การใช้เชื้อไรโซเบียมกับพืชตระกูลถั่ว

2 ธันวาคม 2556 จุลินทรีย์ 0

ถั่วเป็นพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโปรตีน ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ถั่วส่วนใหญ่มีโปรตีนสูงกว่าพืชอื่น ๆ โดยเฉพาะถั่วเหลืองมีประมาณร้อยละ ๓๖ การที่ถั่วมีโปรตีนสูงจึงต้องการปุ๋ยไนโตรเจนสูงเพื่อการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต ดินที่ทำการเพาะปลูกมานานมักขาดไนโตรเจน และประเทศไทยก็ยังไม่มีโรงงานที่สามารถผลิตปุ๋ยชนิดนี้ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้ผลผลิตพืชส่วนมากไม่สูงเท่าที่ควรและทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อย

ในภาวะช่วงเศรษฐกิจและปุ๋ยเคมีมีราคาแพงเช่นนี้ การลดต้นทุนการผลิตก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากการใส่ปุ๋ยเป็นวิธีการเพิ่มผลผลิตและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน แต่ปุ๋ยเคมีมีต้นทุนสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเลือกในการลดต้นทุนจากปุ๋ยเคมี โดยการใช้เชื้อไรโซเบียม (ในการปลูกพืชตระกูลถั่ว) ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูปรับสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ไรโซเบียม ก็คือแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดินมันมีความสามารถพิเศษคือสามารถเข้าไปในรากถั่วที่เหมาะสมกับมัน แล้วทำให้รากถั่วเกิดเป็นปมขึ้นมา และไรโซเบียมจะทำการเพิ่มปริมาณขึ้นมาเป็นล้าน ๆ เซลล์ภายในหนึ่งปม ไรโซเบียมที่อยู่ในปมถั่วนี้จะสามารถเปลี่ยนแก๊สไนโตรเจนในอากาศให้เป็นปุ๋ยที่พืชถั่วใช้ได้ ดังนั้นปมถั่วแต่ละปมก็เปรียบเสมือนกับโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจน โดยมีเชื้อไรโซเบียมเป็นผู้ดำเนินการผลิต

rizobiumkayai

ไรโซเบียม เป็นบักเตรีชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดิน สามารถเข้าไปสร้างปมที่รากพืชตระกูลถั่วได้ โดยไรโซเบียมจะเข้าสู่รากถั่วเฉพาะชนิดที่มีความเหมาะสมกับมันเท่านั้น จะสังเกตเห็นปมถั่วได้เมื่อต้นถั่วอายุได้ 15-25 วัน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและถั่วที่ปลูก ถ้าดินมีไนโตรเจนสูงการเกิดปมถั่วจะช้าและปริมาณก็จะลดลง

ถั่วที่มีเชื้อไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพหรือขยันจะมีการเจริญเติบโตให้ผลผลิตสูง โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเลย

เมื่อไรโซเบียมเข้าไปสร้างปมที่รกถั่วแล้วจะมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถดึงไนโตรเจนจากอากาศซึ่งมีอยู่จำนวนมากมาสร้างเป็นสารประกอบของไนโตรเจน ให้ต้นถั่วนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างพอเพียง และปล่อยส่วนที่เหลือลงสู่ดินซึ่งจะเป็นอาหารแก่พืชรุ่นต่อไป ยิ่งมีปมที่รากถั่วมากก็จะมีไรโซเบียมช่วยตรึงไนโตรเจนให้แก่ต้นถั่วได้มากขึ้น

ถั่วแต่ละชนิดและแต่ละพันธุ์จะใช้ไรโซเบียมไม่เหมือนกัน เช่น ถั่วเหลืองก็จะมีไรโซเบียมชนิดเข้าได้กับถั่วเหลืองโดยเฉพาะ หรือถั่วลิสงก็จะมีไรโซเบียมเฉพาะกับถั่วลิสง จะนำไรโซเบียมถั่วลิสงไปใช้กับถั่วเหลืองไม่ได้ เพราะมันจะเข้าสู่รากถั่วเหลืองไม่ได้

Nitrogen-fixing Bacteria Rhizobium Nodules on Soybean Roots

อย่างไรก็ตาม การตรึงไนโตรเจนของไรโซเบียมขึ้นอยู่กับปัจจับสำคัญ คือ ระดับธาตุอาหารไนโตรเจนในดิน ถ้าดินขาดไนโตรเจนมากการตรึงไนโตรเจนจะมีมากที่สุด ถ้าดินมีไนโตรเจนเพียงพอกับความต้องการของพืช การตรึงไนโตรเจนจะมีน้อยหรือไม่มีเลย

ดังนั้น ถ้าจะมีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไปในปริมาณมาก ไรโซเบียมในรากถั่วจะไม่ตรึงไนโตรเจน จะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในการปลูกพืชตระกูลถั่ว เพราะอาหารธาตุไนโตรเจนที่ไรโซเบียมสร้างได้มากกว่าความต้องการของต้นถั่ว

การใช้และเก็บรักษาเชื้อไรโซเบียม ควรเลือกเชื้อไรโซเบียมให้ตรงกับชนิดของถั่วที่ต้องการปลูก ไรโซเบียมแต่ละชนิดเหมาะสมกับถั่วเฉพาะที่ระบุไว้บนถุงเชื้อเท่านั้น ต้องเป็นเชื้อที่ยังไม่หมดอายุโดยดูวันหมดอายุบนถุง ถ้าไม่มีระบุหรือไม่ชัดเจนไม่ควรใช้ เนื่องจากเชื้อไรโซเบียมชอบอากาศเย็น จึงควรเก็บไว้ในที่เย็น เช่น เก็บในที่ร่ม ข้างโอ่งน้ำใต้ถุนบ้าน ที่อุณหภูมิระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 6 เดือน ถ้าเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิประมาณ 4 องศา จะเก็บได้นาน 1 ปี

สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าวางถุงไรโซเบียมตากแดด เพราะเชื้อจะถูกทำลายด้วยความร้อน เมื่อเปิดถุงแล้วควรใช้ให้หมด ถ้าไม่หมดต้องใช้ยางรัดให้แน่นและเก็บไว้ในที่เย็น เพราะเชื้อจะแห้งตายได้ง่าย

การใช้โรโซเบียมให้ได้ประโยชน์สูงสุด จะต้องทำให้เชื้อเข้าสู่รากเพื่อสร้างปมให้ได้มากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการใช้เชื้อ โดยจะต้องให้เชื้ออยู่ใกล้เมล็ดมากที่สุด เมื่อต้นถั่วเริ่มออกรากไรโซเบียมที่อยู่ใกล้กับเมล็ดก็จะสามารถเข้าสู่รากได้ทันที

การใช้เชื้อไรโซเบียม

เชื้อไรโซเบียมเป็นปุ๋ยชีวภาพชนิดหนึ่งโดยมีไรโซเบียมเป็นตัวออกฤทธิ์ โดยมันจะเข้าสู่รากพืชและทำการสร้างปมขึ้น การที่เชื้อไรโซเบียมเข้าสร้างปมที่รากได้เร็วเท่าใดก็จะทำให้ถั่วได้รับประโยชน์มากเท่านั้น และไรโซเบียมไม่สามารถเคลื่อนที่ในดินด้วยตัวของมันเองได้ รากถั่วจะต้องงอกไปสู่บริเวณที่ไรโซเบียมอยู่ ไรโซเบียมจึงจะเข้าสู่รากพืชได้ ดังนั้นการใช้เชื้อไรโซเบียมจึงยึดหลักที่ว่าใช้วิธีใดก็ได้ที่สามารถให้เชื้อไรโซเบียมอยู่ใกล้กับเมล็ดถั่วมากที่สุด หรืออยู่ในตำแหน่งที่รากถั่วจะงอกไปสัมผัสได้ง่ายที่สุด

rizobiumkana

เพื่อให้บรรบุถึงจุดประสงค์นี้จึงสามารถแยกวิธีการใส่เชื้อได้ ๒ วิธีคือ

  1. การคลุกเชื้อกับเมล็ดนิยมใช้กันมากเพราะสะดวกกว่า
  2. การใส่เชื้อลงไปในดินในหลุมปลูกถั่ว

การคลุกเชื้อกับเมล็ดจะต้องคำนึงถึงการให้เชื้อเกาะกับเมล็ดด้วยจึงจะได้ผล ดังนั้นจึงต้องใช้สารช่วยให้เชื้อติดกับเมล็ดด้วย กรมวิชาการเกษตรได้ทำการวิจัยพบว่าสารที่หาง่ายและไม่เป็นอันตรายกับไรโซเบียมนั้น ได้แก่ น้ำตาลทรายละลายน้ำประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรือจะใช้น้ำเชื่อมผสมกับน้ำก็ได้ หรือน้ำมันพืช ถ้าไม่มีอะไรเลยก็ใช้น้ำก็ได้ การใช้น้ำต้องระวังอย่าใส่มากเกินไปจะทำให้เมล็ดพองเปลือกเมล็ดลอก ทำให้ไม่งอก และต้องคอยระวังอย่าให้น้ำแห้ง

การใส่น้ำตาลละลายน้ำก็ต้องใส่พอให้เมล็ดเปียกและไม่มีน้ำเหลืออยู่แล้วจึงใส่ผงเชื้อลงไปตามอัตราที่กำหนด

เมื่อคลุกเชื้อแล้วจะต้องทำการปลูกทันทีขณะที่ดินยังชื้นอยู่ ถ้าปลูกในดินที่แห้งมาก การใส่เชื้อโดยวิธีนี้จะไม่ได้ผล ควรใช้วิธีใส่เชื้อลงสู่ดิน

การใส่เชื้อลงในดินนั้นเป็นวิธีการที่ไม่สะดวกเท่ากับการคลุกเมล็ด แต่เป้นวิธีการที่ดีมากและจะใช้ในกรณีที่ดินมีความแห้ง หรือเมล็ดถั่วคลุกยาป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นอันตรายกับไรโซเบียม หรือในกรณีที่เราต้องการใส่เชื้อในปริมาณมาก

วิธีการใส่เชื้อลงดินทำได้ 2 วิธีคือ

  1. ผสมเชื้อกับผงดินชื้น ๆ ทราย หรือ ถ้าน แกลบ แล้วใส่ลงหลุมหรือร่องปลูกถั่วใส่ลงก้นหลุม
  2. ผสมเชื้อกับน้ำแล้วราดลงในหลุมปลูก หรือใช้เครื่องพ่นยาฉีดลงไปก็ได้

ข้อควรระวังในการใช้เชื้อไรโซเบียม

เชื้อไรโซเบียมเป็นสิ่งที่มีชีวิตจึงมีอายุการใช้ คุณภาพของเชื้อจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่มีชีวิต เชื้อไรโซเบียมไม่สามารถทนต่อสารเคมีที่เข้มข้นเช่นปุ๋ยได้ จึงไม่สามารถใส่รวมกับปุ๋ย และไม่ทนต่ออุณหภูมิที่สูงเกิน ๔๕ องศาเซลเซียส จึงอย่าวางเชื้อไรโซเบียมในสถานที่ร้อนจัดหรือทิ้งตากแดดไว้ ควรเก็บไว้ในสถานที่ร่ม ถ้าเก็บใส่ตู้เย็นไว้จะทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้นาน

ปัจจัยที่ช่วยให้การใช้เชื้อไรโซเบียมได้ผลดี

เชื้อไรโซเบียมช่วยถั่วในด้านปุ๋ยไนโตรเจนเท่านั้น และถั่วเองก็ยังคงต้องการธาตุอาหารอื่น ๆ เพื่อให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ การตรึงไนโตรเจนของไรโซเบียมและถั่วจะมีประสิทธิภาพมากในถั่วที่มีความสมบูรณ์ เพราะขบวนการตรึงไนโตรเจนต้องการพลังงานและอาหารจากถั่วด้วย

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

การใช้ไรโซเบียมก็เพื่อให้ถั่วได้รับไนโตรเจนที่เพียงพอเท่านั้น แต่ถั่วก็ยังต้องการฟอสฟอรัส โปรแตสเซียมและธาตุอาหารอื่น ๆอีก การปฏิบัติดูแลรักษาถั่วก็มีความสำคัญมาก เช่น การกำจัดวัชพืช และพ่นยาป้องกันศัตรูพืชที่เหมาะสม และการให้น้ำเป็นต้น

เมื่อมีการใช้ไรโซเบียมจงอย่าใส่ปุ๋ยไนโตรเจน เพราะไนโตรเจนอัตราสูงจะมีผลทำให้ไรโซเบียมไม่สร้างปมให้ถั่ว แต่ถ้าดินมีความสมบูรณ์ต่ำมาก อาจจะใส่ได้บ้างเพียงเล็กน้อย โดยปกติแล้วดินทั่ว ๆ ไปจะมีไนโตรเจนอยู่ระดับหนึ่งที่ช่วยให้ถั่วเจริญในระยะแรกก่อนที่ไรโซเบียมจะทำงาน

ปุ๋ยฟอสฟอรัสมีความสำคัญมากในการส่งเสริมให้ถั่วและไรโซเบียมตรึงไนโตรเจน และดินที่ทำการเพาะปลูกมานาน โดยเฉพาะดินนาที่ชาวนาไม่ค่อยได้ใส่ปุ๋ย มักขาดปุ๋ยฟอสฟอรัส ส่วนดินไร่มักไม่ขาดมากเท่าใดนัก ในกรณีที่ดินขาดฟอสฟอรัส ถ้าใส่ปุ๋ยนี้ลงไปจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มาก สำหรับโปแตสเซียมนั้นมักไม่ขาดมาก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการทราบว่าดินที่ปลูกจำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยทั้งสองนี้หรือไม่ เกษตรกรก็ควรเก็บดินส่งให้กรมวิชาการเกษตรวิเคราะห์

สรุป

ข้อดีของการใช้เชื้อไรโซเบียม ก็คือช่วยเพิ่มผลผลิตถั่วโดยลดต้นทุนการผลิตเพราะเชื้อราคาถูกมากเพียงถุงละประมาณ ๑๐ บาท ซึ่งใช้ปลูกถั่วได้ ๑ ไร่ จึงทำให้เกษตรกรสามารถมีผลกำไร

เชื้อไรโซเบียมไม่ใช่ปุ๋ยเคมีจึงไม่ทำให้คุณสมบัติของดินเสียเมื่อใช้นาน ๆ และไม่ช่วยส่งเสริมให้วัชพืชเจริญเหมือนอย่างการใส่ปุ๋ย ไนโตรเจน เพราะถั่วเท่านั้นที่ใช้ไรโซเบียมได้

ไรโซเบียมไม่ทำให้ถั่วเฝือใบ เพราะการตรึงไนโตรเจนจะช่วยในการผลิตเมล็ดเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้ถั่วมีเมล็ดที่สมบูรณ์

การใช้เชื้อโรไซเบียมอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการลดต้นทุนการผลิตพืชตระกูลถั่วจากการใช้ปุ๋ยเคมี ปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตของเมล็ดถั่วให้สูงขึ้น และทำให้ดินคงสภาพอุดมสมบูรณ์ได้นาน

เกษตรกรผู้ปลูกถั่วที่สนต้องการใช้เชื้อไรโซเบียมคลุกเมล็ดพันธุ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ติดต่อได้ที่กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร ตึกไรโซเบียมในบริเวณเกษตรกลาง เขตจตุจักร กทม.10900 โทร.0-2579-7522-3, 0-2579-0065 fax 0-2561-4763 หรือกลุ่มพืชน้ำมันและพืชตระกูลถั่ว กรมส่งเสริมการเกษตร 0-2561-0453 หรือติดต่อประสานงานได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน.

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น