ไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Gramineae เช่นเดียวกับหญ้าแต่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่สูงที่สุดในโลก เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลใน วงศ์หญ้า Poaceae (เดิมคือ Gramineae) วงศ์ย่อย Bambusoideae เป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ และเป็นพืชเมืองร้อน ไม้ไผ่ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ในการก่อสร้างไม้นั่งร้านทาสีฉาบปูน ใช้จักสานภาชนะต่าง ๆ ใช้ทำเครื่องดนตรี ใช้เป็นเยื่อกระดาษในอุตสาหกรรมทำกระดาษ ทำเครื่องกีฬา ใช้เป็นอาวุธ เช่น คันธนู หอก หลาว ใช้เป็นเครื่องอุปกรณ์การประมง เช่น ทำเสาโป๊ะ ทำเครื่องมือในการเกษตร นอกจากนั้นใบยังใช้ห่อขนม หน่อไผ่ใช้เป็นอาหารอย่างวิเศษ และกอไผ่ยังใช้ประดับสวนได้งดงาม
ผลผลิตจากไผ่ที่สำคัญคือ หน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนไทย นิยมทานกันมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด ดังนั้นจึงยังได้รับความนิยมในการทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท ใช้ชะลอน้ำที่เข้าป่าชายเลน นั่งร้านก่อสร้างและบันได เป็นต้น
ไม้ไผ่ เป็นวัสดุที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ในขณะที่โลกปัจจุบันเป็นเรื่องของพลาสติกและเหล็ก แต่ก็ยังมีโครงการร่วมมือค้นคว้า เรื่องไม้ไผ่ระหว่างชาติต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการในการใช้ไม้ไผ่ซึ่งกันและกันในประเทศลาตินอเมริกัน 6 ประเทศ ในขณะนี้ได้มีโครงการวิจัยร่วมกันเพื่อจะหาชนิดของไม้ไผ่ที่ดีที่สุดจากภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
ไม้ไผ่ทั่วโลกที่รู้จักกันมีประมาณ 75 สกุล ที่ได้สำรวจพบในเมืองไทยมีประมาณ 12 สกุล แยกเป็นชนิดประมาณ 44 ชนิด
ไม้ไผ่ที่ปลูกกันมากในประเทศไทยและนำมาใช้ประโยชน์มีอยู่ประมาณ 32 ชนิด ในประเทศไทยนั้น พบไผ่อยู่ 30 ชนิด ดังนี้
- ไผ่ข้าวหลาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum pergracile )
- ไผ่คายดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa compressa)
- ไผ่โจด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Arundinaria cililta)
- ไผ่ซาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus strictus)
- ไผ่ซางคำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus latiflorus)
- ไผ่ซางนวล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus membranaceus)
- ไผ่ซางหม่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus sericeus )
- ไผ่ตง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus aspe)
- ไผ่ตากวาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa kurzii)
- ไผ่บง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa nutans)
- ไผ่บงคาย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa hosseusii)
- ไผ่บงดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa tulda)
- ไผ่บงป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispatha)
- ไผ่บงหนาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa burmanica)
- ไผ่ป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa bambos)
- ไผ่เป๊าะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus giganteus)
- ไผ่ผาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa densa)
- ไผ่เพ็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vietnamosasa pusilla)
- ไผ่รวก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys siamensis)
- ไผ่รวกดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys oliveri)
- ไผ่ไร่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa albociliata)
- ไผ่ลำมะลอก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispiculatar)
- ไผ่เลี้ยง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa mulfiplex)
- ไผ่หวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa sp.)
