เกด เป็นไม้ต้น น้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงเวียนที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลสด รูปกลมรี เมื่อสุกสีเหลือง ชอบขึ้นในที่แห้งแล้ง เป็นดินทรายหรือดินปนหิน ไม่ชื้นแฉะ สภาพป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งในเอเชียพบตามหินปูน ตามเกาะที่มีเขาหินปูน ในประเทศไทยพบมากตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป
ชื่อวิทยาศาสตร์ Manikara hexandra Dub.
ชื่อพ้อง Mimusops hexandra Roxb.
ชื่อสามัญ Milkey Tree
ชื่อวงศ์ Sapotaceae
ชื่อบาลี ราชายตน (รา-ชา-ยะ-ตะ-นะ),ชีริกา (ชี-ริ-กา),ราชายตนํ (รา-ชา-ยะ-ตะ-นัง)
ถิ่นกำเนิด อินเดีย พม่า ไทย
เกด ฮินดูเรียก “ครินี” หรือ “ไรนี” ตามพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ใต้ต้นจิก 7 วัน แล้วได้เสด็จไปทรงประทับต่อใต้ต้นเกดอีก 7 วัน
เกด เป็นพืชสกุลเดียวกับละมุดฝรั่ง ละมุดสีดา คืออยู่ในสกุล ” Manikara ” วงศ์ ” Sapotaceae ”
ลักษณะ
ไม้ต้นขนาดใหญ่ มีน้ำยางขาว ลำต้น เปลาค่อนข้างตรง เปลือกแตกร่อนเป็นสะเก็ดสีดำ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เหนียว แข็งมาก กิ่งมักคดงอเป็นข้อศอก ไม่ผลัดใบ ถ้าต้นยังเล็กอยู่ ปลายกิ่งและกิ่งจะมีลักษณะคล้ายหนามขนาดใหญ่และมีใบออกที่ปลายกิ่ง ใบ เดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปไข่กลับ ใบจะเรียวสอบมาทางโคนใบ ผิวใบด้านบนเป็นมัน ผิวใบด้านล่างมีคราบขาว เส้นใบจะนานกันและค่อนข้างถี่ เนื้อใบหนา ดอก ช่อ ออกเป็นกระจุก 3-5 ดอก ตามใบ ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผล กลมรี โดยประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร สุกสีเหลืองแสด ผลรับประทานได้ รสหวาน
ต้นเกด เป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพดินที่ร่วนปนทรายได้ดี ขึ้นได้แม้ในดินที่เต็มไปด้วยหิน ในป่า และกระทั่งใกล้ชายหาด ย่อมแสดงได้ว่าต้องเป็นไม้ที่ทนทาน หรือมีระบบรากที่แข็งแรงดีมาก เพื่อช่วยยึดพยุงลำต้นที่มีขนาดใหญ่โตไว้ได้ ต้นเกด ก็น่าจะเป็นต้นไม้สำคัญที่จะช่วยยึดหน้าดิน ยึดผาหิน หรือชายหาดไว้ได้ ไม่ทำให้พื้นที่นั้นๆ ต้องพังทลายได้ง่ายจากแรงน้ำหรือการพังทลายต่างๆ พบขึ้นทั่วไปตามป่าที่มีพื้นเป็นดินทราย และดินปนหิน ในสภาพป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย และมักเป็นพันธุ์ไม้หลักตามเกาะแก่งต่างๆ ที่เป็นเขาหินปูนในประเทศไทย พบมากตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป และมีมากตามเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด
ประโยชน์
ผล รับประทาน ทำให้ชุ่มคอ ลดอาการกระหายน้ำ ผลสุกเป็นผลไม้
เนื้อไม้ ต่อเรือและทำลูกสลักใช้ในกาต่อเรือ
สรรพคุณ
เปลือก:แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เหงือกอักเสบ แก้ไข้ ฝาดสมาน บำรุงกำลัง เป็นยาต้านพิษ ผล:รับประมานเป็นยาฝาดสมาน บำรุงกำลัง ผลและเมล็ด:ทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม เมล็ด:บรรเทาอาการระคายเคือง รักษาแผลเปื่อย แผลผุพอง
ชาวประมงนิยมเอาไม้เกดมาทำเรือ โดยใช้เป็นไม้สลักแทนตะปูสำหรับติดกระดานกับโครงของเรือ เพราะถ้าใช้ตะปูจะเป็นสนิมง่าย ไม่ทนทาน อีกทั้งผลยังเป็นพืชแหล่งอาหารให้กับสัตว์ต่างๆ ในป่าได้อาศัยกินได้ด้วย และเกดมักชอบขึ้นเป็นกลุ่ม ทำให้มีเรือนยอดเป็นที่พอกำบังแดดได้ และเป็นช่วงที่ผลเกดสุก พอจะใช้รับประทานบำบัดความหิวได้
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง