กะเพรา ผักเครื่องเทศคู่ครัวไทย

10 มกราคม 2556 พืชผัก 0

กะเพราเป็นผักและเป็นเครื่องเทศซึ่งยอดและใบมีกลิ่นหอม เนื่องจากน้ำมันระเหยหอม ซึ่งมีสรรพคุณทางยาช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ทั้งยังมีฤทธิ์รักษากลากเกลื้อน และไล่แมลง ใช้ปรุงแต่งน้ำหอม สบู่ อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง การปลูกกะเพรานิยมปลูกด้วยเมล็ด การเก็บเกี่ยวกะเพราควรใช้มีดคมๆตัดทั้งยอดเพื่อให้แตกกิ่งใหม่

กะเพราเป็นพืชในวงศ์เดียวกับมินต์ แมงลัก โหระพา และสะระแหน่ ในบ้านเรามีกะเพรา 2 พันธุ์ ได้แก่กะเพราแดงซึ่งมีสีลำต้นและใบออกแดง กับกะเพราขาวซึ่งลำต้นและใบสีเขียวอ่อน

ชื่อสามัญ : Sacred Basil, holy Basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum sanctum, Linn.
วงศ์ : LABRATAE
ชื่ออื่น ๆ : กะเพราแดง กะเพราขาว (ภาคกลาง) ก่ำก้อขาว ก่ำก้อดำ กอมก้อขาว กอมก้อดำ(เชียงใหม่-ภาคเหนือ)ห่อตูปลู ห่อกวอซู(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทั่วไป

  • ต้น : เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1-4 ฟุต โคนของลำต้นเนื้อไม้แข็ง มีขน มีกลิ่นหอม
  • ใบ : ใบสีเขียวเรียกว่า กะเพราขาว ใบสีแดงเรียกว่า กะเพราแดง ใบของมันมีขนเฉพาะส่วนที่เป็นยอดของมันจะมีมากกว่าส่วนอื่น
  • กิ่ง: กิ่งก้านเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนปลายของมันจะอ่อน
  • ดอก : ดอกออกเป็นช่อ ตั้งขึ้นเป็นชั้น ๆ คล้ายรูปฉัตร กลีบดอกกะเพราขาว มีสีขาว แต่ถ้าเป็นกะเพราแดง มีสีชมพูอมม่วง
  • เมล็ด : เมื่อแก่หรือแห่งเมล็ดจะเป็นสีดำ อยู่ข้างในซึ่งหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของมัน
  • การขยายพันธุ์ : ใช้เมล็ดหรือลำต้น ในการขยายพันธุ์ได้ ปลูกขึ้นได้ดีร่วนซุย น้ำน้อย

ใบ ใบสดของมัน มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ ซึ่งประกอบด้วย linalool และ methyl chavicol เป็นยาแก้ขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง ให้ใช้ใบสด หรือยอดอ่อนสก 1 กำมือ มาต้มให้เดือดแล้วกรองน้ำดื่ม แต่ถ้าใช้กับเด็กทารกให้เอามาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำยามหาหิงคุ์แล้วใช้ทาบริเวณรอบ ๆ สะดือ และทาที่ฝ่าเท้า แก้อาการปวดท้องของเด็กได้ และน้ำที่เราเอามาคั้นออกจากใบยังใช้ขับเสมหะ ขับเหงื่อ หรือใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อนได้นอกจากนี้ ใบสดยังนำมาผัด หรือนำมาแกงเป็นอาหารได้อีก สำหรับใบแห้ง ใช้ชงกินกับน้ำ แก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ และน้ำมันที่ได้จากใบกะเพรานั้นสามารถยับยั้งการเจริญเติบฌตของเชื้อโรคบางชนิด ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด และมีฤทธิ์ฆ่ายุงได้ จะมีฤทธิ์ได้นาน 2 ชั่วโมง เมล็ด นำไปแช่น้ำเมล็ดก็จะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย ราก ใช้รากที่แห้แล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ

kaprawdang

กระเพรา100 กรัมมีสารอาหารที่สำคัญคือ

  • แคลเซียม 25 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 287 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 15.6 มิลลิกรัม
  • เบตาโคโรทีน 7,857 ไมโครกรัม
  • ธัยอามีน 0.05 มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน 0.34 มิลลิกรัม
  • ไนอาซีน 1.8 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 25 มิลลิกรัม
  • เส้นใยอาหาร 1.3 กรัม
  • คาร์โบรไฮเดรท 2.3 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • โปรตีน 4.2 กรัม
  • พลังงาน 30 แคลอรี่