- ไผ่สีสุก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa blumeana)
- ไผ่หก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus hamiltonii)
- ไผ่หลอด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Neohouzeaua mekongensis)
- ไผ่หอม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa polymorpha)
- ไผ่เหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa vulgaris)
- ไผ่เฮียะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum virgatum)
จากการรายงานของ Food Standards Australia New Zealand (FSANZ) ปี 2004 พบว่า หน่อไม้มีประมาณ 1200 พันธุ์ แต่ที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร มีไม่กี่พันธุ์หน่อไม้ แต่ละพันธุ์มีระดับไซยาไนด์ตามธรรมชาติแตกต่างกัน บางพันธุ์พบว่ามีปริมาณไซยาไนด์สูงถึง 8000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พันธุ์ที่ใช้บริโภคได้มีรายงานว่าพบไซยาไนด์โดยเฉลี่ยถึง 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ปริมาณไซยาไนด์ที่มีอยู่ในธรรมชาติภายหลังการเก็บเกี่ยวจะลดลง ขบวนการหมัก การทำหน่อไม้กระป๋องหรือขั้นตอนในการเตรียมหรือปรุงอาหาร สามารถลดปริมาณไซยาไนด์ลงได้ สำหรับประเทศไทยหน่อไม้ที่บริโภคมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ หน่อไม้ซาง หน่อไม้บ่ง, หน่อไม้ไร่, หน่อไม้รวก, หน่อไม้ตง, หน่อไม้ไผ่ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดศึกษาไซยาไนด์ที่อยู่ในหน่อไม้ไทยแต่ละพันธุ์ ไซยาไนด์เมื่อเข้าสู่ร่างกายปริมาณน้อยจะถูก detoxify โดย enzyme rhodanese เปลี่ยนให้อยู่ในรูปของ thiocyanate ซึ่งมีพิษน้อยกว่าไฮโดรเจนไซยาไนด์และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าได้รับปริมาณมากจะไปเกาะกับ hemoglobin ซึ่งเป็นสารตัวที่ร่างกายใช้ขนส่งออกซิเจนไปตามร่างกายจะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน ทุรนทุราย หมดสติ ถ้าช่วยเหลือไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากขาดออกซิเจน
ไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทางปาก ผิวหนังและทางการหายใจ ในขั้นตอนการหมักหน่อไม้ ในสภาพที่เป็นกรดสามารถทำให้ เกิดแกสไฮโดรเจนไซยาไนด์ ทำให้ปริมาณที่พบในส่วนเนื้อหน่อไม้ลดลง การผลิตหน่อไม้ปี๊บซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการต้ม การปรับกรดก็สามารถลดไซยาไนด์ที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ การให้ความร้อน เช่น การเผา การต้ม การนำหน่อไม้ไปปรุงอาหารซึ่งต้องผ่านขั้นตอน
การให้ความร้อน ก็จะทำให้ปริมาณไซยาไนต์ในหน่อไม้ลดลงได้ เช่นกัน
ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคหน่อไม้ดิบเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกับการบริโภคมันสำปะหลังดิบและไม่ควรตกใจและเลิก
