกอเร็ว เจริญเติบโตได้เต็มที่ ถ้าที่ดินของท่านเป็นดินแข็งแน่น ให้ไถกลบด้วยเศษใบไม้แห้งจะทำให้ดินร่วนซุยมากยิ่งขึ้น ช่วงเวลาเตรียมดินต้องมีเวลาให้ใบไม้ย่อยสลายสัก 1 เดือน แล้วจึงขุดหลุมปลูก หลุมปลูกเว้นระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 1 เมตร หลุมลึกประมาณ 0.5 เมตร
  2. ไผ่กิมซุงไม่ต้องการน้ำมาก ช่วงแรกที่ปลูกให้น้ำ 3 วันครั้ง เมื่อรากลงดินและเริ่มแตกหน่อให้ลดเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  3. เมื่อผ่านไปประมาณ 6 เดือนสามารถเก็บหน่อได้ ให้เก็บหน่อก่อนหน่อมีความยาว 40 เซนติเมตร เพราะถ้าเก็บหลังจากนี้หน่อไผ่กิมซุงจะแข็ง มีเสี้ยน ราคาจะตกลง ในระหว่างนี้อย่าให้หน่อเจริญเติบโตเป็นลำไผ่เป็นอันขาด เพราะมันจะไปแย่งอาหารหน่อไม้จนหมด ทำให้หน่อไม้แกนไม่มีรสหวาน ให้ปล่อยไว้เพียง 2-3 ลำเท่านั้นพอ

ประโยชน์จากการปลูกไผ่กิมซุง
ประโยชน์ของการปลูกไผ่ในเนื้อลำต้นหนา เยื่อสีขาวในข้อปล้องหนา จึงเหมาะที่จะนำไปทำข้าวหลามได้ดีมาก ลำต้นยังแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมายหน่อ มีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 4-5 กิโลกรัม ต่อ 1 หน่อ ปัจจุบันมีผู้ปลูกเก็บหน่อขายในช่วงฤดูกาลที่แทงหน่อตามธรรมชาติมีราคาอยู่ระหว่าง กิโลกรัมละ 20-40 บาท หากเป็นหน่อที่แทงขึ้นในช่วงฤดูแล้งจะมีราคาอีกระดับหนึ่ง

รสชาติของหน่อจะออกหวานกรอบเจือขมและขื่นเล็กน้อย นิยมเอาไปปรุงเป็นอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น แกงจืด และแกงหน่อไม้ โดยก่อนปรุงเป็นอาหารต้องต้มกับน้ำเดือดเทน้ำทิ้งครั้งเดียวจะมีรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก

kimsungnoe

นอกจากนี้ไผ่ยังสามารถยึดดินไม่ให้พังทลายโดยง่าย และไผ่เป็นพืชที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น จึงมีศักยภาพสูงในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บคาร์บอนไว้ในรูปของเนื้อไม้ ด้านชีวมวล 2-5 % ต่อปี ในขณะที่ป่าไผ่มีชีวมวลมีศักยภาพเพิ่มขึ้นถึง 30 % ต่อปี ไผ่มีความได้เปรียบเหนือไม้โตเร็วในแง่ของความยั่งยืนและความสามารถในการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ ผลผลิตชีวมวลของป่าไผ่อายุ 6 ปีสูงถึง 150 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ เปรียบเทียบได้กับไม้สักอายุ 40 ปีมีผลผลิตชีวมวล 126 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ และภายใต้การจัดการที่เหมาะสม ไผ่จะให้ผลผลิตเซลลูโลสต่อหน่วยเนื้อที่สูงกว่าไม้สน 3-6 เท่า

นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นไม้เบิกนำที่สามารถขึ้นได้บนพื้นที่ว่างเปล่า จึงสามารถช่วยปรับปรุงสภาพของระบบนิเวศน์ ในบริเวณป่าเสื่อมโทรมได้ในระยะเวลาอันสั้น จากระบบรากที่แผ่กว้าง และความหนาแน่นของเรือนยอด ทำให้ไผ่มีประสิทธิภาพสูงในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยป้องกันการชะล้างและการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินได้ดี โดยเฉพาะบริเวณริมร่องเขา คลองหรือริมตลิ่ง และยังช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้น อันเป็นที่มาของชื่อ ดินขุยไผ่

ปัจจุบัน เส้นใยจากไผ่เป็นวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากเส้นใยไผ่นั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะกับการนำมาถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มระดับคุณภาพ มีความนุ่มเหมือนไหม ทนทาน ยืดหยุ่น โปร่ง และซึมซับความชื้นได้มากกว่าผ้าฝ้าย ทำให้สวมใส่สบาย สามารถดูดซับรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) ป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ดี และที่สำคัญมีสารกำจัดกลิ่นอยู่ในตัว ทำให้เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยไผ่ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็น

kimsungkon

วีธีการปลูกไผ่กิมซุ่ง

ไผ่กิมซุ่งจะใช้ระยะปลูก ระยะระหว่างแถว 4 เมตร ระยะระหว่างต้น 4 เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ อยู่ที่ 100 ต้นต่อไร่ จะเก็บหน่อไม้อยู่นานได้ 5 ปีถึง 7 ปี กว่ากอจะชนกัน แต่หากเกษตรกรใช้ระยะปลูกคือระยะระหว่างแถว 6 เมตร ระยะระหว่างต้น 4 เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ 66 ต้น จะเก็บหน่อได้นานขึ้น ประมาณ 7 ปี ถึง 10 ปีกว่ากอจะชนกัน หลุมปลูกไผ่กิมซุ่ง จะขุดหลุมที่ระยะ 30*30*30 เซนติเมตรถ้าพื้นที่เป็นดินร่วนถึงร่วนปนทราย (แต่ถ้าเป็นดินลูกรังปนหินควรจะขุดให้กว้างกว่านี้เป็น 50*50*50 และหาดินดำ แกลบ ขี้เถ้าแกลบหรือปุ๋ยคอกเก่า คลุกหลุมก่อนปลูก ) ถ้าหากเกษตรกรจะรองก้นหลุมก็ควรจะใช้ ขี้เถ้าแกลบไม่ควรจะใช้ปุ๋ยคอกเพราะถ้าปลูกในฤดูฝนหากฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่กำลังออกมาใหม่ๆ เน่าได้ทำให้ต้นไผ่กิมซุ่งเหลือง ชะงักการเจริญเติบโต กว่าจะโตก็นานขึ้น เวลาปลูกที่ดีคือเดือน พฤษภาคม เมื่อได้กล้าไผ่กิมซุ่งมาก็ทำการปลูก ควรจะปลูกให้ดินที่ปากถุงเสมอดินเดิมที่ปลูก ไม่ควรจะปลูกต่ำกว่าดินเดิมที่เตรียมไว้ เพราะถ้าฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่งอกมาใหม่ๆเน่าได้จากน้ำฝนที่ขังนานๆ

ถ้าหากพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่ต่ำ ไม่ควรจะปลูกในฤดูฝน ในฤดูฝน ฝนจะตกหนัก ทำให้น้ำขังหลุมบ่อย จะทำให้ไผ่กิมซุ่งเหลืองและจะไม่โต แม้ว่าไม่ตายแต่ก็ไม่โต ไผ่กิมซุ่งแม้ว่าน้ำท่วมจะไม่ตายแต่ก็ต้องกอใหญ่มากกว่า 1 ปีไปแล้ว แต่ถ้าปลูกใหม่ๆยังไม่ทนต่อน้ำท่วมขังบ่อยๆ พื้นที่ต่ำควรจะปลูกในเดือนตุลาคม ในฤดูแล้งก็ต้องให้น้ำ แต่พอย่างเข้าฤดูฝนไผ่กิมซุ่งก็ตั้งตัวได้และทนสภาพน้ำขังเมื่อฝนตกหนักได้ พื้นที่ต่ำควรจะขึ้นแปลงทำร่องระบายน้ำด้วยครับ

การให้ปุ๋ยกับไผ่กิมซุ่ง

หลังจากปลูกไผ่กิมซุ่งไปแล้ว ให้น้ำเพียงอย่างเดียวไปสักระยะหนึ่ง (ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้) รอเวลาผ่านไปประมาณ 40 วันสังเกตุต้นไผ่กิมซุ่งดู ถ้ามียอดอ่อนแตกใหม่ หมายความว่ารากของไผ่กิมซุ่งเริ่มออกหาอาหารแล้ว ก็สมควรให้ปุ๋ยได้แล้ว ไผ่กิมซุ่งถ้ายังสร้างใบได้ไม่มากพอก็จะยังไม่ยอมแตกหน่อใหม่ เกษตรกรควรจะให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องและพอเพียง ไผ่กิมซุ่งถึงจะมีใบเขียวเข้มและพร้อมที่จะสร้างหน่อแรก การให้ปุ๋ยเมื่อปลูกไผ่กิมซุ่งในระยะแรกๆ ต้นไผ่ยังเล็กอยู่ต้องระวังเรื่องปุ๋ยต้องไม่มากจนเกินไปเพราะความเข้มข้นของปุ๋ยจะทำให้รากไผ่ที่แตกออกมาใหม่ๆและมีน้อยอยู่เน่าและแห้งไปได้

  • ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ 40 วัน ถ้าใช้มูลวัวแห้ง 3 กระป๋องนมมะลิโรยรอบๆกอไผ่ พอเดือนที่ 3 หลังปลูกใช้มูลวัวแห้งเพิ่มขึ้นได้ เป็น 10 กระป๋องนมมะลิ โรยรอบๆกอไผ่ พอเข้าเดือนที่ 6 หลังปลูกก็ให้เพิ่มเป็น 1 ถังน้ำขนาด 10 ลิตรที่ใช้ทั่วๆไปโรยรอบๆกอไผ่ให้กว้างขึ้น ก่อนให้มูลวัวควรกำจัดหญ้าก่อนทุกครั้งเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับไผ่และควรหาฟางข้าวหรือแกลบหรือหญ้าแห้งกลบเมื่อไผ่ยังเล็กๆอยู่จะทำให้หญ้าขึ้นช้าและอุณหภูมิของดินไม่เปลี่ยนแปลง ต้นไผ่จะโตเร็วขึ้น
  • ปุ๋ยครั้งแรกถ้าให้เป็นมูลไก่ไข่จะให้น้อยกว่ามูลวัวเพราะมูลไก่มีความเข้มข้นสูงกว่า จะให้ครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ 40 วัน ใช้มูลไก่ไข่ 1 กระป๋องนมมะลิ โรยรอบๆต้นไผ่ห่างจากโคนต้นไผ่ประมาณ 20 เซนติเมตร อย่าใส่ชิดโคนไผ่เด็ดขาดเพราะมูลไก่ไข่มีความเข็มข้นสูงมาก ใส่ห่างให้รากไผ่ออกไปเลือกกินเอง รากไผ่จะรู้วิธีว่าจะเข้าหามูลไก่ยังไงเอง พอเดือนที่ 3 หลังจากปลูก ให้มูลไก่ไข่ 2 กระป๋องนมมะลิ โดยโรยรอบๆกอไผ่ห่างจากโคนไผ่ราวๆ 20 เซนติเมตรเช่นเดิม (แต่กอไผ่เริ่มมีหน่อใหม่การใส่จึงห่างจากจุดเดิม) พอเข้าเดือนที่ 6 หลังจากปลูกให้ใส่มูลไก่ไข่ประมาณ 1 กระป๋องน้ำมันเครื่องขนาด 5 ลิตรตัดเป็นปากฉลามแล้วตัดใส่ 1 ครั้งโรยรอบๆ กอไผ่ห่างจากกอราวๆ 20-30 เซนติเมตร (กอไผ่เริ่มมี หลายลำ) ก่อนที่จะใส่มูลไก่ควรจะกำจัดหญ้ารอบๆกอไผ่ก่อนเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับต้นไผ่ และเมื่อใส่ปุ๋ยแล้วหาวัสดุคลุมดินเช่นฟางข้าว หญ้าแห้ง หรือแกลบใส่รอบๆโคนไผ่เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้นไวและรักษาอุณหภูมิของดินและความชื้น
  • ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าใช้ได้ร่วมกับปุ๋ยมูลวัวแห้งหรือมูลไก่ไข่ก็จะยิ่งทำให้ต้นไผ่โตดีและเร็ว ในระยะ 40 วันหลังจากปลูกไผ่แล้ว ก็ให้ใช้ปุ๋ยยูเรียละลายน้ำโดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 3 ช้อนโต๊ะ(ห้ามใช้ยูเรียมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นไผ่เหี่ยวตายได้เพราะต้นไผ่ยังเล็กและมีรากน้อยอยู่) ต่อน้ำ 10 ลิตร ละลายให้เข้ากับน้ำ แล้วนำไปรดที่โคนไผ่โดยให้ต้นละ 1 แก้วน้ำ รดทุกๆ 15 วันจนไผ่มีใบเขียวเข้มและเริ่มสร้างหน่อแรก และเมื่อสร้างหน่อที่สอง ก็เริ่มหยุดรดปุ๋ยน้ำได้ ต่อไปเมื่อไผ่มีอายุได้ 4 เดือนหลังจากปลูกเป็นต้นไป (กอไผ่เริ่มมีลำและหน่อไม่ต่ำกว่า 3-4 ลำแล้ว) ก็ให้ใช้ปุ๋ย แล้วนำไปใส่บริเวณรอบๆโคนไผ่ โดยใส่ใต้ปุ๋ยคอกที่ใส่ไว้แล้ว โดยแบ่งใส่สัก 4 จุด ห่างจากโคนต้นไผ่ราวๆ 30 เซนติเมตร ใส่จุดละ ครึ่งช้อนโต๊ะ จะใส่ปุ๋ยสูตรนี้เดือนละ 1 ครั้ง เพราะเป็นช่วงที่ไผ่กิมซุ่งสร้างกอ จะมีหน่อแทงออกมาตลอด เกษตรกรจะได้ลำไผ่ใหญ่เร็วภายในไม่เกิน 8 เดือน

เกษตรกรบางท่านอาจจะใช้ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ทำเองมารดร่วมได้เพื่อเพิ่มจุลลินทรีย์ในดินใต้กอไผ่ และบางสวนก็อาจจะมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดตราต่างๆผสมกับปุ๋ยเคมีที่ใส่ได้ ซุ่งการให้ปุ๋ยก็เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างหนึ่งอยู่ที่ตัวเกษตรกรเองแต่ขอให้ใส่แล้วงามไม่ใช่ปุ๋ยปลอม

เมื่อเริ่มเก็บหน่อจำหน่ายจะใส่ปุ๋ยเดือนละครั้งหรือเร็วกว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรตัดหน่อออกไปมากน้อยเพียงใด ถ้าตัดหน่อไปมาก ต้นไผ่จะเสียอาหารมาก อาหารที่ให้จะถูกใช้หมดอย่างรวดเร็ว ให้สังเกตุดูว่าถ้าหน่อมีขนาดเล็กลง หลายหน่อเริ่มลีบนั่นก็คือต้องให้ปุ๋ยได้แล้วโดยใช้ปุ๋ยคอกเช่นมูลไก่ร่วมกับปุ๋ยเคมี( 46-0-0 บวกกับ 15-15-15 อัตรา 1 ต่อ 1 ใส่กอละ สองกำมือ) ใส่โดยใช้หว่านให้ทั่วๆ ทรงพุ่มได้แล้วเพราะใต้โคนไผ่ไม่มีแดดส่องและรากไผ่มีอยู่กระจายทั่วไป ปุ๋ยที่ใส่จะไม่สูญเสียไปไหน เมื่อใส่ปุ๋ยต้องให้น้ำทันทีเพื่อให้ปุ๋ยละลาย และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและเกษตรกรไม่เก็บหน่อแล้วก็ลดปุ๋ยลงได้เหลือเพียงใส่พอประมาณโดยให้ปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ลำแม่สร้างลำแม่ใหม่ได้สมบรูณ์

การให้น้ำไผ่กิมซุ่ง

หากเกษตรกรปลูกไผ่ในฤดูฝน แทบจะไม่ต้องให้น้ำเลย จะให้ก็ครั้งแรกที่ปลูกให้รดน้ำทันทีให้ชุ่มเพื่อให้ดินจับกันแน่น รากไผ่จะดูดน้ำได้ดินจะต้องจับกันแน่นกับรากเพื่อให้รากไผ่ดูดน้ำแบบระบบดูดชึม(ออสโมซิส) ถ้าไม่รดน้ำทันที ถ้ามีแดดออกต้นไผ่จะเหี่ยว ฝนจะตกหรือไม่ตกต้องรดน้ำครั้งแรกที่ปลูกไว้ก่อน ตรงนี้สำคัญ เกษตรกรหลายคนไม่เข้าใจ คิดว่าปลูกในฤดฝนดินยังมีความชื้นอยู่ก็ไม่รดน้ำ หากฝนไม่ตกในวันที่ปลูกแบบหนักๆ ไผ่จะตายไปหลายต้นทีเดียว ส่วนเกษตรกรที่เลือกปลูกไผ่ในฤดูแล้งเพราะที่ดินเป็นที่ลุ่มต่ำ ก็ต้องหาวิธีการให้น้ำ ถ้าปลูกใหม่ยังไม่ต้องลงทุนมากก็ใช้น้ำเข้าร่องตักรดไปก่อนได้ หรือถ้าปลูกไม่มากก็ใช้สายยางรดเป็นต้นๆไปก่อนได้ แต่เมื่อไม่ว่าจะปลูกหน้าฝนหรือหน้าแล้งพอปลูกไปได้ 8 เดือนไผ่กิมซุ่งพร้อมจะให้หน่อ ก็จำเป็นต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ เพราะกำลังจะมีรายได้จากการจำหน่ายหน่อ และไผ่กิมซุ่งต้องการน้ำมากในการให้หน่อ

