กุ่มบก ผักก่าม ผักกุ่ม

28 กุมภาพันธ์ 2560 ไม้ยืนต้น 0

กุ่มบก (Sacred Barnar) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียกผักก่าม เขมรเรียกถะงัน หรือสะเบาถะงัน เป็นต้น ซึ่งกุ่มบกนั้นมีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนภาคกลางและใต้ของไทย รวมทั้งในพุทธประวัติยังได้กล่าวไว้ว่าขณะที่พระพุทธเจ้าทรงนำห่อบังสุกุลที่ห่อศพนางมณพาสีไปซักแล้วนำไปตากไว้ที่ต้นกุ่ม และเทวดาที่สถิตอยู่ในต้นกุ่มก็ได้น้อมกิ่งลงมาให้พระพุทธเจ้าได้ทรงตากจีวรอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs
ชื่อสามัญ : Sacred Barnar, Caper Tree
วงศ์ : Capparaceae
ชื่ออื่น : ผักกุ่ม ชาวฮินดูเรียก มารินา มีชื่อบาลีว่า ปุณฑรีก (ปุน-ดะ-รี-กะ), วรโณ (วะ-ระ-โน),กเรริ (กะ-เร-ริ) และวรณ (วะ-ระ-นะ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกุ่มบก
กุ่มบก ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 6-10 ม. ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 7-9 ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 7.5-11 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบแคบ ขอบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว 3-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี กว้าง 2-3 มม. ยาว 4-5 มม. เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน รูปรี กว้าง 0.8-1.5 ซม. ยาว 1.2-1.8 ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว 3-7 มม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี 15-22 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 ซม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 ซม. รังไข่ค่อนข้างกลมหรือรี มี 1 ช่อง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3.5 ซม. เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่เปลือกเรียบ ก้านผลกว้าง 2-4 มม. ยาว 5-13 ซม. เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้าหรือรูปไต กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 6 มม. ผิวเรียบ

สรรพคุณของกุ่มบก
เปลือกลำต้น ใช้ต้มน้ำกิน เป็นยาแก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อย ขับน้ำเหลือง ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย รักษาโรคนิ่ว และใช้ในขณะที่ถูกงูกัดจะช่วยลดพิษได้
เปลือกราก ใช้เป็นยาถูนวดให้โลหิตเลี้ยงได้สม่ำเสมอ
ใบ ใช้แช่หรือดองน้ำกิน แก้โรคท้องผูก แก้ลม ขับพยาธิ รักษากลากเกลื้อนบนผิวหน้า หรืออาจนำใบไปลนไฟให้ร้อนแล้วเอามาปิดหู ช่วยบรรเทาอาการปวด ปวดศรีษะและ โรคบิด
ดอก ใช้เป็นยาเจริญอาหาร
ผล เป็นยาแก้อาการท้องผูก

การขยายพันธ์ของกุ่มบก
กุ่มบกเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นได้ดีในบริเวณชื้นแฉะ ขยายพันธ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่งและการปักชำ

อ้างอิงจาก : โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น