สรรพคุณ

  1. กะเพราใช้แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด ให้เอาใบกะเพรามาจากตันกินสดๆได้ทันทีเลย หรือให้เอามาจิ้มน้ำพริก หรือ นำไปทำแกงเผ็ดกิน เป็นได้ทั้งยาและอาหารไป พร้อมๆ กันด้วย
  2. กะเพราใช้แก้ปวดท้องได้ดีมาก และน้ำใบกะเพราเมื่อนำมาคั้นกินสด 1 ถ้วยหรือ 1 แก้ว ใช้แก้อาการ ปวดมวนในท้องได้ดีมากครับ
  3. กะเพราใช้คุมธาตุได้ดีด้วย เมื่อเราใช้ใบกะเพราจิ้มน้ำพริกกิน ทำให้ท้องไส้ดี ทำงานปกติ อาจจะเผ็ดไปหน่อยแต่ก็เป็นยาดีเลย และระบบย่อยอาหารก็จะเป็นปกติดี อีกทั้งระบบทางเดินอาหารก็ปกติดี ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น
  4. กะเพราแก้กลาก และเกลื้อน วิธีใช้คือนำใบกะเพรา ประมาณ 1 กำมือ นำไปตำให้ละเอียดใส่เหล้าขาว หรือ เหล้าโรง แล้วนำไปทาบริเวณที่เป็นกลากหรือ เกลื้อน เพื่อให้ตัวยาซึมได้ดี ควรขูดผิวบริ เวณที่เป็นกลากหรือเกลื้อน ออกให้ถลอกก่อนเพราะจะทำให้ได้ผลดี
  5. กะเพราสามารถแก้ลมพิษได้ด้วย โดยการใช้ใบกะเพรา ประมาณ 1 กำมือ นำไปตำใส่เหล้าขาว หรือเหล้าโรงทา แล้วนำไปทาบริเวณที่เป็นลมพิษ จะทุเลาหายเป็นปกติครับ
  6. กะเพราใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อยได้ ให้ใช้ใบกะเพรานำไปตำใส่เหล้าขาว หรือเหล้าโรงทา แล้วนำไปทาบริเวณที่ถูกพิษแมลงสัตว์กัดต่อย จะทำให้การอักเสบจะหายทันที
  7. กะเพราช่วยขับน้ำนม โดยการนำเอาใบกะเพรามารับประทานสด ๆ หรือจิ้มน้ำพริกหรือ แกงเลียง ให้ใส่กุ้งแห้ง หรือปลาย่างเอามาโขลกผสมกันกับกะปิ หัวหอม และพริกไทยสด แกงเลียงได้ทันที ช่วยให้สตรีหลังคลอดมีน้ำนมครับ
  8. กะเพราใช้รักษาหูดได้ โดยใช้ใบกะเพรา ขยี้ที่ไปที่หูดบ่อยๆ วันละหลายๆครั้ง จะทำให้หูดฝ่อ และหายไปเองภายในไม่กี่วัน
  9. กะเพราเป็นยากำจัดแมลงวันทองได้อีกด้วย โดนการใช้น้ำมันจากใบกะเพรา นำมาล่อแมลงให้มา ตอมไต่
  10. กะเพราใช้ไล่ยุงได้ดี เพราะความฉุนของกะเพรา เราจึงนำมาไล่ยุงได้ โดยการใช้กะเพราสักกิ่ง วางไว้ตามที่ต้องการไล่ยุง หรือบริเวณที่มียุงชุม หรือใช้น้ำมันสกัดของกะเพรา จะมีเข้มข้นกว่า สามารถไล่ยุงได้ดีเลยครับ

สรรพคุณอื่นๆของกะเพรา

  • ใบกะเพรา ใช้บำรุงธาตุไฟธาตุ ใช้ขับลมแก้ปวดท้องอุจจาระ แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นใส้อาเจียน และใช้ขับลม
  • เมล็ดกะเพรา เมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว นำไปใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย
  • รากกะเพรา ยังใช้รากที่แห้งแล้ว นำไปชงหรือนำไปต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการได้
  • น้ำสกัดทั้งต้น มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี และช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียดได้
  • ใบและกิ่งสด เมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยใช้วิธีการต้มกลั่น ก็จะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08-0.10 ซึ่งมีราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม

การปลูกกะเพรา
การปลูกกะเพรานั้นสิ่งที่จะต้องเตรียมคือ
พันธุ์กะเพรา
กะเพราที่นิยมปลูกมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด คือ กะเพราขาว และ กะเพราแดง ซึ่งเรียกชื่อตามสีของก้านใบและก้านดอก กะเพราขาวจะออกสีเขียวอ่อน กะเพราแดงจะออกสีแดงอ่อน หรือสีม่วง ส่วนในเรื่องพันธุ์นั้นยังไม่มีการศึกษาปรับปรุงพันธุ์หรือคัดเลือกพันธุ์อย่างจริงใจในทางวิชาการ พันธุ์กะเพราที่ใช้ปลูกกันในปัจจุบันจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีการปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ต่อๆ กันมา เนื่องจากกะเพราเป็นพืชที่ยังไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากนัก

kaprawkaw

การเลือกพื้นที่ปลูก
กะเพราเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเฉลี่ย 1-2 ปี ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อยๆ ทุก 15-20 วัน การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นที่ดอน แต่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถนำน้ำมาใช้รดได้สะดวก ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ปกติกะเพราสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่จะชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีร่วนซุย ระบายน้ำดี อยู่ใกล้ที่พักอาศัย อยู่ไม่ไกลจากตลาดหรือแหล่งรับซื้อมากนัก และการคมนาคมสะดวก