kimsungrom

ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นที่ต่ำเช่นที่นา เกษตรกรอาจจะใช้การสูบน้ำเข้าขังท่วมพอประมาณโดยให้ทั่วๆทุกแปลงไผ่จากนั้นก็หยุดให้น้ำ ปล่อยให้แห้งภายใน 1 วัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดและได้ผลดี เพราะต้นไผ่ได้น้ำเต็มที่จะทำให้หน่อดกมาก และความชื้นอยู่ได้นานหลายวัน พอเห็นว่าดินเริ่มแห้งก็สูบน้ำให้ใหม่ ราวๆประมาณ 10-15 วันก็สูบน้ำได้ แต่ในฤดูฝนไม่ต้องให้น้ำอาศัยน้ำฝนแต่หน่อก็ราคาถูกมากเหลืออยู่ที่กก.ละ 3-6 บาท
ถ้าพื้นที่ปลูกไผ่เป็นที่ลาดเท ที่ดอน พื้นที่ไม่เท่ากัน ก็จำเป็นต้องให้น้ำแบบสปิงเกอร์ โดยใช้สายพีอี ดีที่สุดใช้สายพีอีแบบ 25 มิลลิเมตร พื้นที่ 1 ไร่จะใช้สายพีอี 2 ม้วน ( 400 เมตร) ต่อกับท่อพีวีซี 2 นิ้วซึ่งเป็นท่อเมนต์ใช้ข้อต่อทดและวาวน้ำ และใช้ปั้มน้ำ 2 นิ้วมอเตอร์ 2-3 แรงม้า แถวของไผ่ที่ใช้สายพีอีไม่ควรจะเกิน 50 เมตรเพราะน้ำจะแรงจากต้นสายถึงปลายสาย ต้นไผ่ 1 กอถ้าช่วงที่ให้หน่อแล้วควรจะเจาะรูใต้กอไผ่ราวๆ 2-3 รูน้ำถึงจะพอที่จะทำให้หน่อออกดกและต่อเนื่อง ไผ่กิมซุ่งกินน้ำเก่งมาก ถ้าให้น้ำไม่พอหน่อจะไม่ค่อยออกในช่วงฤดูแล้ง การให้น้ำในช่วงฤดูแล้งคือเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน จะให้ทุกๆ 3 วัน ครั้งละ 1-2 ชั่วโมงต่อแถวของไผ่ที่ให้ สังเกตุดูว่าจะให้น้ำนานเท่าไหร่ก็หาเหล็กเส้น 2 หุนแทงลงดินรอบๆกอไผ่ที่น้ำซึงไปถึง ถ้าแทงไม่เข้าก็ให้น้ำต่อไปอีก ถ้าแทงเข้าไป 10 เซนติเมตรก็ยังไม่พอ จะต้องแทงเหล็กให้เข้าดินลึกราวๆ 25 เซนติเมตรถึงจะชุ่ม เกษตรกรหลายคนบอกให้น้ำทุกวัน แต่ไม่เคยเอาเหล็กทดสอบแทงลงดินดู คิดว่าให้ทุกวันแล้วต้นไผ่พอกิน สายพีอีเป็นสายเล็กๆ ถ้าใช้เวลาน้อยน้ำที่ให้ไผ่จะไม่พอให้ไผ่กิน หน่อจะไม่ออก หรือออกน้อยในช่วงฤดูแล้งและเป็นช่วงที่หน่อมีราคาแพงเกษตรกรอยากให้หน่อออกมากๆ แต่น้ำให้ไม่มากพอหน่อก็ออกน้อย แต่พอฤดูฝนมาถึงก็อาศัยน้ำฝนต่อได้เลย แต่หน่อก็จะเริ่มถูกลงเพราะมีหน่อไม้อื่นๆออกมามากเพราะได้น้ำฝนเหมือนกัน

