ไผ่เป๊าะยักษ์, ไผ่มันหมู,ไผ่แม่ตะวอ,และมีอีกชื่อที่มาใหม่คือไผ่ว่ะโซ่ว อันที่จริงทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้นมีชื่อทาง พฤกษศาสตร์คือ Dendrocalamus copelandii และมีชื่อสามัญว่า Wagyi จัดเป็นไผ่ขนาดกลางถึงใหญ่ อยู่ในตระกูลเดียวกับไผ่ยักษ์น่าน ไผ่ยักษ์จีน ไผ่ตง และไผ่หก มีความสูง 15-30 เมตร ลำไม้ยาวเรียว ตรง เส้นผ่าศูนย์ กลางลำ 8-25 เซนติเมตร ปล้องยาว 25-45 เซนติเมตร ลำอ่อนมีแป้งสีขาวปกคลุม และมีกาบหุ้มลำไม้นานกว่าจะหลุดร่วงไป
พบกระจายพันธุ์อยู่ตามภูเขาหินปูนแถบชายแดนไทย- พม่าเท่านั้น และในประเทศไทยพบได้สามจังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี เพิ่งมีการออกดอก ตายขุยกันอย่างมากมายเมื่อปี 2552-2553 ที่ผ่านมานี้ และมีทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน รวมถึงผู้รู้เรื่องไผ่หลายสำนักต่างตื่นตัว ไปเก็บเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์กันมากมายและเข้าใจว่าเป็นไผ่ยักษ์ต่างๆ หลายอย่างเหลือเกิน แต่ การที่ไผ่ยักษ์ออกดอกและตายขุยพร้อมๆกันในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดขึ้นไม่บ่อยประมาณ70-80 ปีครั้ง แสดงว่าไผ่ที่ตายในครั้งนี้มีความเกี่ยวพันธุ์เป็นญาติที่ใกล้ชิดกันมาก สรุปก็คือเป็นไผ่ชนิดเดียวกันตัวเดียวกัน พ่อแม่หรือบรรพบุรุษเดียวกันนั่นเอง
สิ่งที่ผู้รักไผ่ส่วนมากยังไม่รู้แม้แต่คนที่เพาะพันธุ์ไผ่ตัวนี้ขายเอง คือไผ่เป๊าะยักษ์ตัวนี้กำลังจะเป็นไผ่เศรษฐกิจที่สำคัญมากชนิดหนึ่งของประเทศไทยแล้ว เหตุผลก็เพราะว่ามีเกษตรคนเก่งคนหนึ่งได้ศึกษาทดลองปลูกไผ่เป๊าะยักษ์เป็นอาชีพหลักโดยปลูกไปแล้ว 6,000 กอในเนื้อที่ ยี่สิบกว่าไร่ เพื่อเก็บหน่อขายเป็นหลักและทำหน่อนอกฤดูปรากฎว่าออกหน่อตลอดทั้งปี แม้หน้าหนาว หน่อมีขนาดใหญ่น้ำหนักมาก รสชาดดีขายดีเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนลำไม้ได้ทดลองนำมาตอกทำตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ปรากฎว่า ไม้แกร่ง สีสวย เส้นไม้ตรงไม่คดงอ เนื้อไม้ไม่หนามาก เข้าเครื่องตอกใช้ไม้ได้สุดปลายลำ มีรายได้ตกไร่ละแสนกว่าบาทต่อปี จากการขายหน่อไม้ ตะเกียบไม้เสียบลูกชิ้น และขายกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่ง
สำหรับการใช้ประโยชน์ ลำไม้ใช้ในงานก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ รางน้ำ หน่อใช้กินได้ รสชาด หวานกรอบ เสี้ยนน้อย
ป้ายคำ : ไผ่