รับประทานหน่อไม้เพราะสารพิษในหน่อไม้ไม่เสถียรและจะลดลงได้เมื่อผ่านขั้นตอนการปรุงอาหาร หน่อไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ดอง หรือหน่อไม้ปี๊บ โดยเฉพาะหน่อไม้สดซึ่งมีไซยาไนด์มากกว่าหน่อไม้ชนิดอื่น เพื่อความปลอดภัยก่อนบริโภคควรนำมาต้มน้ำทิ้งเพื่อลดปริมาณ ไซยาไนด์ซึ่งอาจยังหลงเหลืออยู่ แล้วจึงนำมาปรุงอาหาร
สรรพคุณของหน่อไม้
- ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยย่อยอาหาร เป็นสรรพคุณที่เห็นผลมาก เพราะหน่อไม้เป็นอาหารที่ให้เส้นใยสูงจึงช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เมื่อหน่อไม้ผ่านการย่อยร่างกายจะดูดซึมสารอหารเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนกากอาหารที่เหลือหรือสารพิษต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนักจะไปรวมกันที่ลำไส้ใหญ่ แต่ถ้ามีกากใยอาหารมากๆ กากใยอาหารเหล่านี้จะช่วยดูดน้ำและเพิ่มปริมาณ ทำให้กากอาหารมีน้ำหนักมากจะเคลื่อนออกสู่โลกภายนอกได้เร็ว กากใยอาหารจึงช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
- แก้กระหาย ขับปัสสาวะ ละลายเสมหะ แก้ไอ บำรุงกำลังแก้อาการร้อนต่างๆ ได้ดี เพราะมีฤทธิ์เย็นเช่นเดียวกับเห็ด
- ขับพิษใต้ผิวหนัง ขับผื่นหัดรวมถึงผื่นชนิดอื่นๆ เพียงดื่มน้ำแกงที่ได้จากการต้มหน่อไม้ร่วมกับปลาตะเพียน
- แก้โรคบิดเรื้อรังได้
นอกจากหน่อไม้สดจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ตัวหน่อไม้ดองเองแม้จะไม่มีคุณค่าทางอาหาร แต่ยังมีคุณค่าแฝงอยู่อีกคือ จะมีแบคทีเรียในหน่อไม้ดองที่ชื่อ คลอสทริเดีย เป็นแบคทีเรียที่ปนอยู่ในดิน เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะไร้ออกซิเจน เช่น ในอาหารจำพวกของหมักดองทั้งหลายและรวมทั้งอาหารกระป๋องที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทำลายแบคทีเรียอย่างถูกวิธี แบคทีเรียชนิดนี้มีพิษแต่มันก็มีประโยชน์ ซึ่งสำนักงานอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำแบคทีเรียนี้ไปผ่านกระบวนการแยกเอาสารพิษออกแล้วทำให้เจือจาง เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ โดยตั้งชื่อใหม่ว่า โบท็อก (Botox) (ซึ่งโบท็อกก็คือสารหน้าเด้งที่พวกดาราทั้งหลายไปฉีดเพื่อลดรอยเหี่ยวและย่นนั้นล่ะค่า)
ข้อควรระวังในการรับประทานหน่อไม้
- หน่อไม้มีคุณค่าทางอาหารสูงในตัวของมันเอง ส่วนหน่อไม้ดองก็มีคุณค่าแฝง แต่สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิดแล้ว แพทย์เองก็ไม่แนะนำให้ทานเหมือนกัน
- ผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์ ไม่ควรรับประทาน เพราะในหน่อไม้มีสารพิวรินสูง ซึ่งสารตัวนี้อาจจะทำให้กรดยูริกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์สูงขึ้น ซึ่งกรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญของพิวรีน มีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ และพืชผักอ่อนโดยเฉพาะหน่อไม้
- ผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม โดยปกติกรดยูริกจะถูกขับออกทางปัสสาวะของคนเรา หากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับยูริกได้น้อยลง เนื่องจากไตเสื่อมลง กรดยูริกก็จะตกผลึกตามข้อ ผนังหลอดเลือด ไต และอวัยวะต่างๆทำให้เกิดอาการปวดข้อและโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น ข้อพิการ นิ่วในไต กระดูกพรุน เป็นต้น
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับหน่อไม้
- คนไทยเรามักจะคิดว่าหน่อไม้มีแต่โทษเป็นของแสลง ถ้าไม่กินจะดีกว่า
- กินหน่อไม้แล้วปวดข้อ จริงๆ แล้วตัวหน่อไม้เองนั้นไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อมหรือปวดข้อ แต่จะมีผลกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์เท่านั้น ดังนั้นคนที่มีอาการปวดข้อจากสาเหตุอื่นๆ จึงกินหน่อไม้ได้ปกติ
- คนเป็นเบาหวานห้ามกิน การกินหน่อไม้นั้นไม่ได้มีผลกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เพราะฉะนั้นแม้เป็นเบาหวานก็รับประทานได้
- ผู้ป่วยเป็นโรคตับห้ามรับประมาน ซึ่งโรคตับในที่นี้มีได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากไวรัสบีและอาการตับแข็ง แต่แพทย์ยืนยันว่าการรับประทานหน่อไม้ไม่มีผลต่อโรคดังกล่าว
- เมื่อมีอาการตกขาวหรือระดูขาวให้งดกินหน่อไม้ จริงแล้วหน่อไม้หน่อไม้สดไม่มีผลกับอาการ แต่หากผู้ที่มีอาการตกขาวก็ยังสามารถรับประทานหน่อไม้สดได้
ชนิดของไม้ไผ่ที่ใช้ในการก่อสร้างที่ควรทราบ ไม้ไผ่ที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นมีดังต่อไปนี้
- ไผ่ตง (D.asper) เป็นไผ่ในสกุล Dendrocalamus นิยมปลูกกันในภาคกลางโดยเฉพาะที่จังหวัดปราจีนบุรีปลูกกันมาก เป็นไผ่ขนาดใหญ่ ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-12 เซนติเมตร ไม่มีหนามปล้องยาวประมาณ 20 เซนติเมตร โคนต้นมีลายขาวสลับเทา มีขนเล็ก ๆ อยู่ทั่วไปของลำ มีหลายพันธุ์ เช่นไผ่ตงหม้อ ไผ่ตงดำ ไผ่ตงเขียว ไผ่ตงหนู เป็นต้น หน่อใช้รับประทานได้ ลำต้นใช้สร้างอาคาร เช่น เป็นเสา โครงหลังคา เพราะแข็งแรงดี ไผ่ตงมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ชาวจีนนำมาปลูกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2450 ปลูกครั้งแรกที่ตำบลพระราม จังหวัดปราจีนบุรี
- ไผ่สีสุก (B.flaxuosa) อยู่ในสกุล Bambusa ไผ่ชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปและมีมากในภาคกลางและภาคใต้ลำต้น เขียวสดเป็นไผ่ขนาดสูงใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นประมาณ7-10 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร บริเวณข้อมีกิ่งเหมือนหนาม ลำต้นเนื้อหนา ทนทานดี ใช้ทำนั่งร้านในการก่อสร้าง เช่น นั่งร้านทาสี นั่งร้านฉาบปูน
- ไผ่ลำมะลอก (D.longispathus) อยู่ในสกุล Dendrocalamus มีทั่วทุกภาคแต่ในภาคใต้จะมีน้อยมาก ลำต้นสีเขียวแก่ไม่มีหนาม ข้อเรียบ จะแตกใบสูงจากพื้นดินประมาณ 6-7 เมตร ปล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-10 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นใช้ทำนั่งร้านในงานก่อสร้างได้ดี
- ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม (B.arumdinacea) อยู่ในสกุล Bambusa มีทั่วทุกภาคของประเทศต้นแก่มีสีเขียวเหลือง เป็นไผ่ขนาดใหญ่ มีหนามและแขนง ปล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 -15 เซนติเมตร ใช้ทำโครงบ้าน ใช้ทำนั่งร้าน
- ไผ่ดำหรือไผ่ตาดำ (B.sp.) อยู่ในสกุล Bambusa มีในป่าทึบแถบจังหวัดกาญจนบุรีและจันทบุรี ลำต้นสีเขียวแก่ ค่อนข้างดำ ไม่มีหนาม ขนาดเส้นผ่านเส้นศูนย์กลางของปล้องประมาณ 7-10 เซนติเมตรปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร เนื้อหนา ลำต้นสูง 10-12 เมตร เหมาะจะใช้ในการก่อสร้าง จักสาน
- ไผ่เฮียะ (C.Virgatum) อยู่ในสกุล Cephalastachyum มีทางภาคเหนือ ลำต้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ปล้องยาวขนาด 50-70 เซนติเมตร ข้อเรียบ มีกิ่งก้านเล็กน้อย เนื้อหนา 1-2 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-18 เมตร ลำต้นใช้ทำโครงสร้างอาคาร เช่น เสา โครงคลังคา คาน
- ไผ่รวก (T. siamensis) อยู่ในสกุล Thyrsostachys มีมากทางจังหวัดกาญจนบุรี ลำต้นเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.7 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-10 เมตร ลักษณะเป็นกอ ลำต้นใช้ทำรั้ว ทำเยื่อกระดาษ ไม้รวกที่ส่งออกขายต่างประเทศ เมื่อทำให้แห้งดีแล้ว จะนำไปจุ่มลงในน้ำมันโซลาเพื่อกันแมลง น้ำมันโซลา 20 ลิตร จะอาบไม้รวกได้ประมาณ 40,000 ลำ
- ไผ่ซางนวล ไผ่นวล ไผ่ซางดอย ไผ่ประเภทเหง้ากอ สูง 10-25 ม. เกิดลำห่างๆ เส้นผ่าศูนย์กลางลำ 5-12 ซม. ปล้องยาว 20-40 ซม. ลำหนา 0.5-1 ซม. ลำอ่อนมีไขสีขาวปกคลุมตลอดลำ แต่ละข้อมี 3-7 กิ่ง กิ่งเด่น 1 กิ่ง ข้อล่างๆของลำโดยทั่วไปไม่มีรากอากาศ แผ่นใบ รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง 0.8-2 ซม. ยาว 5-20 ซม. กาบหุ้มลำสีเหลืองอมส้มหรือสีส้ม มีไขและขนปกคลุมใบยอดกาบรูปใบหอกแคบสีน้ำตาลอมม่วง กางออกถึงพับลง ลิ้นกาบเป็นแถบ ขอบจักซี่ฟัน หูกาบ จีบพับเป็นคลื่น มีขนยาวปกคลุม
การทำให้ไม้ไผ่คงทน
ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆ ไปนั้น ตัดมาใช้ได้เมื่อไม้ไผ่อายุ 3-5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขกำจัดแมลงและเชื้อราแล้ว ไม้ไผ่ที่อยู่ติดดินอาจมีอายุใช้งานประมาณ 1-2 ปี เท่านั้น แต่ถ้าใช้ในที่ร่มและจากดินอายุอาจจะใช้งานถึง 5 ปี ไม้ไผ่อาจถูกรบกวนทำลายโดยมอดและปลวก เพราะมีอาหารในเนื้อไม้ นอกจากนั้นอาจถูกทำลายโดยเชื้อรา และถ้าใช้ในน้ำทะเลก็อาจถูกทำลายโดยเพรียงได้ การรักษาให้ไม้ไผ่มีอายุยืนนานนั้นอาจทำได้ต่าง ๆ กันดังนี้
- วิธีแช่น้ำ การแช่น้ำก็เพื่อทำลายสารในเนื้อไม้ที่มีอาหารของแมลงต่าง ๆ เช่น พวกน้ำตาล แป้ง ให้หมดไป การแช่ต้องแช่ให้มิดลำไม้ไผ่ เป็นน้ำไหลซึ่งมีระยะเวลาแช่น้ำสำหรับไม้สดประมาณ 3 วัน ถึง 3 เดือนแต่ถ้าเป็นไม้ไผ่แห้งต้องเพิ่มอีกประมาณ 15 วัน วิธีใช้ความร้อน หรือการสกัดน้ำมันจากไม้ไผ่ ก่อนนำมาสกัดน้ำมันควรตั้งพิงเอาส่วนโคนไว้ตอนบน การสกัดน้ำมันออกจากไม้ไผ่ทำได้โดยให้ความร้อนด้วยไฟหรือต้ม
- วิธีการสกัดน้ำมันด้วยไฟจะทำให้เนื้อไม้มีลักษณะแกร่ง ส่วนมากสกัดน้ำมันด้วยวิธีต้มนั้นเนื้อไม้จะอ่อนนุ่มการสกัดน้ำมันด้วยไฟนั้นทำโดยเอาไม้ไผ่ปิ้งในเตาไฟต่อย่าให้ไหม้และรีบเช็ดน้ำมันที่เยิ้มออกมาจากผิวไผ่ให้หมดระยะเวลาการปิ้งประมาณ 20 นาที อุณหภูมิประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส การสกัดน้ำมันด้วยวิธีต้มนั้นใช้ต้มในน้ำธรรมดาใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจใช้โซดาไฟ 10.3 กรัมหรือโซเดียมคาร์บอเนต 15 กรัม ละลายในน้ำ 18.05 ลิตร ใช้เวลาต้มประมาณ 15 นาที หลังจากต้มแล้วให้รีบเช็ดน้ำที่ซึมออกมาจากผิวไม้ไผ่ก่อนที่จะแห้ง เพราะถ้าเย็นลงจะเช็ดไม่ออกแล้วจึงนำไม้ไผ่ที่สกัดน้ำมันออกไปแล้วล้างน้ำให้สะอาดและทำให้แห้ง
- การใช้สารเคมี วิธีที่จะได้ผลดีกว่าการปิ้งหรือต้ม ซึ่งอาจทำได้ทั้งวิธีชุบหรือทาน้ำยาลงไปที่ไม้ไผ่หรือจะโดยวิธีอัดสารเคมีเข้าไปในเนื้อไม้ไผ่ วิธีชุบนั้นใช้เวลาประมาณ 10 นาที เช่น ชุบในน้ำยา DDT ที่มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับน้ำมันก๊าดจะทนได้นานถึง 1 ปี ถ้าชุบหรือแช่ให้นานขึ้นก็อาจทนได้ถึง 2 ปี หรืออาจใช้โซเดียมแพนตาคลอโรฟีเนต 1 เปอร์เซ็นต์ ละลายน้ำบอแรกซ์ ก็จะสามารถป้องกันมอดได้เป็นอย่างดี วิธีอัดน้ำยานั้นถ้าไม้ไผ่ไม่มากนักและเป็นไม้ไผ่สดทำโดยเอาน้ำยารักษาเนื้อไม้ใส่ภาชนะที่มีความลึกประมาณ40-60 เซนติเมตร เอาไม้ไผ่ลงแช่ทั้งที่มีกิ่งและใบ เมื่อใบสดระเหยน้ำออกไป โคนไม้ไผ่จะดูดน้ำยาเข้าแทนที่
- วิธีอัดน้ำยาอีกวิธีหนึ่งที่จะอัดน้ำยาเข้าไม่ไผ่สดที่ตัดกิ่งก้านออกแล้ว ทำโดยนำยางในของรถจักรยานยาวพอสมควรแล้วใส่น้ำยาข้างหนึ่งสวมเข้าที่โคนไม้ไผ่ใช้เชือกรัดกันน้ำยาออก ยกปลายยางข้างที่ไม่ได้กรอกน้ำยาให้สูงวิธีนี้ได้ผลดีกับไม้ไผ่สด วิธีอัดน้ำยาอีกวิธีหนึ่งคือ ตั้งถังน้ำยาสูงประมาณ 10 เมตร แล้วต่อท่อสวมที่โคนไม้ไผ่สดด้วยท่อยางแล้วรัดไว้ไม่ให้น้ำยาไหลออกมาแรงดันของน้ำยาที่อยู่สูง 10 เมตร จะดันน้ำยาเข้าไปในไม้ไผ่
การใช้ไม้ไผ่เสริมคอนกรีต ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล็กเสริมคอนกรีตขาดแคลนจึงได้มีผู้นำไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ แล้วใช้เสริมคอนกรีตแทนเหล็ก แม้ในปัจจุบันก็ยังมีผู้ใช้วิธีนี้อยู่
ไม้ไผ่นั้นมีค่าพิกัดแห่งความยืดหยุ่นต่ำ และเป็นวัสดุที่ยืดตัวมากกว่าเหล็กถึงประมาณ 14 เท่า เมื่อรับแรงเท่ากัน ไม้ไผ่ต้านแรงดึงได้ 13,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ที่ข้อและต้านแรงดึงได้ 17,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรที่ปล้อง เพราะเหตุที่ไม้ไผ่ดูดน้ำมาก เมื่อนำมาเสริมคอนกรีตแทนเหล็กเสริม ทำให้การยึดเกาะกับคอนกรีตต่ำ ถ้านำไม้ไผ่มาเสริมคอนกรีตขณะที่เทคอนกรีตซึ่งมีน้ำผลมอยู่ ไม้ไผ่จะพองตัว และต่อมาไม้ไผ่หดตัวลงเนื่องจากน้ำระเหยไป จะทำให้ไม้ไผ่ที่เสริมแยกตัวกับคอนกรีตที่หุ้มอยู่ ไม้ไผ่จึงไม่เหมาะสำหรับมาเสริมคอนกรีตโครงสร้าง แต่อาจใช้ได้สำหรับเสริมพื้นคอนกรีตที่ติดกับดินและไม่ได้รับน้ำหนักมากนัก