kimsungton

การตัดแต่งกิ่งและการไว้ลำไผ่กิมซุ่ง

ไผ่กิงซุ่งช่วงที่เกษตรกรไปซื้อจากร้านหรือสวนที่ขายพันธุ์ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกต้นกล้าไผ่กิมซุ่งที่มีรากเต็มถุงแล้ว สังเกตุคือถ้าจับต้นหิ้วแล้วไม่หลุดและให้ดูใต้ถุงดำว่ารากเดินทะลุถุงดำหรือยัง และถ้ามีหน่อเล็กๆโผล่ออกมาจากดินยิ่งดีนั่นหมายความว่ากล้าไผ่กิมซุ่งที่ร้านหรือสวนที่ขาย ได้ใส่ถุงนานไม่ต่ำกว่า 4 เดือนแล้วเกษตรกรจะได้กล้าที่แข็งแรงพร้อมที่จะแตกรากและออกหน่อได้ไวหลังจากปลูก ระหว่างที่ปลูกต้องดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ยกำจัดวัชพืช เมื่อให้ปุ๋ยไปได้ไม่นาน หน่อแรกก็จะออกมา เมื่อเกษตรกรให้ปุ๋ยต่อเนื่องโดยไม่ขาด หน่อที่สองก็จะออกมากและมีขนาดใหญ่กว่าหน่อแรกมาก การสร้างกิ่งและใบก็จะมีมากขึ้น ไม่เกิน 3 เดือนหลังจากปลูกก็จะได้หน่อที่ สาม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะทำเป็นต้นแม่ได้ การตัดแต่งกิ่งจะยังไม่ควรทำในช่วง1 ถึง 6 เดือนหลังจากปลูก คอยแต่กำจัดวัชพืชอย่างเดียวเพื่อไม่ให้รกและแย่งอาหารจากไผ่ ที่เราไม่ตัดแต่กิ่งและใบไผ่กิมซุ่งเลยเพราะช่วงที่ไผ่กำลังสร้างกอต้องการกิ่งและใบที่มีมากพอ ที่จะสร้างหน่ออย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเผลอไปตัดใบไผ่ทิ้งจะทำให้การออกหน่อชะงักทันที เมื่อดูแลต่อไประหว่าง 4-6 เดือนหลังจากปลูก หน่อที่ให้ลำแม่ใหญ่จะออกมาได้ 3 หน่อโดยทะยอยออก เกษตรกรจะต้องเลือกว่าจะไว้ลำไหนให้เป็นลำแม่สังเกตุดูว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำจะต้องไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว พอหน่อเริ่มพุ่งสูงขึ้นโดยปล่อยให้สูงไปเรื่อยๆ พอเกิน 4 เมตรก็จะเริ่มเห็นข้อของลำไผ่ แต่ลำไผ่ยังไม่แตกกิ่งแขนงและใบ ลำยังอ่อนอยู่ให้ตัดยอดของลำทิ้งโดยตัดที่ประมาณ 3-4 เมตร การตัดช่วงที่ลำไผ่ยังไม่มีกิ่งและใบ เนื้อของลำไผ่ยังอ่อนอยู่จะทำให้ตัดง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก เมื่อตัดยอดของลำไผ่แล้ว กิ่งและใบแตกเร็วขึ้นและจะไปทำให้หน่อที่โผล่ขึ้นมาเป็นลำแม่โผล่ได้เร็วขึ้น อีกไม่นานก็จะมีหน่อโผล่จากดินครบทั้ง 3 ลำพอดีพร้อมที่จะเป็นลำแม่ ให้ทะยอยตัดยอดทิ้งทั้ง 3 ลำ ที่เกษตรกรเลือกไว้เป็นลำแม่ เกษตรกรต้องรอให้ลำแม่ทั้ง 3 ลำมีกิ่งก้าน และใบแก่เป็นสีเขียวเข้มนั่นหมายความว่าลำแม่ที่เลือกไว้ทั้ง 3 ลำต่อกอพร้อมที่จะให้หน่อแล้ว ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะตัดลำเล็กๆที่เกิดก่อน พร้อมกับต้นตอที่ซื้อมาในถุงดำออกได้แล้ว โดยตัดให้ชิดดิน (นับเวลาจากปลูกจนตัดแต่งกิ่งได้ก็ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อตัดต้นเล็กๆทิ้งไปแล้วก็จะเหลือต้นที่เลือกไว้ กอละ 3 ต้น จากนั้นก็ริดกิ่งแขนงข้างออก โดยดูว่าเดินแล้วไม่ชนศรีษะ ไม่แทงหน้าแทงตา การตัดกิ่งแขนงข้างตัดให้พอเข้าไปเก็บหน่อสะดวก การตัดกิ่งแขนงควรตัดให้ชิดกับลำต้นไผ่ ตาจะได้ไม่แตกออกมาใหม่ (แต่ถ้าเกษตรกรต้องการปลูกเพิ่มก็ให้เกษตรกรตอนออกไปปลูกเพิ่มอีกได้โดยไม่ต้องซื้อไผ่กิมซุ่งอีกเลย) กิ่งแขนงด้านล่างมักจะไม่ถูกแดดเต็มที่ ไม่ได้สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างแป้ง จะกินอาหารจากกิ่งด้านบนที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงจากแดด หากเกษตรกรตัดทิ้งหรือตอนออกไปจะทำให้ต้นไผ่ไม่ต้องเสียอาหารมาเลี้ยง อาหารจะถูกส่งไปสร้างหน่อใหม่เพื่อจะขยายกอ (ไผ่กิมซุ่งเขาจะต้องสร้างกอมากๆมีหลายๆลำ เมื่อเราตัดลำออกให้เหลือกอละ 3 ลำ โดยธรรมชาติของไผ่ก็จะพยายามสร้างหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทน) เกษตรกรก็เริ่มตัดหน่อออกจำหน่ายได้เลย การตัดหน่อควรจะตัดให้ถึงส่วนที่เป็นเส้นใย(จะเป็นที่อยู่ของตาหน่อ) ให้เหลือตาที่สำหรับเป็นหน่อได้อีก 2-4 ตา