การปลูกกะเพราการเตรียมดิน
การเตรียมดินปลูก กะเพราเป็นพืชที่มีระบบรากลึกปานกลาง ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ 10-15 ครั้ง ต่อระยะเวลา 7-8 เดือน หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลง กิ่งก้านแข็ง แตกยอดน้อย เมื่อถึงตอนนี้ควรจะรื้อปลูกใหม่ อย่างไรก็ดีการเตรียมดินปลูกกะเพราก็เหมือนกับปลูกพืชอื่นๆ คือไถ หรือขุดดินลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว ย่อยดินให้ละเอียดแล้วพร้อมที่จะปลูกได้

การปลูกกะเพราโดยทั่วไปมีการปฏิบัติกันอยู่ 3 วิธี ดังนี้

1. ปลูกโดยการหว่านเมล็ด การปลูกด้วยวิธีนี้จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากและใช้แรงงานมากในการถอนแยก โดยเริ่มจากรดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง โดยทั่วไปใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 250 กรัมต่อไร่ ใช้แกลบขาวหรือแกลบดำโรยคลุมให้ทั่วแปลง หลังจากนั้นใช้ฟางแห้งหรือหญ้าแห้งคลุมทับบางๆ เสร็จแล้วให้รดน้ำตาม และรดน้ำทุกๆ วัน หลังจากงอกประมาณ 15-20 วัน ควรทำการถอนแยกให้ได้ระยะระหว่าง 20×20 เซนติเมตร

2. ปลูกโดยการใช้ต้นกล้า เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติกันมากเพราะให้ผลผลิตสูงและสะดวกในการจัดการ โดยทำการเพาะกล้าในแปลงเพาะจนกระทั่งกล้ามีอายุ 20-25 วัน จึงทำการย้ายปลูก การย้ายปลูกควรทำในตอนเย็นและปลูกให้เสร็จภายในวันเดียวกัน เมื่อถอนต้นกล้ามาแล้วจึงเด็ดยอดออก ขุดหลุมให้ได้ระยะ 20×20 เซนติเมตร แล้วนำต้นกล้าที่เด็ดยอดแล้วลงปลูก หลังจากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมระหว่างแถว รดน้ำตามทันทีและรดน้ำทุกวัน

3. ปลูกโดยการใช้ต้นและกิ่งแก่ การปลูกโดยใช้ลำต้นและกิ่งแก่ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว แก่กิ่งและยอดที่แตกออกมาใหม่มักไม่สวนเท่าที่ควร ลำต้นโทรมและตายเร็ว วิธีการโดยตัดต้นและกิ่งแก่ที่มีอายุมากกว่า 8 เดือน ให้มีความยาว 5-10 เซนติเมตร เด็ดยอดและใบออก แล้วนำต้นหรือกิ่งแก่ไปปักชำในแปลง ใช้ระยะปลูก 20×20 เซนติเมตร หลังจากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมระหว่างแถว รดน้ำตามทันที และหลังจากปลูกควรรดน้ำทุกวัน

kaprawton

การปฏบัติดูแลรักษา
กะเพราเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอ ดังนั้นควรมีการรดน้ำทุกวันเช้า-เย็น แต่ระวังอย่าให้มีการท่วมขังของน้ำในแปลง และในระยะแรกควรมีการพรวนดินและกำจัดวัชพืชทุก 1-2 สัปดาห์ โดยการใช้มือถอน ใช้จอบหรือเสียมดายหญ้าออก แต่ระวังอย่าให้กระทบกระเทือนต้นและราก
โดยปกติแล้วกะเพราเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีปัญหาจากการทำลายของโรคและแมลงมากนัก ดังนั้นหากมีแมลงรบกวนจึงไม่ควรใช้สารเคมี โดยให้ยึดหลักวิธีการผลิตผักอนามัยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

การเก็บเกี่ยว
กะเพราสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 30-35 วันหลังปลูก โดยใช้มีดคมๆ ตัดลำต้นให้ลำต้นเหลือสูงจากพื้นดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร แต่ถ้ายังไม่มีผู้รับซื้อเกษตรกรสามารถชะลอการเก็บเกี่ยวออกไปได้โดยการเด็ดยอดที่มีดอกทิ้ง หลังจากตัดลำต้นแล้วกะเพราจะแตกยอดและกิ่งก้านออกมาใหม่ การเก็บเกี่ยวสามารถกระทำได้ทุก 15 วัน ไปตลอดระยะเวลา 7-8 เดือน หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ เกษตรกรจึงควรทำการถอนทิ้งเพื่อปลูกใหม่

kaprawdok

หมายเหตุ : กะเพรา นอกจาก ใช้เป็นยา และอาหารแล้ว ชาวอินเดียยังถือว่าเป็นพรรณไม้ศักดิ์ ที่นิยมปลูกตามบริเวณที่สักระบูชา

ข้อมูลจาก doae.go.th
พจนานุกรม สมุนไพรไทย ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น