kimsungya

เหตุผลที่เกษตรกรต้องตัดยอดของไผ่กิมซุ่งคือ

  1. ระหว่างที่เก็บหน่ออยู่ พอเดือนมีนาคม เมษายน มีพายุลูกเห็บ หรือพายุฤดูร้อน พบว่าต้นไผ่กิมซุ่งที่ไม่ได้ตัดยอดจะโค่นมากมาย และระบบรากสะเทือนจากแรงลมปะทะ ทำให้การเกิดหน่อหยุดชะงักไป 1-2 เดือนและช่วงนี้เป็นช่วงที่หน่อไม้มีราคาแพง ส่วนต้นไผ่กิมซุ่งที่ตัดยอด เหลือความสูงเพียง 3-4 เมตร จะโค่นน้อยกว่าและถ้าไม่ถูกลมแรงจนเกินไปก็ไม่โค่น ระบบรากไม่สะเทือน การเก็บยังคงเก็บหน่อต่อไปได้ รายได้ไม่ขาดหาย ไผ่กิมซุ่งเป็นไผ่ที่มีกิงแขนงยาวมากและหนัก ทำให้ต้านลม ต่างจากไผ่ซางและไผ่เลี้ยงที่มีกิ่งแขนงสั้นจะลู่ลม
  2. ถ้ามีแปลงไผ่กิมซุ่งลองแบ่งเป็นสองส่วน เพื่อเปรียบเทียบ อีกแปลงตัดยอด อีกแปลงไม่ตัดยอด ถ้าดูแลเหมือนกัน ให้น้ำพร้อมกัน ไว้ลำต้น 3-4 ต้นต่อกอเหมือนกัน พบว่าแปลงที่ตัดยอดจะให้หน่อก่อนแปลงที่ไม่ได้ตัดยอด
  3. ในแต่ละปีต้องสางกอ ตัดไม้แก่ทิ้งไป เหลือแต่ไม้ที่เกิดในปี ตอนตัดไผ่กิมซุ่งที่ไม่ตัดยอด มีความสูงและต้นใหญ่ มีลำต้นกิ่งก้านและใบมาก ทำให้ต้องจัดการมากใช้แรงงานมากกว่าไผ่กิมซุ่งที่ตัดยอด การจัดการและการใช้แรงงานน้อยกว่า

การขยายพันธุ์ไผ่กิมซุ่งเพื่อปลูกมีด้วยกันอยู่ 3 วิธีคือ การตอน การปักชำ และการปลูกด้วยกิ่งที่ตัดมาใหม่ๆ โดยวิธีการขยายพันธุ์แต่ละชนิดก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป ส่วนเกษตรกรจะนำวิธีการขยายพันธุ์แบบไหนไปใช้ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ครับ

การตอนกิ่งไผ่กิมซุ่ง
การตอนกิ่งไผ่กิมซุ่งจะใช้ไม่ได้กับต้นไผ่ที่อยู่ในช่วงฤดูแล้ง การตอนจะทำได้ดีเมื่อต้นไผ่ได้รับความชื้นในอากาศสูง เช่นในฤดูที่ฝนตกชุก จะทำให้การตอนได้ผลดีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การตอนก็จะทำได้ไม่ดีนักถ้าไม่รู้เทคนิกที่ดีซึ่งมีดังนี้

kimsungtonking

  1. ต้องตัดยอดไผ่กิมซุ่ง ให้เหลืออยู่สูงจากพื้นดินราวๆ 3-4 เมตร ถ้าเป็นลำใหม่เมื่อลำเริ่มแทงกิ่งแขนงข้าง และกิ่งแขนงเริ่มมีใบย่อย แต่ยังไม่แก่มากนัก ก็จะเริ่มเห็นรากอากาศออกมาขาวๆ ก็ต้องรีบตอน ถ้ารากแห้งแล้วการตอนจะได้ผลน้อย แต่ถ้าเป็นลำจากต้นแก่เมื่อตัดยอดแล้วนำกิ่งที่ตัดแล้วไปชำ ก็จะมีกิ่งแขนงใหม่ออกมาและพอเริ่มมีใบกางออก ก็จะมีรากขาวๆออกมาเช่นกันก็ต้องรีบตอน
  2. ใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำ 24 ชั่วโมง แล้วบีบให้น้ำออกจากขุยมะพร้าวพอชื้น นำใส่ถุงพลาสติกร้อน ขนาด 5*0 นิ้ว มัดหนังยาง เตรียมไว้ให้พอที่จะตอน
  3. ขั้นตอนการทำ สำหรับไผ่กิมซุ่งเป็นไผ่ที่ออกรากอากาศง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เลื่อย ตัดนำสามารถที่จะนำขุยมะพร้าวหุ้มใต้ข้อกิ่งแขนงที่เราจะตอนได้เลย โดยเลือกกิ่งที่เห็นรากขาวๆออกมาก่อน จะออกรากอากาศมากหรือน้อยก็ไม่เป็นไร ส่วนกิ่งที่ยังไม่มีรากอากาศออกมายังไม่ต้องหุ้ม ไว้รอหุ้มวันหลัง มัดตุ้มขุยมะพร้าวให้แน่น กิ่งไผ่กิมซุ่งมีความยาวของกิ่งและมีใบมาก ถ้าเราใช้เลื่อยตัดนำก่อน ด้วยน้ำหนักของกิ่งที่หนักมาก จะทำให้กิ่งหักฉีกขาดได้ และทำให้ดูรก ระเกะระกะไปหมด และไม่ต้องตัดยอดของกิ่งแขนงเด็ดขาดเพราะจะทำให้รากออกช้า ไม่นานนักประมาณ 10 กว่าวันก็จะได้รากไผ่เต็มถุงและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลก็สามารถตัดลงมาชำให้ถุงได้
  4. การตัดกิ่งตอนที่มีรากมากแล้ว จะใช้เลื่อยตัด อย่าใช้ดมีดเด็ดขาด เพราะจะทำให้การสับด้วยมีดจะสับหลายครั้ง มีโอกาสพลาดไปถูก ตาที่จะแตกหน่อ และผิวของเปลือกกิ่งแขนงที่ตอน(ท่อน้ำท่ออาหารถูกทำลาย) มีผลขณะนำไปชำในถุงดำจะทำให้เกิดการแห้งข้างใดข้างหนึ่ง ให้ใช้เลื่อย โดยเลื่อยด้านบนของกิ่งแขนงจนขาด ระวังอย่าไปตัดส่วนที่เป็นเนื้อไม้ของกิ่งแขนงก็จะไม่เกิดการตายข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อได้กิ่งตอนมาแล้วก็ให้ทำการตัดยอดของกิ่งแขนงออก แล้วตัดใบและกิ่งที่เหลือด้านข้างทิ้งเพื่อลดการคายน้ำของกิ่ง จะไม่ทำให้กิ่งเหี่ยวและชะงักการเจริญเติบโตจากนั้นให้นำไปแช่น้ำสักพักเพื่อให้กิ่งได้ดูดน้ำได้เต็มที่
  5. เมื่อได้กิ่งตอนที่มีรากแล้วก็นำมาใส่ถุงดำ โดยใช้ถุงขนาด 5*10 นิ้ว สำหรับทำไว้เพื่อปลูกเอง จะมีรากมากหน่อยเวลานำไปปลูกจะโตเร็ว แต่ถ้าชำเพื่อการค้าก็ใช้ถุงดำขนาด 4*8 นิ้ว จะทำให้ไม่สิ้นเปลืองวัสดุเพาะชำมาก และการขนส่งก็ไม่หนักมาก ไม่กินพื้นที่ของรถ สำหรับวัสดุที่เพาะชำ ใช้ขี้เถ้าแกลบล้วนๆดีที่สุดเพราะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ จะไม่ทำให้รากไผ่เน่า ส่วนวัสดุที่รองลงมาก็สามารถใช้ ดินผสมกับขี้เถ้าแกลบได้อัตราส่วน 1 ต่อ 2 ก็ใช้ได้ดีเช่นกัน ไม่แนะนำให้ใช้ดินล้วนๆ เพราะจะทำให้กิ่งไผ่ที่ชำเน่าได้เนื่องจากดินจะระบายน้ำได้ไม่ดีนัก และยังหนัก ทำให้การขนส่งสิ้นเปลืองน้ำมันมาก และขนไปได้น้อยก็หนักเกินความสามารถของรถยนต์แล้ว เมื่อนำกิ่งไผ่กิมซุ่งใส่ถุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำไปวางไว้กลางแจ้ง ไม่ต้องพรางแสงแดด ถ้าในฤดูฝนและฤดูหนาว จะทำให้การติดของกิ่งดีมาก ตายน้อย ในช่วงฤดูฝนถ้าวางในที่ร่มรำไร กิ่งที่ชำจะตายมาก เพราะความชื้นในวัสดุชำสูงมาก ถุงไม่ได้รับแดดวัสดุปลูกก็จะไม่ค่อยแห้งทำให้กิ่งพันธุ์ที่ชำไว้ตายเป็นจำนวนมาก กิ่งทีอยู่ในร่มจะไม่ค่อยคายน้ำ เมื่อไม่คายน้ำก็ไม่ดูดน้ำ การดูดน้ำของกิ่งไผ่ต้องใช้ราก เมื่อไม่ดูดน้ำก็ไม่สร้างราก แต่ถ้าวางกลางแดดแล้วรดน้ำ จะมีการคายน้ำของกิ่งไผ่มาก ไผ่ก็ต้องการน้ำก็ต้องดูดน้ำ จะดูดน้ำได้อย่างไรถ้าไม่มีราก ไผ่จึงสร้างรากได้เร็วเมื่ออยู่กลางแดด จะไม่ตาย สิ่งเหล่านี้บางท่านไม่เคยรู้เลยเพราะไม่ได้สังเกตุ แต่ผมก็ยินดีที่จะแนะนำเพื่อจะได้ทำแล้วได้กิ่งที่ดีและแข็งแรง กิ่งไม่ค่อยตาย แต่ถ้าฤดูร้อนราวๆเดือนเมษายน ก็ให้วางใต้สะแลนชนิด 50% ก็จะไม่เป็นไร เพราะไม่มีฝนรบกวน ความร้อนของบรรยากาศทำให้ไผ่ออกรากเร็วเพราะไผ่คายน้ำมาก สำหรับเกษตรกรที่ต้องการให้กิ่งพันธุ์ที่ใส่ถุงดำโตเร็วโดยมีรากเดินทะลุถุงดำ มีกิ่งและใบที่แตกใหม่ ต้องรดด้วยปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ทำเอง โดยใช้ปุ๋ยน้ำ 100 ซีซี ต่อน้ำ 10 ลิตรรดทุกๆ 7 วัน แต่ถ้าไม่มีปุ๋ยน้ำชีวภาพ ก็ให้ใช้ ปุ๋ย 21-0-0 อัตรา 30 กรัมหรือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตรละลายน้ำแล้วนำไปรดที่กล้าไผ่กิมซุ่งทุก ๆ 7 วัน ต้นไผ่ก็จะเติบโตและแข็งแรง ภานใน 30 วันหลังใส่ถุงดำ แต่ถ้าไม่ได้รดปุ๋ยใดๆก็จะใช้เวลาราวๆ 60 วัน

การตอนกิ่งไผ่กิมซุ่งมีข้อดีคือจะได้รากทุกกิ่งเพราะเกษตรกรเลือกตอนแต่กิ่งที่มีรากอากาศขาวๆออกมาก่อน ทำให้ได้กิ่งพันธุ์ 100 % แต่ก็เหมาะกับเกษตรกรที่ลองหัดขยายพันธุ์ใหม่ๆ หรือเหมาะกับเกษตรกรที่ทำกิ่งพันธุ์เพื่อปลูกเองเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังไม่เน้นปริมาณมากๆ จะได้กิ่งที่อ้วน เพราะจากการตัดยอด แต่ก็มีข้อเสียคือ ทำได้ช้า ไม่มากถ้าต้องการขยายพันธุ์เพื่อขายต้องใช้เวลามาก กว่าจะได้กิ่งพันธุ์เป็นปริมาณมากๆ และถ้าการตัดกิ่งแขนงเกิดพลาดไปถูกท่อน้ำท่ออาหารของกิ่งไผ่ ก็จะทำให้มีกิ่งแห้งด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าแห้งด้านที่เป็นตาที่จะเกิดหน่อ ก็จะทำให้หน่อเกิดได้ช้า หรือไม่เกิดเลย

การปักชำกิ่งไผ่กิมซุ่ง

การปักชำกิ่งไผ่กิมซุ่ง เป็นวิธีที่เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ต้องการขยายให้ได้กิ่งพันธุ์เร็วๆ เพื่อขายหรือนำไปปลูกเอง การขยายพันธุ์ไผ่กิมซุ่งด้วยวิธีการปักช้ำกิ่ง จะทำได้รวดเร็วกว่าการตอนด้วยขุ๋ยมะพร้าว ต้นทุนการทำจะต่ำกว่าการตอน ทำให้ครบตามยอดที่สั่งได้ แต่ถ้าเกษตรกรไม่ทราบวิธีการที่เหมาะสมก็จะทำให้กิ่งที่นำมาชำเสียหายมาก การปักชำมีวิธีการดังนี้

SAMSUNG ELECTRONICS

  1. ไผ่กิมซุ่งที่ปลูกและดูแลมาผ่านฤดูหนาว เป็นฤดูที่ไผ่จะสะสมอาหารในรูปแป้งไว้ตามข้อของไผ่ เป็นเวลาหลายเดือน พออากาศเริ่มอุ่นย่างเข้าฤดูร้อนก่อนที่จะมีฝนมา ไผ่จะสะสมอาหารได้เต็มที่ เป็นเวลาเหมาะสมที่จะตัดต้นไผ่กิมซุ่งลงมาเพื่อเลื่อยเอาข้อที่ติดกิ่งแขนงมาด้วย การปักชำช่วงนี้จะได้กิ่งที่เติบโตเกือบทั้งหมด แทบไม่มีกิ่งเสียเลย เกษตรกรจะต้องตัดต้นกิมซุ่งทำทีละต้น แล้วเลื่อยเอากิ่งแขนงออกให้เสร็จเป็นลำๆไป เพื่อไม่ให้แห้งเร็วจากการคายน้ำที่ใบของไผ่ รีบตัดยอดของกิ่งแขนงออกให้เหลือ 3 ข้อ แล้ริดใบไผ่ออกให้หมด ส่วนในช่วงฤดูฝน ขณะที่ฝนตกชุก กิ่งแขนงของไผ่กิมซุ่งที่แตกมาใหม่ จะมีราอากาศออกมา ให้รีบตัดข้อติดกิ่งแขนง ถ้ารากอากาศแห้งจะใช้ไม่ได้ การตัดกิ่งแขนงมาชำในช่วงฤดูฝนจะไม่ติดทั้งหมด แต่จะติดราวๆ 80 % ของกิ่งในช่วงฤดูฝนที่นำมาชำ
  2. เมื่อได้กิ่งมาพอสมควรรีบนำลงแช่น้ำที่ผสมอาหารเร่งการเจริญ เช่นสาหร่าย โดยใช้ 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ควรแช่น้ำไว้ให้กิ่งไผ่ได้ดูดน้ำเต็มที่ ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ถ้าตัดต้นไผ่ เลื่อยเอากิ่งแขนงมาแล้วแช่น้ำ เลื่อยไปแช่ไปพร้อมๆกันจะทำให้กิ่งเสียน้ำน้อยที่สุด เวลาน้ำไปชำจะไม่แห้งตาย
  3. นำกิ่งขึ้นจากน้ำ นำไปชำในวัสดุที่เตรียมไว้ ตามแต่ที่จะหาง่าย เช่นทรายหยาบ แกลบเผา หรือฟางข้าว ให้เกษตรกรขุดดินเป็นร่องยาวๆ ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร กว้าง 15-20 เซนติเมตร นำกิ่งวางลงในร่อง แล้วทำหลักยึดไว้ไม่ให้กิ่งล้ม นำทรายหรือแกลบเผา หรือฟางข้าวใส่ลงไป ให้มิดข้อไผ่และโคนกิ่งแขนง จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม 2-3 วันรดครั้ง กิ่งที่ชำควรวางไว้กลางแจ้งให้ได้รับแดดเต็มที่ เพื่อกระตุ้นให้รากไผ่ออกได้ไว ราวๆ 10 กว่าวันรากไผ่ก็จะออกมามีสีขาว ประมาณ 20 วันหลังปักชำก็ขุดขึ้นมาเลือกกิ่งที่มีราก นำไปใส่ถุงดำ โดยใช้แกลบเผาเป็นวัสดุปลูก ควรใช้ถุงดำขนาด 5*10 เซนติเมตร ตั้งไว้ใต้สะแลนพรางแสง 50 % รดน้ำเมื่อถุงไผ่เริ่มแห้ง ทิ้งไว้อีก 30 วันก็สามารถจำหน่ายได้ แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่เคยทำแล้ว มีความชำนาญ จะนำกิ่งไผ่กิมซุ่งใส่ลงในถุงดำที่มีขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุปลูกโดยตรงได้เลย ตั้งไว้กลางแดด รดน้ำให้ชุ่มครั้งแรก วันต่อๆไปรดน้ำพอประมาณ ประมาณ 10 กว่าวันรากไผ่กิมซุ่งเริ่มออกมาก รอจนกว่ารากจะเต็มถุง มีใบและกิ่งมาก ก็จำหน่ายหรือนำไปปลูกได้ ตั้งแต่ปักชำจนขายหรือปลูกได้จะใช้เวลา ราวๆ 60 วัน

SAMSUNG ELECTRONICS

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น